energy

"พีระพันธุ์" ลั่นประมูลซื้อไฟฟ้า 3,600 เมกฯ โปร่งใส ยันไม่มีนายทุนหนุนหลัง

    "พีระพันธุ์" ลั่นประมูลซื้อไฟฟ้า 3,600 เมกฯ โปร่งใส ยันไม่มีนายทุนหนุนหลัง หลังเกิดคำถามกรณีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานจะมีการเปิดประมูลรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนรูปแบบ FIT

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในการตอบกระทู้ถามสดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับกรณีที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะมีการเปิดประมูลเกี่ยวกับการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน รูปแบบ Feed-in Tariff จำนวนประมาณ 3,600 เมกะวัตต์ โดยยืนยัน ว่า ตนและข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพลังงานไม่เห็นด้วยกับการกำหนดหลักเกณฑ์ที่มีความเสี่ยงต่อการถูกมองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์

ทั้งนี้ โครงการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนรูปแบบ Feed-in Tariff (FIT) จำนวนประมาณ 3,600 เมกะวัตต์นั้น เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนจำนวนประมาณ 5,200 เมกะวัตต์ 

โดยในโครงการหลัง 3,600 เมกะวัตต์นี้ กกพ. จะแบ่งการรับซื้อหรือการประมูลออกเป็น 2 โครงการย่อย คือ โครงการรับซื้อไฟฟ้าขนาดประมาณ 2,100 เมกะวัตต์ และโครงการรับซื้อไฟฟ้าขนาดประมาณ 1,500 เมกะวัตต์
 

สำหรับโครงการแรกที่รับซื้อไฟฟ้าประมาณ 2,100 เมกกะวัตต์นั้น ปัจจุบัน กกพ. กำหนดให้สิทธิ์ผู้ที่เคยเข้าประมูลในโครงการ 5,200 เมกะวัตต์ แต่ไม่ชนะการประมูลเป็นผู้มีสิทธิ์ยื่นประมูล แต่อยู่ในขั้นตอนเตรียมการยังไม่มีการประมูลเกิดขึ้น ซึ่งกระทรวงพลังงานไม่เห็นด้วยและเคยนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) แล้ว แต่น่าจะเกิดความผิดพลาดจึงทำให้เกิดการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ต่างไปจากนโยบาย ซึ่งได้สั่งการให้แก้ไขไปแล้วและกำลังจะมีการประชุม กบง.  เพื่อแก้ไขในเรื่องดังกล่าวนี้

"พีระพันธุ์" ลั่นประมูลซื้อไฟฟ้า 3,600 เมกฯ โปร่งใส ยันไม่มีนายทุนหนุนหลัง

อย่างไรก็ดี กกพ. ที่เป็นผู้ดำเนินการนั้นเป็นองค์กรอิสระ มีสถานะคล้ายกับ กสทช. กระทรวงพลังงานไม่มีอำนาจบังคับบัญชา กล่าวโดยง่ายคือไม่สามารถไปสั่งได้ แต่ก็ได้ใช้อำนาจตามที่มีอยู่โดยทำหนังสือทักท้วงพร้อมกับขอให้ทบทวนโครงการไปยัง กกพ. แล้ว โดยเบื้องต้นได้รับการแจ้งว่าที่มาที่ไปทำให้เกิดข้อผิดพลาดดังกล่าว เกิดจากความผิดพลาดในการทำมติที่ประชุมซึ่งจะได้ดำเนินการแก้ไขต่อไป และเมื่อมีการทบทวนในเรื่องนี้ให้รอบคอบและถูกต้องแล้ว ก็จะรายงานไปยังคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. ต่อไป 

นายพีระพันธุ์ กล่าวอีกว่า กระบวนการทั้งหมดคาดว่าจะดำเนินการแก้ไขแล้วเสร็จในระยะเวลา 1 เดือน โดยได้มีการกำกับ ติดตามอย่างใกล้ชิดตลอดมา  

ด้านกรณีมีการกล่าวว่าการรับซื้อไฟฟ้านั้น การรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนดังกล่าว แบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามการผลิต ประเภทแรกคือส่วนที่ผลิตจากแสงแดดมีการรับซื้อที่ 2.16 บาทต่อหน่วย และประเภทที่ผลิตจากพลังงานลมมีการรับซื้อที่ 3.10 บาทต่อหน่วย ซึ่งทั้ง 2 ส่วนไม่ได้มีราคาสูงกว่าการรับซื้อเดิม ดังนั้นยืนยันว่าการรับซื้อไฟฟ้าในครั้งนี้ไม่ได้แพงเกินจริงแต่อย่างใด
 

สำหรับคำถามที่ว่าในเมื่อจะมีการดำเนินการในส่วนของการซื้อขายไฟฟ้าโดยตรง หรือ Direct PPA แล้ว ทำไมจะต้องมีโครงการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน หรือ RE  รวมถึงการผลิตไฟฟ้าให้มีที่มาจากพลังงานสะอาด ซึ่งจะเป็นการซ้ำซ้อนกันหรือไม่ ต้องเรียนว่า Direct PPA หรือการรับซื้อไฟฟ้าตรง กับการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนนั้นเป็นคนละเรื่องกันอย่างชัดเจน  
 
Direct PPA เป็นการซื้อขายไฟฟ้าโดยตรงระหว่างผู้ประกอบการกิจการโรงไฟฟ้ากับผู้ประกอบการที่ต้องการใช้ไฟฟ้าโดยตรง แต่สำหรับ RE หรือการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนซึ่งในโครงการที่กล่าวไปตอนต้นนั้น จะเป็นส่วนที่ส่งไฟฟ้าเข้าสู่ระบบของ กฟผ. ซึ่งเมื่อมีสัดส่วนพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน หรือ RE ถึงเกณฑ์ที่กำหนดแล้วก็จะมีการจัดเก็บ UGT (Utility Green Tariff) หรืออัตราการเก็บค่าบริการสำหรับไฟฟ้าสีเขียว ซึ่งไฟฟ้าสีเขียวจะได้มาจากพลังงานหมุนเวียน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ เป็นต้น

โดยจะมีใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate หรือ REC) ควบคู่มาด้วย  โดย REC นี้ผู้ประกอบการจะใช้เป็นเอกสารประกอบเมื่อมีการส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่มีการกำหนดกำแพงภาษี การดำเนินการของ กกพ. จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในการรักษาความสามารถในการแข่งขันของการส่งออกของประเทศ  เนื่องจากพลังงานไฟฟ้าที่ได้มานั้น จะไม่สามารถแยกออกได้ว่าพลังงานไฟฟ้าหน่วยใดมีที่มาจากแหล่งใด ซึ่งไม่แค่ UGT แม้กระทั่ง Direct PPA ก็ไม่สามารถแยกได้ เว้นแต่เอกชนจะดำเนินการเดินสายส่งไฟฟ้าด้วยตนเอง ซึ่งมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทำให้เอกชนหลายรายพิจารณาใช้สายส่งไฟฟ้าของ กฟภ. และ กฟน. ทดแทน  

ขณะที่ประเด็นคำถามเกี่ยวกับแนวทางในการจัดการกับการประมูลพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนขนาด 5,200 เมกะวัตต์นั้น ได้มีการสอบถามและหารือไปยังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ดี การดำเนินการใด ๆ อาจจะส่งผลให้เกิดข้อพิพาททางกฎหมายเกิดขึ้น ซึ่งตนก็ได้ให้ข้อสังเกตและข้อแนะนำรวมถึงหารือในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และขอยืนยันว่าท่านใดมีข้อเสนอแนะที่ชัดเจนในเรื่องนี้ตนยินดีที่จะรับฟังพร้อมเดินหน้าปฏิบัติ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชน  
 
นกจากนี้ กระทรวงพลังงานกำลังปรับปรุง กฎ ระเบียบ เพื่อให้ประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าได้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ เป็นการลดความยุ่งยากในการผลิตไฟฟ้าในครัวเรือนซึ่งจะสามารถช่วยลดผลกระทบของพี่น้องประชาชนจากค่าครองชีพหรือค่าไฟฟ้า