หุ้นส่วนแม่น้ำโขง

27 มี.ค. 2559 | 07:00 น.
วันที่ 23 มีนาคม มีการประชุมผู้นำความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ครั้งแรกจะจัดขึ้นที่เมืองซานย่า มณฑลไหหลำ โดยผู้นำ 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนามร่วมประชุมตามคำเชิญของนายหลี่ เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ซึ่งความจริงแม่น้ำล้านช้างและแม่น้ำโขงเราถือว่าเป็นแม่น้ำโขงทั้งหมดแต่ทางจีนมีท่าทีแบ่งออกเป็นแม่น้ำล้านช้างและแม่น้ำโขง

ก่อนหน้าการประชุมไม่นาน รัฐบาลจีนสั่งให้เขื่อนจิ่งหง ที่กั้นแม่น้ำโขงในเขตแดนของจีนเพิ่มการปล่อยน้ำจาก 1,100 ลบ.ม. เป็น 2,190 ลบ.ม. ตั้งแต่ 15 มีนาคม- 10 เมษายน เพื่อช่วยประเทศเวียดนาม ประเทศท้ายน้ำแม่น้ำโขง ที่กำลังวิกฤติจากน้ำเค็มที่รุกไล่เข้าไปในสายน้ำของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงลึกถึง 90 กิโลเมตร จากภาวะแล้งและขอให้จีนช่วย

รัฐบาลจีนสั่งปล่อยน้ำแสดงน้ำใจความเป็นพี่ใหญ่ก่อนหน้าการประชุมที่ซานย่า ทำให้เวียดนามขอบใจแต่ประเทศกลางน้ำทั้งไทยและลาวบ่นปวดหัวเพราะประชาชนสองฝั่งแม่น้ำโขงที่อาศัยแม่น้ำโขงที่เหือดแห้งจัดกิจกรรมสงกรานต์กลางแม่น้ำส่งเสริมการท่องเที่ยวและปลูกพืชหน้าแล้งไปด้วย กลับตัวไม่ทัน น้ำที่ไหลลงมากลับสร้างความเสียหายให้กับชาวบ้านไม่ใช่น้อย

แม่น้ำโขงยาว 4,900 กม. ไหลผ่านประเทศจีน เมียนมา ไทย ลาว กัมพูชาและเวียดนาม ประเทศจีนสร้างเขื่อน 6 เขื่อนที่เหนือน้ำทำให้สามารถควบคุมปริมาณน้ำในแม่น้ำทั้งสายได้

ประเทศอนุภูมิภาคแม่โขงที่ไม่มีจีน ได้พยายามรวมตัวกันเพื่อสร้างกลไกความร่วมมือและโครงการพัฒนาต่างๆ มานานแล้ว โดยประเทศตะวันตกและประเทศญี่ปุ่นผลัดเปลี่ยนกันมาเสนอตัวเป็นพี่ใหญ่ช่วยในการพัฒนาโครงการที่เกี่ยวกับแม่น้ำโขงโดยมีธนาคารเอดีบีเป็นกลไกสำคัญในการปล่อยเงินกู้ แต่พลันที่จีนสร้างเขื่อนที่อยู่เหนือน้ำโดยไม่สนใจปรึกษาประเทศน้องๆ ที่กลางน้ำหรือปลายน้ำ ทำให้การพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงโดยไม่มีจีนเป็นไปไม่ได้

เมื่อจีนเสนอตัวเรียกประชุม น้องกลางอย่างประเทศไทยและเมียนมา และน้องเล็กในลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหมดและเวียดนามท้ายน้ำ ทุกประเทศย่อมยินดีไปพบพี่ใหญ่ แต่ถ้าพี่ใหญ่คิดว่าเรียกน้องกลางและน้องเล็กมาพูดคุย เพราะถือไพ่เหนือกว่า มีเขื่อนเป็นเครื่องมือไม่น่าเป็นเรื่องถูกต้อง ความจริงการสร้างเขื่อนโดยไม่ปรึกษาบ้านพี่เมืองน้องที่อาศัยน้ำจากสายน้ำเดียวกันก็ไม่ใช่เรื่องน่านิยมตั้งแต่ต้น

ถ้าจีนต้องการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือทางธรรมชาติอย่างที่พูดจริง ต้องเป็นหุ้นส่วนที่มีสิทธิ์มีเสียงเท่ากัน ไม่ใช่มีเขื่อนแล้วทำตัวเป็นหุ้นใหญ่ ปล่อยน้ำไม่ต้องปรึกษาหรือให้ความสนใจกับประเทศกลางน้ำแบบนี้

ดังที่ท่านผู้นำจีนประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง พูดไว้ว่า “เพื่อนบ้านดีกว่ามิตรเทียมจากแดนไกล” ก็หวังว่าจะทำตัวเป็นเพื่อนบ้านที่ดีอย่างที่ท่านพูดจริง ๆ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,142 วันที่ 24 - 26 มีนาคม พ.ศ. 2559