รวิวรรณ วรสินศิริ ลงทุนไม่เกินตัว วางแผนดี...ทุ่มให้เต็มที่

06 ก.พ. 2559 | 16:30 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ม.ค. 2566 | 12:14 น.
761

การเป็นเจ้าของธุรกิจ เป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ใฝ่ฝัน แต่ใครจะไปได้-ไปถึงแค่ไหน อยู่ที่กำลังความสามารถและความมุ่งมั่น "รวิวรรณ วรสินศิริ" ทายาทรุ่น3 ของโรงงานผลิตกระเป๋าหนังแท้ของครอบครัว ที่ก่อตั้งมากว่า 50 ปี

คิดว่า เธอพร้อมแล้วที่จะก้าวออกมาสร้างธุรกิจของตัวเอง ด้วยการต่อยอดธุรกิจเครื่องหนังของครอบครัว ร่วมกับเพื่อนรัก "วรัญญา อังรัตนันท์" ที่ทำงานมาด้วยกัน สร้างแบรนด์สินค้าเครื่องหนังแฟชั่นสตรี "วารา"
 

ถามว่าทำไมจึงมีไอเดียนี้ และมั่นใจว่าจะสามารถสร้างธุรกิจของตัวเองให้เกิดได้ ในสภาวะที่เศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวยเช่นนี้ "จีจี้ - วรัญญา" ประธานกรรมการบริหารร่วมบริษัท วีอาร์ วารา จำกัด ดูแลรับผิดชอบด้าน การบริหารธุรกิจภาพรวม การขายและตลาด และ การวางแผนการผลิต บอกว่า อย่างน้อยเรื่องของโรงงานผลิตหนัง ความสามารถด้านเครื่องหนัง เธอก็มีประสบการณ์มาพอสมควร และยังมีพ่อ-แม่ ที่เป็นแบ็กอัพให้ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ความชื่นชอบส่วนตัวของหญิงสาว และเพื่อน ที่สนใจกับสินค้าเครื่องหนังมาแต่ไหนแต่ไร ก็ทำให้เข้าใจการเลือกเครื่องหนังและดีไซน์ให้โดนใจตลาดได้ไม่ยาก

แถมด้วยความรู้ความสามารถที่มีจากการศึกษาปริญญาโทบริหารธุรกิจมหาวิทยาลัย นิวคาสเซิล ประเทศออสเตรเลีย และยังมีประสบการณ์การทำงานด้าน Account Manager แผนกการสื่อสาร บริษัท อินเด็ก ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) กว่า 4 ปี และยังเป็น Program Manage Trainee ได้รับมอบหมายหน้าที่ดูแล International Project ของบริษัท Myanmar Index Creative Village ที่ประเทศเมียนมา รวมไปถึง การทำหน้าที่ Media Planner ในบริษัท MediaCom ในเครือของ WPP Group มาแล้ว ทำให้สามารถวิเคราะห์ตลาด และรู้วิธีการสร้างแบรนด์มากพอสมควร


ปี 2558 ถือเป็นปีของการเริ่มต้นสร้างแบรนด์ "วารา" ให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเกินคาด ด้วยยอดขายที่เติบโตกว่า 800% มูลค่ารวม 8.5 ล้านบาท เริ่มขยายฐานออกสู่ตลาดต่างประเทศ และสามารถเปิดจุดจำหน่ายได้ถึง 3 สาขา คือ ที่ Zen @ Central World, Terminal 21 ชั้น 3, Chatuchak Weekend market โครงการ 2 และสาขาล่าสุด ที่ Another Story Emquartier เป็นสาขาที่ 4

"ความมั่นใจเรามีประมาณหนึ่ง แต่ที่สำคัญคือ เวลาลงทุน เราเริ่มต้นด้วยการลงทุนที่ไม่เกินตัว ดูงบประมาณว่ามีพอไหมจะอยู่ได้แค่ไหน ด้วยการวางแผนที่ดี ชัดเจน แล้วทำให้ดีที่สุด เพราะการทำธุรกิจเองมันแตกต่างจากการเป็นพนักงานบริษัท ที่มีคนกำหนดทิศทางให้เราเดิน แต่การเป็นเจ้าของธุรกิจ เราต้องกำหนดเอง ทำเองทุกอย่าง"



โปรดักต์ คือ หัวใจสำคัญของการทำธุรกิจ ซึ่งเธอมั่นใจว่า การเลือกหนัง เลือกดีไซน์ และกระบวนการผลิตของเธอมีคุณภาพ พอที่จะทำให้ผู้บริโภคสนใจ แล้วผนวกด้วยราคาที่ไม่เกินจริง ทุกคนจับต้องได้ นั่นคือปัจจัยที่ทำให้สินค้าได้รับการยอมรับจากตลาดไม่ยาก ถัดจากนั้น คือการบริหาร ที่ต้องขึ้นอยู่กับ "ทีมงาน" ที่ดี ที่สามารถซัพพอร์ตให้ธุรกิจเดินหน้าได้



"การเป็นผู้นำ ยากตรงที่ว่า พนักงานแต่ละคนมีความต้องการที่แตกต่างกัน มันเหมือนกับเราต้องปรับ ต้องจูน เพื่อให้เข้าใจพวกเขา และทำให้พวกเขาเข้าใจความต้องการของเราให้ได้ ช่วงแรกมีปัญหามากเรื่องคน โดยเฉพาะส่วนของรีเทล ตลาดที่มีการแข่งขันสูง พนักงานสามารถเลือก เปลี่ยนงานได้ทันที เมื่อเขาได้รับข้อเสนอที่ดีกว่า เราจึงพยายามที่จะอยู่กันแบบครอบครัว มีอะไรที่ช่วยเหลือกันได้ก็ช่วยเหลือกัน"



ปัญหาที่ได้พบเจอกับการสร้างธุรกิจของตัวเอง มีเกิดขึ้นตลอด วิธีการแก้ปัญหาของ "รวิวรรณ" คือ การศึกษาให้มากขึ้น วางระบบการทำงานให้ดี ซึ่งสิ่งนี้เธอได้มาจากหัวหน้างานที่ อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ ที่มีวิธีการสอนเด็กที่ดี การทำความเข้าใจเพื่อนร่วมงาน ไม่ใช่เพียงแค่การออกคำสั่ง ประสบการณ์คือสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจ พอๆ กับการเปิดรับสิ่งใหม่ๆ การเป็นคนช่างสังเกต รู้จักเรียนรู้ อ่าน คิด วิเคราะห์ และต่อยอด คือ คีย์ซักเซสของการเป็นผู้นำที่ดี ที่สามารถนำมาใช้ได้ทั้งกับการบริหารคน และการบริหารตลาด



"รวิวรรณ" บอกว่า เธอมีแผนขยายตลาดต่างประเทศจริงจังมากขึ้น จากปีที่แล้วที่เริ่มมีคนให้ความสนใจ แต่การขยายธุรกิจของเธอ จะไม่เป็นการลงทุนด้วยตัวเอง แต่เป็นการหาพาร์ตเนอร์ หาตัวแทนจัดจำหน่ายที่ดี ที่จะช่วยสร้างตลาดให้ด้วย ส่วนในประเทศซึ่งเป็นตลาดหลัก ยังคงเดินหน้าขยายสาขา และสร้างการรับรู้แบรนด์ (brand Awareness) ให้มากขึ้น ผ่านโปรเจ็กต์เวิร์กช็อปเครื่องหนังทำมือรูปแบบใหม่ ชื่อ L.I.Y. Leather It Yourself ที่จะกระตุ้นคนไทยเห็นคุณค่าและใช้หนังแท้มากขึ้น โดยการดึงความต้องการจริงๆ ของผู้บริโภคมาเป็นช่องทางสร้างให้เกิดประโยชน์



คนยุคใหม่ที่ต้องสินค้าที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ ความเป็นตัวตนของตัวเอง ทำให้คนหันมาสนใจสินค้าประเภท D.I.Y มากขึ้น แบรนด์จึงต้องคิดมากกว่าแค่ Product Centric และ Consumer Centric แต่ต้องตอบสนองความต้องการในแง่ความรู้สึกของคนหรือ Human Centric ถึงจะมัดใจผู้บริโภคในยุคนี้ได้ นั่นจึงเป็นจุดที่ทำให้เกิดโปรเจ็กต์เวิร์กช็อปนี้ขึ้นมา โดยเธอจะทำต่อเนื่อง 12 แห่ง ตลอดทั้งปี ให้ผู้สนใจได้ออกแบบเครื่องหนังทำมือในสไตล์ของตัวเอง



เป้าหมายของผู้บริหารหญิงคนนี้ คือ การสร้างแบรนด์ "วารา" ให้เป็นแบรนด์ชั้นนำด้านเครื่องหนังที่ทุกๆ คนรู้จัก และสร้างให้มียอดขายเติบโตขึ้นทุกปี 20-30%



"รวิวรรณ" บอกว่า เธอให้เวลาในการทำงานของตัวเองไว้ 10-15 ปี เมื่ออายุสัก 40-45 ปี ก็จะขอถอยออกมาทำหน้าที่เป็นผู้ถือหุ้น ให้คำปรึกษาอยู่เบื้องหลัง หรือนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะตอนนี้ก็มีคนสนใจ เชิญชวนให้ร่วมหุ้นกันอยู่ แต่เธอก็ยอมรับว่า ตัวเองเป็นคนที่อยู่นิ่งไม่ได้ ชอบคิด ชอบทำ เมื่อถึงเวลานั้นจริงๆ ความคิดอาจเปลี่ยนไป และอาจจะยังทำงานไปเรื่อยๆ ก็เป็นได้
 

เรื่อง :พัฐกานต์ เชียงน้อย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,128 วันที่ 4 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559