กระตุ้นอสังหาฯ ยาโด๊ปเศรษฐกิจ

30 พ.ย. 2562 | 18:00 น.
1.3 k

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3527 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 1-4 ธ.ค.2562

 

กระตุ้นอสังหาฯ

ยาโด๊ปเศรษฐกิจ

 

          นับตั้งแต่ต้นปี 2562 การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง จากการส่งออกที่ได้รับผลกระทบ จากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่า การใช้มาตรการคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อป้องกันปัญหาหนี้ครัวเรือน ส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัวเพียง 2.5%

          ที่ผ่านมารัฐบาลทยอยออกมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในหลายมาตรการ ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีก 3 โครงการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศในช่วงปลายปี 2562 และสร้างแรงส่งให้เศรษฐกิจในปี 2563 ขยายตัวอย่างมีศักยภาพ หนึ่งในนั้นคือมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้โครงการ “บ้านดีมีดาวน์” เพื่อเป็นการลดภาระและสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไปมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ซึ่งต่อเนื่องจากการลดค่าธรรมเนียมการโอน จาก 2% เหลือ 0.01% และลดค่าจดจำนอง จาก 1% เหลือ 0.01% สำหรับที่อยู่อาศัยใหม่พร้อมโอนราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ควบคู่กับการให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐปล่อยสินเชื่อบ้านดอกเบี้ยต่ำ

 

          อย่างไรก็ตามยังมีคำถามตามมาว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศของรัฐบาลที่ออกมานั้นจะสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ทรุดตัวลงอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนจากตัวเลขการซื้อขายของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้หดตัวลงถึง 22% สอดคล้องกับตัวเลข การปฏิเสธสินเชื่อของสถาบันการเงินทั้งระบบกว่า 40% โดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ประเมินแนวโน้มธุรกิจอสังหาฯ ปี 2562 ว่าน่าจะตกต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี พร้อมคาดว่าจะมีสต๊อกบ้านและคอนโดมิเนียม เหลือขายสูงถึง 1.52 แสนหน่วย นับเป็นตัวเลขที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ประมาณ 1.38 แสนหน่วย

          ต้องยอมรับว่าภาคอสังหาริมทรัพย์นับเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสนับสนุนมากมาย ทั้งภาคก่อสร้าง การจ้างงาน สินค้าตกแต่งบ้าน เครื่องใช้ในครัวเรือน รวมไปถึงสื่อโฆษณา ฯลฯ คิดเป็นมูลค่ารวมราว 1.9 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 12% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีปัญหา ธุรกิจสนับสนุนอื่นๆ รวมทั้งสถาบันการเงินในฐานะเจ้าหนี้บริษัทอสังหาฯ ก็จะมีปัญหาตามไปด้วย มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลในครั้งนี้จึงเปรียบเสมือนการอัดฉีดยาโด๊ปเข้าไปพลิกฟื้นเศรษฐกิจ