‘พล.อ.เปรม’ โมเดล กับการสมานฉันท์สามัคคีคนในชาติ (1)

01 ส.ค. 2562 | 11:26 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ส.ค. 2562 | 11:30 น.
2.0 k

คอลัมน์ข้าพระบาททาสประชาชน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3492 ระหว่างวันที่ 1-3 ส.ค.2562 โดย... ประพันธุ์ คูณมี
 

‘พล.อ.เปรม’ โมเดล
กับการสมานฉันท์สามัคคีคนในชาติ (1)

 

         ติดตามการแถลงนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 25-26 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านพ้นไป ด้วยสีสันบรรยากาศทางการเมือง ที่มีหลากหลายอารมณ์ มากประเด็นและหลายมุมมองให้ประชาชนได้เรียนรู้และศึกษา ภายใต้บรรยากาศภูมิทัศน์ใหม่ทางการเมืองของไทย
         ในจำนวนหลายประเด็นที่ ส.ส.และ ส.ว.ผู้ทรงเกียรติได้อภิปราย ทั้งวิพากษ์และเสนอแนะต่อรัฐบาลนั้น มีประเด็นที่ผู้เขียนให้ความสนใจ ซึ่งหากมีโอกาสและเวลาอยู่ในสภาวันนั้นด้วย ก็จะเลือกอภิปรายในประเด็นนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลได้แถลงไว้ในนโยบายเร่งด่วนข้อที่ 7 การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะความตอนท้ายคือ “การสร้างความสมานฉันท์ และความสามัคคีในสังคม” ซึ่งจะว่าแล้วนโยบายนี้ น่าจะมาจากแนวคิดเรื่องการสร้างความปรองดองคนในชาติ เมื่อครั้ง คสช.ยึดอำนาจการปกครองสำเร็จใหม่ๆ หมาดๆ คสช.ก็ประกาศเรื่องนี้เป็นนโยบายหลักเรื่องหนึ่ง แต่ถึงวันนี้ดูเหมือนจะลดความสำคัญลง จึงหลงเหลือข้อความเพียงที่กล่าวถึงดังกล่าว ในการแถลงนโยบายของรัฐบาลครั้งนี้ ซึ่งจะว่าไปแล้วปัญหานี้คือเรื่องสำคัญของประเทศ ถือเป็นวาระแห่งชาติได้ นายกรัฐมนตรีท่านใดสามารถแก้ปัญหานี้ได้ ท่านผู้นั้นก็สมควรได้รับการยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษของแผ่นดิน
         เรื่องนี้มีผู้อภิปรายท่านเดียวในสภา คือ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งทำหน้าที่เสมือนหัวหน้าพรรคในสภาในเวลาที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคตัวจริงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เพราะคำสั่งห้ามของศาลรัฐธรรมนูญ โดยนายปิยบุตร ได้เสนอแนะให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินตามแนวทาง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ คือยึดเอาแนวทางตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ที่เคยใช้ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่กลายเป็นสงครามการเมือง ระหว่างรัฐบาล กับ ประชาชน และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในอดีต ที่สามารถยุติปัญหาสงครามภายในประเทศจนสำเร็จ สร้างความสามัคคีคนในชาติได้ มาใช้กับการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน
         แต่ก็น่าเสียดายที่ผู้อภิปรายมิได้ชี้ให้เห็นถึงต้นตอของปัญหาและมีข้อเสนอแนะที่ครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อให้ปัญหานี้ได้รับการแก้ไขที่ถึงแก่นและหยุดปัญหาทั้งปวง ที่ก่อให้เกิดความไม่สามัคคีกันของคนในชาติ ผู้อภิปรายได้เสนอเพียงมุ่งหวังให้นิรโทษความผิด ให้แก่กลุ่มบุคคล (เสื้อแดง) ที่หลบหนีคดีและลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ในต่างประเทศ เพื่อให้พวกเขากลับคืนมาสู่สังคมไทยโดยไม่มีความผิด ซึ่งในจำนวนนี้คงรวมถึงนายทักษิณ ชินวัตร ด้วย โดยถือว่าทั้งหมดเป็นเรื่องคดีทางการเมืองโดยมิได้จำแนกแยกแยะพฤติกรรมแห่งการกระทำความผิด และความสมัครใจของกลุ่มบุคคลเหล่านั้น

          การเสนอข้อเท็จจริงและปัญหาเพียงเท่านี้ ย่อมมิอาจครอบคลุมปัญหาทางการเมือง ที่เป็นต้นตอความขัดแย้งในสังคม ที่สืบเนื่องมาจวบจนปัจจุบันได้ ซึ่งผลของปัญหาดังกล่าวก็สะท้อนออกในการประชุมสภาที่เต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งการทำลายล้างกัน โจมตีสาดโคลน ดิสเครดิต ทำลายความน่าเชื่อถือของอีกฝ่าย โดยมุ่งผลทางการเมืองอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ ซึ่งล้วนมาจากผลิตผลของความขัดแย้งทางการเมืองในอดีต ที่ส่งผลถึงปัจจุบัน
         ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่ง ในประเด็นที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรนำเอาโมเดลของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ใช้แก้ปัญหาและจัดการกับความขัดแย้ง มาใช้ในการสร้างความสมานฉันท์ และความสามัคคีของคนในชาติ ตามนโยบายเร่งด่วน ข้อ 7 แต่รัฐบาลควรจะทำให้ครอบคลุมในทุกมิติ ถึงทุกกลุ่มปัญหาและประชาชนทุกฝ่าย ที่มีส่วนในความขัดแย้งในสังคมการเมือง ซึ่งในที่นี้ก็มีกลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (เสื้อเหลือง), แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (เสื้อแดง), คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และกลุ่มการเมืองอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในช่วงระหว่างปี 2547-2557 อันเป็นช่วงเวลา 10 ปีที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่นำมาซึ่งปัญหาความรุนแรงและความขัดแย้งทางสังคม
         กลุ่มการเมืองทั้งหลายเหล่านี้ ส่วนใหญ่ต้องถือว่าเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยสุจริต ตามสิทธิ เสรีภาพภายใต้รัฐธรรมนูญ แม้จะมีเป้าประสงค์ที่ต่างกันก็ตาม ยกเว้น ผู้กระทำความผิดฐานทุจริตและประพฤติมิชอบ และได้กระทำความผิดอาญาที่ร้ายแรง หรือความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
         การดำเนินการตามแนวทางของ พล.อ.เปรม โมเดล โดยคำสั่งที่ 66/2523 นั้น ได้เปิดกว้างและให้โอกาสทุกคน โดยเริ่มต้นที่รัฐบาลต้องขจัดเงื่อนไขของสงครามและความขัดแย้ง เสียก่อน คือ 1. รัฐบาลต้องมีเจตนารมณ์ในการสร้างระบอบประชาธิปไตยและเทิดทูน รักษาไว้ ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ คือสร้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างเคร่งครัด และปฏิรูประบบราชการให้มีประสิทธิภาพในการรับใช้ประชาชน (ข้อ 1.3) และขจัดเหตุแห่งความไม่เป็นธรรมในสังคมทุกระดับ ตั้งแต่ท้องถิ่นถึงระดับชาติ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการอย่างเฉียบขาด ทำลายการกดขี่ขูดรีดทั้งสิ้น สร้างความปลอดภัยให้เกิดแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน (ข้อ 4.2)

          และที่สำคัญคือ การปฏิบัติต่อผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์หรือผู้หลงผิดที่เข้ามอบตัวอย่างเพื่อนประชาชนร่วมชาติ ชี้แจงเพื่อให้ได้เข้าใจถึงนโยบายของรัฐบาลในปัญหานี้อย่างถ่องแท้ ช่วยเหลือให้ใช้ชีวิตใหม่ร่วมกันต่อไปในสังคมอย่างเหมาะสม (ข้อ 4.7) ภายใต้นโยบายและหลักคิดดังกล่าว
         ในที่สุดรัฐบาลพล.อ.เปรม จึงสามารถเปลี่ยนการต่อสู้ด้วยอาวุธ ให้พวกเขาหันมาสู้ในแนวทางสันติ ตามวิถีทางรัฐสภา ซึ่งการดำเนินการเป็นไปในทั้ง 2 ด้าน คือฝ่ายรัฐบาลก็แก้ไขตนเอง ปรับเปลี่ยนทัศนคติของฝ่ายราชการ ปรับปรุงการบริหารทั้งองคาพยพ ส่วนประชาชนและฝ่ายคอมมิวนิสต์ ก็เปลี่ยนแปลงจุดยืนทางการเมือง ละทิ้งการต่อสู้ด้วยอาวุธ และหันมาร่วมกันสร้างประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประเทศไทย สังคมไทยจึงกลับคืนสู่ความสงบ ร่มเย็น และมีสันติสุขขึ้นมาได้ เมื่อความสามัคคีของคนในชาติบังเกิด การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและประเทศชาติ จึงมีพลังแห่งความสามัคคี เศรษฐกิจดีมีความเจริญก้าวหน้า ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ตลอดสมัยการบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
         ช่วงเวลาระหว่างปี 2524-2540 ภายหลังที่ขบวนการของพรรคคอมมิวนิสต์ ได้ทยอยวางอาวุธและกลับคืนสู่สังคม หันเข้าสู่การต่อสู้ทางการเมืองโดยสันติวิธี ตามแนวทางรัฐสภาแล้ว เพื่อการแก้ไขปัญหาทางการเมืองเรื่องนี้ให้ถึงที่สุด รัฐบาลชุดต่อมาที่มาจากการเลือกตั้ง จึงได้มีดำริเดินตามแนวทาง พล.อ.เปรม โมเดล โดยได้มีการเสนอให้มีการยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ฉบับปี 2495 เพื่อให้ปัญหาเรื่องความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ได้เป็นที่ยุติและจบสิ้นลง นี่ก็คือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่สำคัญ ซึ่งผู้เขียนจะได้นำเสนอในบทความตอนต่อไป