ส่วนราชการ... มี ‘ดุลพินิจ’เพียงใด? กำหนดคุณสมบัติผู้เสนอราคา

07 ส.ค. 2562 | 15:05 น.
1.6 k

คอลัมน์อุทาหรณ์ จากคดีปกครอง ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3494 หน้า 7 วันที่ 8-10 สิงหาคม 2562 โดย...นายปกครอง 

 

ในการจัดหาพัสดุของส่วนราชการ ต้องดำเนินการโดยเปิดเผย โปร่งใส และเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม การกำหนดคุณสมบัติของผู้เสนอราคาถือว่ามีความสำคัญที่จะทำให้ได้พัสดุที่มีคุณภาพและคุ้มค่ากับเงินงบประมาณของแผ่นดิน

 แต่ส่วนราชการจะมีดุลพินิจในการกำหนดคุณสมบัติของผู้เสนอราคามากน้อยเพียงใด?

อุทาหรณ์จากคดีปกครองที่จะนำเสนอในฉบับนี้... มีคำตอบในเรื่องดังกล่าว... ครับ

มูลเหตุของคดีนี้เกิดจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ (ผู้ถูกฟ้องคดี) ประกาศสอบราคาจ้างพัฒนาระบบประเมินมาตรฐานสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้เสนอราคาและการเสนอราคาไว้ประการหนึ่งว่า ผู้เสนอราคาจะต้องมีผลงานทางด้านการพัฒนาระบบสารสนเทศไม่น้อยกว่า 2 โครงการ โดยแต่ละโครงการมีมูลค่าไม่ตํ่ากว่า 1 ล้านบาท และมีความเข้าใจระบบงานเป็นอย่างดี พร้อมทั้งแนบเอกสารหลักฐานผลงานหรือคู่สัญญาให้ตรวจสอบเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย

ผู้เสนอราคาได้โต้แย้งเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้เสนอราคาว่าเป็นการกีดกันและไม่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีอายุการทำงานน้อยและยังไม่มีผลงานสามารถเข้าร่วมเสนอราคาจ้างได้ จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้มีคำพิพากษาให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยวางหลักการเกี่ยวกับอำนาจของส่วนราชการที่จะกำหนดคุณสมบัติของผู้เสนอราคาว่า ส่วนราชการมีดุลพินิจในการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเสนอราคาได้ตามที่เห็นสมควร โดยคำนึงถึงความโปร่งใส ความคุ้มค่ากับเงินงบประมาณ การเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม

และความสามารถในการรับงานของผู้ขายหรือผู้รับจ้าง และการกำหนดคุณสมบัติผู้เสนอราคาที่มีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการบางรายโดยเฉพาะเจาะจงอันมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม จะต้องเป็นการกระทำตามอำเภอใจ ปราศจากเหตุผลอันควรค่าแก่การรับฟัง

ส่วนการกำหนดคุณสมบัติของผู้เสนอราคาตามประกาศสอบราคาจ้างพัฒนาระบบประเมินมาตรฐานสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรของผู้ถูกฟ้องคดี เป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยหลักการดังกล่าวหรือไม่นั้น?

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การจ้างพัฒนาระบบประเมินมาตรฐานสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร มีรายละเอียดของข้อมูลที่นำมาประเมินมากและปริมาณผู้เข้าใช้ระบบมีจำนวนมาก ประสบการณ์และผลงานของผู้รับจ้างเกี่ยวกับการพัฒนาระบบสารสนเทศอย่างสมํ่าเสมอและต่อเนื่อง จึงมีความสำคัญ การกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเสนอราคาโดยให้ผู้เสนอราคาต้องมีผลงานทางด้านการพัฒนาระบบสารสนเทศไม่น้อยกว่า 2 โครงการ มูลค่าโครงการละไม่ตํ่ากว่า 1 ล้านบาท และมีความเข้าใจในระบบงานเป็นอย่างดี ก็เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะได้งานที่มีคุณภาพ คุ้มค่ากับเงินงบประมาณที่ใช้

และเป็นข้อบ่งชี้ในเบื้องต้นว่าผู้เสนอราคามีประสบการณ์และความชำนาญเพียงพอที่จะทำงานให้สำเร็จได้สมตามวัตถุประสงค์ นอกจากนี้ ในการดำเนินการประกาศสอบราคานี้ มีผู้รับเอกสารการสอบราคาและมีผู้ยื่นซองสอบราคาหลายราย จึงเป็นการจัดหาพัสดุโดยเปิดเผย โปร่งใส เปิดโอกาสให้แข่งขันกันอย่างเป็นธรรม และไม่เอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการบางราย ถือว่าเป็นการใช้ดุลพินิจตามความเหมาะสมและความจำเป็นแห่งกรณี เพื่อประโยชน์ของทางราชการ โดยไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายหรือไม่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หากแต่มีเหตุผลอันควรค่าแก่การรับฟังเป็นอย่างยิ่ง

การกำหนดหลักเกณฑ์เบื้องต้นเกี่ยวกับคุณสมบัติผู้เสนอราคาจึงชอบด้วยกฎหมาย และไม่ถือเป็นการกระทำละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ . 257/2561)

คดีนี้ถือเป็นบรรทัดฐานการปฏิบัติราชการที่ดีสำหรับส่วนราชการ รวมถึงผู้ประสงค์ที่จะเข้ายื่นเสนอราคาว่า ส่วนราชการมีดุลพินิจในการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเสนอราคา แต่มิใช่ว่าส่วนราชการจะใช้ดุลพินิจได้ตามอำเภอใจ แต่ต้องมีเหตุผลอันรับฟังได้ว่าได้คำนึงถึงประโยชน์ของทางราชการ มีความคุ้มค่ากับเงินงบประมาณ มีความโปร่งใส และไม่เอื้อประโยชน์ให้ผู้เสนอราคารายใดรายหนึ่งครับ!

(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355 และสืบค้นเรื่อง อื่นๆ ได้จาก www.admincourt.go.th เมนูวิชาการ เมนูย่อยอุทาหรณ์จากคดีปกครอง)

 

ส่วนราชการ...  มี ‘ดุลพินิจ’เพียงใด?  กำหนดคุณสมบัติผู้เสนอราคา