net-zero

ชง กพช. ดัน 4 ยุทธศาสตร์ หนุนใช้ไฮโดรเจนผลิตไฟฟ้า-รถยนต์ ปี 73

    กบง.ไฟเขียวแผนพัฒนาการผลิตและการใช้ไฮโดรเจนในภาคพลังงาน 2568-2593 เตรียมชง กพช.กลางปี 2568 ดัน 4 ยุทธศาสตร์ ขับเคลื่อนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว นำร่องเริ่มใช้ปี 2573 ผสมในท่อส่งก๊าซฯ 5% และใช้ในรถยนต์เชิงพาณิชย์

จากที่ประทศไทยมีเป้าหมายก้าวไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ในปี ค.ศ.2065 การขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายดังกล่าว การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากภาคพลังงานและการขนส่ง จึงถือมีความสำคัญ เพราะมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด โดยที่ภาครัฐพยายามผลักดันส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาพลังงานสะอาดขึ้นมา เพื่อทดแทนหรือลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

ทั้งนี้ การนำไฮโดรเจนมาใช้ในภาคพลังงาน ถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลง โดยในแผนปฏิบัติการด้านพลังงาน พ.ศ. 2567-2580 (แผนพลังงานชาติ) ที่จะนำมาปฏิบัติใช้ในปี 2568 นี้ จึงได้ศึกษาและจัดทำแนวทางการพัฒนาการผลิตและการใช้ไฮโดรเจนเชิงพาณิชย์ในภาคพลังงาน ที่ครอบคลุมมิติด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตร์ และสังคม

โดยกำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมายให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการใช้ไฮโดรเจนเชิงพาณิชย์ในภาคพลังงานตั้งแต่ปี 2573 เชื่อมโยงกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย 2567 - 2580 (PDP 2024) ที่กำหนดสัดส่วนผสมไฮโดรเจนกับก๊าซธรรมชาติในสัดส่วน 5% หรือราว 45 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตั้งแต่ ปี 2573 เป็นต้นไป และแผนปฏิบัติการด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 2567 - 2580 (AEDP 2024) ที่จะส่งเสริมการใช้ไฮโดรเจนเชิงพาณิชย์ มีเป้าหมาย 4 พันตันเทียบเท่านํ้ามันดิบ (ktoe) ในปี 2580

ชง กพช. ดัน 4 ยุทธศาสตร์ หนุนใช้ไฮโดรเจนผลิตไฟฟ้า-รถยนต์ ปี 73

นายวัฒนพงษ์  คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สำหรับแผนการพัฒนาการผลิตและการใช้ไฮโดรเจนในภาคพลังงานปี 2568-2593 ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานแล้ว และคาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ประมาณกลางปี 2568

ในการขับเคลื่อนแผนดังกล่าว จะมียุทธศาสตร์ 4 ด้าน ประกอบไปด้วย 1 พัฒนาตลาดและสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ใช้ 2.ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรม 3.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และ 4. ปรับปรุงกฎระเบียบและมาตรฐาน

นอกจากนี้ ได้มีแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนด้านนโยบายไฮโดรเจนของประเทศไทย (คณะทำงานฯ) โดยมีผู้อำนวยการ สนพ. เป็นประธาน และมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นคณะทำงาน เพื่อพิจารณาเสนอแนะเป้าหมายและนโยบายการใช้ไฮโดรเจนในภาคพลังงาน ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ตลอดจนจัดทำแผนกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการการขับเคลื่อนนโยบายไฮโดรเจนของประเทศไทย

สำหรับแผนปฏิบัติการการพัฒนาการผลิตและการใช้ไฮโดรเจนในภาคพลังงาน ระยะสั้น ปี 2568-2573 ภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวนั้น การดำเนินงานด้านการพัฒนาตลาดและสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ใช้ จะเป็นการส่งเสริมการใช้ไฮโดรเจนสำหรับโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม และยานยนต์ เพื่อทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ด้วยการพัฒนาโครงการนำร่อง มาตรการสนับสนุนด้านการเงินและการลงทุนสำหรับกลุ่มผู้ใช้ พัฒนากลไกราคาที่มีการพิจารณาเกณฑ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) โดยในช่วง 6 ปี (2568-2573) จะเป็นช่วงของการเตรียมพร้อม

ขณะที่ระยะกลางปี 2574-2583 จะเป็นช่วงของการเริ่มต้นพัฒนาตลาดผู้ใช้ในเชิงพาณิชย์ และระยะยาวปี 2584-2593 จะเป็นช่วงของการสนับสนุนให้เกิดการเติบโตของตลาดอย่างยั่งยืน

ขณะที่การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรม จะเป็นการสนับสนุนให้เกิดการผลิตไฮโดรเจนในประเทศ ลดการพึ่งพาการนำเข้า ด้วยการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่ มีมาตรการสนับสนุนด้านการเงินและการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการ และพัฒนาตลาดและกลไกการซื้อขายคาร์บอน โดยระยะสั้น จะเป็นช่วงของการวิจัยและพัฒนา ระยะกลาง เป็นช่วงของการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการไฮโดรเจนในประเทศ และระยะยาว เป็นช่วงของการมุ่งสู่ความยั่งยืน

นายวัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จะเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การจัดเก็บ การขนส่ง การใช้ไฮโดรเจนในภาคพลังงาน รวมถึงการซื้อขายไฮโดรเจนระหว่างประเทศ ด้วยการพัฒนาโครงข่ายระบบท่อสำหรับเชื้อเพลิงผสม พัฒนาระบบจัดเก็บ ขนส่ง และสถานีเติมไฮโดรเจน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับเทคโนโลยีไฮโดรเจน และแอมโมเนีย หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ และกรอบเวลาการดำเนินงาน

โดยระยะสั้น เป็นช่วงของการเตรียมความพร้อม ระยะกลาง เป็นช่วงของการพัฒนาระบบรองรับตลาดเชิงพาณิชย์ และระยะยาว เป็นช่วงของการขยายโครงสร้าง พื้นฐานรองรับตลาดใหม่

รวมถึงการปรับปรุงกฎระเบียบและมาตรฐาน และข้อกำหนดต่าง ๆ เพื่อรองรับการจัดหาและการใช้งานไฮโดรเจนตลอดห่วงโซ่คุณค่า โดยระยะสั้น เป็นช่วงของการเตรียมความพร้อม จำเป็นต้องเตรียมการด้านกฎหมาย กฎระเบียบ และมาตรฐานต่าง ๆ รองรับการใช้ในเชิงพาณิชย์ให้ครอบคลุมการดำเนินการในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การผลิต การจัดเก็บ การขนส่ง ไปจนถึงการใช้งาน

ระยะกลางและระยะยาว เป็นช่วงของการติดตาม ประเมิน และปรับปรุง โดยเป็นช่วงของการเติบโตของตลาดผู้ใช้ไฮโดรเจนสำหรับภาคพลังงานในระยะกลางและระยะยาว อาจมีการพัฒนารูปแบบธุรกิจ และเทคโนโลยีใหม่ ทำให้ต้องมีการศึกษา ติดตาม และทบทวนกฎหมาย ระเบียบ และมาตรฐานที่เกี่ยวข้องเป็นระยะ