“สมาร์ทแพ็กเกจจิ้ง” อีกทางรอดส่งออกไทย

22 ม.ค. 2563 | 17:37 น.
4.0 k

“สมาร์ทแพ็กเกจจิ้ง” อีกทางรอดส่งออกไทย

 

ผมแบ่งผู้ประกอบการออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ขนาดใหญ่ SMEs และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหรือกลุ่มโอท็อป แต่คำจำกัดความใหม่ของ “SMEs” ที่รัฐบาลมีการปรับใหม่คือ 1.วิสาหกิจรายย่อย ประเภทการผลิตสินค้าและประเภทการให้บริการ การค้าส่งและค้าปลีก มีลูกจ้างไม่เกิน 5 คน มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 1.8 ล้านบาท 2.วิสาหกิจขนาดย่อม ประเภทการผลิตสินค้า มีลูกจ้าง 6-50 คน มีรายได้ต่อปีมากกว่า 1.8-100 ล้านบาท ประเภทการให้บริการ การค้าส่งและค้าปลีก มีลูกจ้าง 6-30 คน มีรายได้ต่อปีมากกว่า 1.8-50 ล้านบาท และ 3.วิสาหกิจขนาดกลาง ประเภทการผลิตสินค้า มีลูกจ้าง 51-200 คน มีรายได้ต่อปีมากกว่า 100-500 ล้านบาท ประเภทการให้บริการ การค้าส่งและค้าปลีก มีลูกจ้าง 31-100 คน มีรายได้ต่อปีมากกว่า 50-300 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะแบ่งคำจำกัดความตามผมหรือของรัฐบาล หนึ่งในประเด็นที่ผู้ประกอบการต้องการพัฒนาเพื่อดันยอดขายคือ การมี “สมาร์ทแพ็กเกจจิ้ง” ที่ผมคิดว่า “ประเทศไทยยังอยู่ในขั้นของการพัฒนา” ซึ่งผมคิดว่าต้องประกอบด้วย 2 เรื่องตามเทรนด์ของโลกคือ

“สมาร์ทแพ็กเกจจิ้ง” อีกทางรอดส่งออกไทย

 

 “รักษาสิ่งแวดล้อมและมีนวัตกรรม”  วิวัฒนาการของการพัฒนากล่องบรรจุภัณฑ์แบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่หนึ่ง เพื่อปกป้องสินค้าไม่ให้เสียหาย ระยะที่สอง เพื่อสะดวกในการขนส่ง ระยะที่สาม เน้นรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อม และระยะที่สี่ คือมีนวัตกรรม ตอนนี้ประเทศไทยน่าจะผ่านระยะที่สองไปแล้ว การรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อทำกล่องบรรจุภัณฑ์กระดาษแทนพลาสติกนั้น คือ มีการนำวัตถุดิบทางการเกษตรที่เหลือใช้หรือนำจาก “ต้นกระดาษหรือต้นยูคาลิปตัส” นำมาแปรรูปเป็นภาชนะหรือกล่องผลิตภัณฑ์ ที่สามารถย่อยสลายได้แทนที่พลาสติก

“สมาร์ทแพ็กเกจจิ้ง” อีกทางรอดส่งออกไทย

ข้อมูลจากสื่อฉบับหนึ่งบอกว่า บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มร้อยละ 62 ยังเป็นพลาสติก และร้อยละ 28 เป็นโฟม และร้อยละ 6 เป็นกระดาษ หลังจากนี้เป็นต้นไป “พลาสติกจะกลายเป็นผู้ร้าย” อุตสาหกรรมต่างๆ จะใช้ลดลง ประเทศจีนกำหนดเลิกใช้พลาสติกในอีก 5 ปีข้างหน้า (ปี 2025) (จีนเป็นผู้ผลิตและผู้ใช้พลาสติกรายใหญ่ของโลก) ปัจจุบันมีการพยายามทำภาชนะจากวัสดุทางการเกษตร เช่น“จานใบจาก” (กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทุ่งกระบือร่วมใจพัฒนา หมู่ที่ 9 ต.ทุ่งกระบือ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง

 

 “กล่องข้าวชานอ้อย” ยังสามารถย่อยสลายหลังจากใช้แล้วใน 45 วัน เมื่อเทียบกับกล่องโฟมที่ต้องใช้เวลาย่อยสลายมากถึง 450 ปี ทนความร้อนได้ 220 องศา ใส่ในไมโครเวฟและเตาอบได้ “กาบกล้วย” มาแปรรูปเป็นภาชนะอย่างถ้วย ชาม หรือช้อนส้อม   “หลอดดูดน้ำที่ทำจากไม้ไผ่และซังข้าวโพด” เป็นต้น แต่กล่องบรรจุภัณฑ์เพื่อการส่งออกที่ตอบโจทย์รักษ์โลกและมีนวัตกรรมของไทยยังมีน้อยมาก

 

บรรจุภัณฑ์ที่มีนวัตกรรม คือ สามารถ “ยืดอายุและดูดซับกลิ่น” ผลไม้ไทยจะสามารถขายในตลาดต่างประเทศได้มากกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบัน หากสามารถทำได้จะทำให้สร้างมูลค่าเพิ่มและการส่งออกไปยังต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น เพราะผลไม้และผักจะยังคงความสด ผลไม้ไทยที่ขายในประเทศจีน และอินเดียหรืออีกหลายประเทศ จะเห็นได้ว่า “ไม่สด” เช่น เงาะมีขนดำ และมังคุคเปลือกนอกเหี่ยว หากทำสำเร็จทุเรียน และจำปาดะของภาคใต้จะส่งออกได้มากกว่านี้แน่นอนครับ

 

 

ผมได้คุยกับ “ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เกรียงศักดิ์ เขียวมั่ง” ประธานสาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ (หลักสูตรสองภาษา) มหาวิทยาลัยบูรพา ได้จัดทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบตาม “แนวคิดนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์เพื่อพาณิชย์” ของทุเรียนและมังคุดที่สามารถขนส่งหรือขายปลีกที่มีคุณสมบัติสามารถช่วยยืดอายุได้

 

สำหรับทุเรียนมีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ 2 แบบคือแบบมีเปลือกและแกะเปลือกทุเรียนออก ซึ่งทั้งสองแบบสามารถดูดซับกลิ่นของทุเรียนโดยการใช้ผง “Activated Carbon” ที่ทำจากเหง้ามันสำปะหลัง โดยแบบแกะเปลือกทุเรียนจะใช้บรรจุภัณฑ์ที่ซีลด้วยระบบสุญญากาศ และเก็บรักษาความสดใหม่ของเนื้อทุเรียนไว้ได้ด้วย ส่วนบรรจุภัณฑ์ทุเรียนแบบไม่แกะเปลือกจะมีคุณสมบัติสามารถช่วยยืดอายุผลทุเรียนได้ และสามารถดูดซับกลิ่นของทุเรียน รวมทั้งมีความแข็งแรง สะดวกในการขนส่ง นอกจากนี้ยังทำบรรจุภัณฑ์มังคุด ที่มีคุณสมบัติสามารถช่วยยืดอายุผลมังคุดมีความสดได้ถึง 14 วัน  

 

วันนี้บรรจุภัณฑ์ต้องเน้นคือมีนวัตกรรมและรักษ์โลก ถ้าทำได้ทั้งสองอย่างถือว่าสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ได้เพิ่มขึ้น กรณีทุเรียน และ จำปาดะของภาคใต้ ที่มีกลิ่นแรงไม่สามารถนำขึ้นเครื่องบินหรือรถโดยสาร รวมถึงผลไม้อื่นๆ ที่ต้องการความสดไปยังผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศ

“สมาร์ทแพ็กเกจจิ้ง” อีกทางรอดส่งออกไทย

 

อย่างไรก็ตาม “สิ่งที่พบและประเทศไทยต้องทำเพื่อให้เกิดบรรจุภัณฑ์หรือแพ็กเกจจิ้งที่รักษ์โลกและมีนวัตกรรมเพื่อการส่งออก”คือ 1.ประเทศยังตามหลังการพัฒนาบรรจุภัณฑ์จากญี่ปุ่นที่ไทยต้องหันไปเรียนรู้ นอกจากนี้ไทยขาดงบประมาณและจำนวนนักวิจัยอีกมาก 2.ผู้บริโภคคนไทยยังไม่ยอมจ่ายแพง 3.ต้องสั่งผลิตเยอะ ราคาต่อชิ้นจะถูกลง  4.กลุ่มธุรกิจพลาสติกชีวภาพและกล่องบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกจะโตขึ้นอีกมากในอนาคต 5.กลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่กินได้พร้อมสินค้าจะได้รับความนิยม 6.การปลูกต้นกระดาษ หรือ ต้นยูคาลิปตัสที่ยังมีความต้องการอีกมากเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของเกษตรกร และ 7.ขาดบุคลากรด้านอุตสาหกรรมการพิมพ์และออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ต้องใช้พลาสติกและสก๊อตเทป