กฤษดา รัตนอำนวยชัย สร้างธุรกิจด้วยการลงมือทำจริง

19 ก.พ. 2559 | 08:00 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ม.ค. 2566 | 12:42 น.

"คนเลวกลับใจ"...ไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับการกลับใจ คำคำ นี้ใช้ได้ดีกับ หนุ่มน้อยวัย 26 ปี "กฤษดา รัตนอำนวยชัย" เด็กเหลือขอที่ไม่เรียน ติดเกม หนีเที่ยว จนทางบ้านเอือมระอา

จนวันหนึ่งที่พ่อ-แม่ ผู้ที่ไม่เคยทิ้งลูกแม้จะทำตัวไม่ดีแค่ไหน แต่ก็พยายามตักเตือน และพร้อม "ให้โอกาส" เสมอ เมื่อลูกกลับตัวกลับใจ

 

"กฤษดา" ยอมรับด้วยเสียงฉะฉานว่า...ผมเรียนไม่จบ ไม่ชอบเรียน และตัดสินใจเลิกเรียนเอง ผมเป็นเด็กเกเร เรียนได้แค่ 1 กว่า ม. 3 ได้เกรด ไม่ถึง 1.6 เกเรจนสุดทาง ถ้ามากกว่านี้คือ ค้ายาเสพติด...แต่โชคดีที่เขาไม่ได้ทำ วันนี้เขาจึงได้เป็นลูกที่ดีของครอบครัว และเปิดกิจการจักรยานของครอบครัวให้เจริญรุ่งเรือง ภายใต้ชื่อบริษัท เซ็นทรัลไบท์ จำกัด โดยมีเขานั่งทำหน้าที่ กรรมการ และกรรมการผู้จัดการ บริษัทดูแลการทำตลาด และการติดต่อนำแบรนด์จักรยานและอุปกรณ์จักรยานแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาจำหน่าย

 

 

ผู้บริหารหนุ่มคนนี้ ถือเป็นเจเนอเรชันที่ 3 ของครอบครัว ที่เข้ามาสานต่อธุรกิจจักรยาน จากเดิมที่เป็นแค่ร้านซ่อมจักรยาน ปะยาง ในรุ่นคุณปู่ จนเมื่อเจเนอเรชันที่ 2 คือคุณพ่อของเขาเริ่มออกมาขยายธุรกิจด้วยตัวเอง จึงเปิดเป็นทั้งร้านซ่อม และร้านนำเข้าจักรยานจากต่างประเทศ ในชื่อร้านทองเอก

 

และที่นี่ คือที่ที่ เขาได้ฝึกงานช่างจักรยานอย่างเต็มรูปแบบ เพราะความไม่รักเรียน แถมความรู้สึกส่วนตัว ยังไม่ชอบงานซ่อมจักรยาน เพราะเป็นงานที่เลาะเทอะ ดูไม่เท่ และกลัวอายเพื่อน แต่ด้วยกุศโลบายของผู้เป็นพ่อ หากลูกไม่เรียน ไม่ทำงาน ก็ต้องไปหาเลี้ยงตัวเอง ความที่เคยสบาย มีเงินใช้ตลอด ทำให้เขาเริ่มอึดอัดทนไม่ได้ และเริ่มได้คิดว่า การยอมเข้ามาช่วยงานพ่อที่ร้านจักรยาน จะทำให้เขามีเงินใช้

 

จากจุดเริ่มต้น ที่ทำหน้าที่แค่เติมลมยาง คันละ 1-2 บาท ทำให้เขาเริ่มมีเงิน แม้จะเพียงวันละไม่กี่บาท แต่นั่นคือน้ำพักน้ำแรงของตัวเองจริงๆ และในที่สุด เขาก็เริ่มเรียนรู้งานซ่อมอื่นๆ จากผู้เป็นพ่อ และเริ่มรู้สึกสนุกและรักงานนี้ขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว
 

"กฤษดา" บอกว่า เขาตัดสินใจเลิกเรียน แม้จะเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยแล้วก็ตาม ด้วยความคิดที่ว่า ตัวเองเรียนไม่เก่ง ควรหันมาเอาดีในสิ่งที่ตัวเองชอบเลยจะดีกว่า ด้วยความเป็นคนรุ่นใหม่ ที่เคยติดเกมมาก่อน เคยสัมผัสกับโลกออนไลน์มาก่อน โดยเฉพาะพี่ชายที่ร่ำเรียนมาทางด้านนี้โดยตรง ทำให้เขาได้เรียนรู้ว่า การทำธุรกิจจักรยาน มีช่องทางอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ใช่แค่งานซ่อม แต่ยังสามารถขยายช่องทางให้คนรู้จักร้านของเขาด้วยการใช้โลกออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ จากรายได้หลักไม่กี่ 10 บาทต่อเดือน จึงขยับขึ้นมาเป็นหลักพัน ด้วยการทำเว็บไซต์ออนไลน์ขายจักรยานและอุปกรณ์เต็มรูปแบบ ตั้งแต่ปี 2553
 

"มันเริ่มเป็นธุรกิจได้ เพราะผมได้รับการสอนจากพ่อ พ่อเขาทำจักรยานมา จนไปขายจักรยานนำเข้า พ่อขายจักรยานพวกนี้ มันมีช่องทางในการทำธุรกิจนะ ผมก็เลยคุยกับพี่ชายว่า ผมจะทำอย่างไรให้ร้านเราสามารถมีคนรู้จักได้ ไม่ใช่แค่ในหมู่บ้าน พี่ชายซึ่งเก่งเรื่องทำโฆษณา โลกออนไลน์ ก็เข้ามาช่วยทำเว็บ ผมลงข้อมูลเองทั้งหมด พยายามทำทุกวันหลังเลิกงาน ผมรวบรวมข้อมูลทุกอย่างที่เรามี แล้วเอามาลงในเว็บ ผมขายได้ทุกวัน"
 

หลังจาก "กฤษดา" เริ่มทำธุรกิจออนไลน์ของเขาได้ไม่นาน ตลาดออนไลน์ก์เริ่มบูมหนัก จักรยานกลายเป็นกีฬาและการพักผ่อนที่สำคัญของคนเมือง ทำให้กระแสนิยมเพิ่มมากขึ้น การแข่งขันในตลาดก็สูงมากขึ้น เขาจึงชวนพี่ชายเดินทางไปไต้หวัน ไปเลือกหาแบรนด์จักรยานที่แตกต่าง นำเข้ามาขาย โดยทุนก้อนแรก เป็นงานนำเข้าจักรยานแบรนด์ที่น่าสนใจจากต่างประเทศ ด้วยเงินที่ยืมมาจากญาติๆ ประมาณ 1.5 ล้านบาท
 

"วันที่ผมลงทุนก้อนแรก น้ำท่วมประเทศไทย ผมแจ๊กพอตมาก สภาพตอนนั้น ผมขอเขาเลยว่า ผมมีปัญญาเท่านี้ ตอนแรกเขาบังคับผมสั่ง เขาบีบเราเลยว่าต้องทำยอดเท่านี้...ผมไม่มองตัวเลขเลย ผมหันไปบอกเขาว่าทำได้ ซึ่งผมก็ไม่รู้หรอกจะทำได้หรือเปล่า"
 

เขาสามารถทำให้ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี ด้วยการทั้งขายออนไลน์ และวิ่งตะลุยไปเสาะหาดีลเลอร์ในแต่ละจังหวัดด้วยตัวเอง แล้วเขาก็สามารถสร้างยอดขายได้สูงสุดในช่วงที่น้ำท่วม และยังต่อยอดมาได้เรื่อยๆ จากยอดขายหลักพัน มาเป็นหลักหมื่น และหลัก 50 ล้านบาทในปัจจุบัน และปีนี้ เขาตั้งเป้าว่า ร้าน เซ็นทรัลไบท์ของเขา จะเติบโตแบบก้าวกระโดด ทำรายได้ไม่ต่ำกว่า 150 ล้านบาท


เมื่อถามถึงความมั่นใจ "กฤษดา" บอกว่า นี่เป็นเป้าที่เขาตั้งขึ้น จะได้หรือไม่ได้ เขาก็ไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ คือ เขาจะเดินหน้าและทำให้ดีที่สุด ทำทั้งแคมเปญการขาย และกิจกรรมการตลาด การสร้างคอมมิวนิตีจักรยานของเซ็นทรัล ไบท์ และนำเข้าแบรนด์ตจักรยานดังดีไซน์หรู ORBEA จักรยานที่ราคาแพงที่สุดในโลก ประดับด้วยเพชรและแพลทินัม และด้วยระบบการทำงานที่แข็งแรงมากขึ้น มีเครือข่ายที่มั่นคงแข็งแกร่ง ทำให้เขามั่นใจว่า จะสามารถทำยอดขายได้ตามเป้า



"กฤษดา" พูดถึงความตั้งใจตอนเริ่มต้นทำธุรกิจด้วยตัวเองว่า เกิดจากคำที่พ่อสอนว่า คนเราต้องทำมาหากินให้เลี้ยงตัวเองได้ และในวันนี้เขาสามารถเลี้ยงตัวเองได้แล้ว เขายังสามารถเลี้ยงพ่อแม่ครอบครัวให้มีความสุข ต่อจากนี้ ความฝันหรือเป้าหมายของเขา คือ การนำเข้าแบรนด์จักรยานพรีเมียม มาสร้างตลาดให้คนไทยรู้จักมากขึ้น ทำให้คนไทยเข้าใจลึกซึ้งถึงจักรยานที่มีคุณภาพ ไม่เพียงแต่การปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพ แต่ยังเป็นการพักผ่อน และยังได้ชื่นชมกับดีไซน์ที่สวยหรู ที่ยิ่งเก็บไว้ ก็ยิ่งเพิ่มมูลค่ามากขึ้นเรื่อยๆ เป็นสมบัติชิ้นสำคัญของคนเราได้เลยทีเดียว
 

ผู้บริหารหนุ่มคนนี้ ไม่ได้เรียนจบ มีปริญญาสูงๆ แต่เขาเรียนรู้การทำงานจากประสบการณ์ และสิ่งรอบๆ ตัว ความใฝ่รู้ ที่ไม่ได้อยู่แค่ในตำรา เห็นอะไรก็เก็บมาคิด แมคโดนัลดฺขายเบอร์เกอร์เป็นแพ็กเกจ การทำจักรยานก็สามารถขายเป็นแพ็กเกจได้เช่นกัน

 

นอกจากนี้ ความตั้งใจจริงในการลงมือทำ ไม่ใช่แค่เพียงพูดหรือรับปาก ยังเป็นสิ่งสำคัญที่จะพาให้คนเกเรอย่างเขา เดินไปสู่ความสำเร็จ กล้าเสี่ยงกล้าลอง และรู้จักวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดล่วงหน้า คิดให้ได้ก่อนชาวบ้านแล้วรีบทำเลย นั่นจึงจะเป็นชัยชนะ ของนักธุรกิจที่ดี
 

"เราได้มาจากประสบการณ์ การทำธุรกิจไม่ใช่สิ่งที่จะมีใครมาบอก หรือมาสอน สำหรับนำสิ่งที่คนอื่นพูดมาวิเคราะห์ เรียนรู้ ทดลองทำ เรียนผิดเรียนถูก ผมได้จากพ่อเยอะ ผมทำธุรกิจแบบไม่กลัวอะไร ผมชอบเสี่ยง เทหมดหน้าตัก ผมเชื่อว่า การที่ผมมายืนอยู่จุดนี้ได้ เป็นเพราะผมคิดและทำก่อนที่คนอื่นเขาจะทำ และอีกสิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อมั่น คือ ไม่มีอะไรที่คนเราทำไม่ได้ ถ้าเราตั้งใจและทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด"
 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,132 วันที่ 18 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559