นิจวรรณ เชาว์กิตติโสภณ การทำงานต้องปรับตัวและประนีประนอม

30 ม.ค. 2559 | 13:00 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ม.ค. 2566 | 11:44 น.
898

การทำงานหนัก ต้องอยู่กับโรงงาน ไม่ใช่สิ่งที่คนรุ่นใหม่อยากทำ แต่คนที่ถูกปลูกฝัง และซึมซับกับชีวิตในโรงงานเซรามิกมาตั้งแต่เด็ก อย่าง "นิจวรรณ เชาว์กิตติโสภณ" ผู้อำนวยการฝ่ายตลาด บริษัท โฮมพอตเทอรี่ จำกัด (มหาชน) เธอบอกว่า ในโรงงานมีอะไรให้ทำเยอะแยะ ไม่น่าเบื่อ

ไม่ใช่เพราะเป็นลูกเจ้าของโรงงาน แต่เพราะการคลุกคลีมาตั้งแต่ต้น ทำให้รู้ว่าโรงงานมีงานงานท้าทายให้ผู้หญิงตัวเล็กๆ อย่างเธอได้ทำมากมาย
 

สาวเก่งวัย 26 ปี คนนี้ จบการศึกษาปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาศิลปอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หลังจากนั้นก็เริ่มงานกับครอบครัวทันที ด้วยหน้าที่ของนักออกแบบเซรามิก 2 ปี ก่อนจะเพิ่มความรับผิดชอบเป็น ผู้อำนวยการฝ่ายตลาด พร้อมๆ กับงานพัฒนาและออกแบบสินค้าไปด้วย

 

"นิจวรรณ" บอกว่า การทำงานทั้งการดีไซน์ และการทำตลาด มันสนุก ตรงที่ต้องทำให้ครบ อยู่ดีๆ จะขายอย่างเดียวก็ไม่ได้ เธอเล่าประสบการณ์งานขายในช่วงแรกๆ ว่า เคยเจอปัญหา เนื่องจากประสบการณ์ที่มีไม่มากพอ แต่อยากขายของ ทำให้รับออร์เดอร์จากลูกค้าที่ต้องการงานเร่ง ซึ่งมีปัญหากับฝ่ายผลิตที่ผลิตในเวลาจำกัด ไม่ทัน เธอรู้สึกว่า นั่นคือความผิดพลาด
 

"ลูกค้าจะสั่งออร์เดอร์แล้วรีบใช้ของ เราก็อยากขาย พอขายเสร็จ ฝ่ายผลิตเราไม่สามารถผลิตในช่วงเวลาแค่นั้นได้ แต่เราขายไปแล้ว เงินมัดจำก็รับมาแล้ว ก็ต้องประชุมร่วมกัน ต้องเร่งผลิต ต้องมีค่าล่วงเวลา สุดท้ายก็ส่งของทัน แต่เราก็ยังรู้สึกว่ามันผิดพลาด เพราะมันมีค่าวุ่นวาย คือความวุ่นวายมันมีต้นทุน หลังจากนั้น ก่อนรับออร์เดอร์ทุกครั้ง ก็ต้องเช็กดีๆ"

"นิจวรรณ" เรียนรู้ว่าประสบการณ์การทำงานเป็นสิ่งสำคัญ แม้เธอจะเรียนจบมาทางด้านออกแบบ แต่การออกแบบสินค้าแต่ละอย่างมีความจำเพาะ การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ก็แบบหนึ่ง การออกแบบเซรามิกก็อีกแบบหนึ่ง เพราะเมื่อนำของเข้าเตาเผาอุณหภูมิกว่า 1,000 องศา รูปทรงเซรามิกจะเปลี่ยน หากไม่มีประสบการณ์ตรงนี้ ก็จะไม่เข้าใจ และออกแบบผิดเพี้ยน ซึ่งเรื่องนี้เธอได้เรียนรู้จาก คุณนิรันดร์ ผู้เป็นพ่อที่มีประสบการณ์มากว่า 30 ปี
 

"สิ่งที่ได้จากคุณพ่อมีมากมาย พ่อเป็นคนที่คิดแตกต่าง มีไอเดียที่ไม่เหมือนใคร เช่น การแก้ปัญหา เรามองว่าแปลกๆ แต่มันก็เวิร์ก หรือถ้าคนทำเซรามิก ตอนแรกๆ คนจะอยากผลิตเยอะๆ แต่พ่อไม่เอา อยากทำแบบมีดีไซน์เป็นของตัวเอง...เรื่องความคิดแย้ง มีบ่อยๆ ครอบครัวเราค่อนข้างเปิดกว้าง แสดงความคิดเห็นได้ แต่ก็ต้องมีการคุยกัน เราต้องพยายามพรีเซนต์ให้มากๆ แต่ถ้าพ่อยังไม่เห็นด้วย เราก็ต้องชะลอไว้ก่อน หรือต้องลองทำให้เห็นก่อน"
 

การเริ่มงานกับครอบครัว ผู้บริหารสาวคนนี้บอกว่า ถือเป็นความท้าทายตั้งแต่เริ่มต้น เพราะคนส่วนใหญ่มักพูดว่า การทำงานกับครอบครัว เดี๋ยวก็ต้องมีทะเลาะกัน ยิ่งเป็นเด็กจบใหม่ไฟแรงกลับมาแบบนี้ ต้องมีปัญหาแน่นอน ซึ่งเธอก็ยอมรับในจุดนี้ แต่สิ่งที่ "นิจวรรณ" เรียนรู้ คือ การรู้จักรับฟัง การรู้จักปรับตัว ประนีประนอม และต้องทำให้คนที่ทำงานมาก่อนยอมรับให้ได้ ซึ่งเธอก็สามารถทำได้สำเร็จ เพราะการเป็นคนเปิดรับ
 

จริงๆ "นิจวรรณ" สัมผัสและเรียนรู้กับงานของครอบครัวมานาน เธอรับรู้ในโจทย์ของผู้เป็นพ่อ ที่แยกออกมาจากกงสี มาสร้างงานสร้างแบรนด์ของตัวเอง ด้วยความคิดที่แตกต่างจากการทำตลาดแมส มาเป็นตลาด Nitch ผลิตไม่มาก เน้นคุณภาพ และเจาะตลาดเฉพาะ โรงแรมร้านอาหาร ซึ่งก็ได้ผลดี เพียงแต่ที่ผ่านมา จุดอ่อนของ "โฮมพอตเทอรี่" คือ การสร้างแบรนด์ของตัวเอง คือ ฮาร์ทแอทโฮม (Heart @ Home), วัน (One), โฮเทลแอนด์ฮาร์ท (Hotel&Heart) และเพทาย (PETYE) ยังไม่เป็นที่รู้จักมากพอ ดังนั้น หน้าที่ของผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด คือการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก โดยเริ่มต้นจากแบรนด์ เพทาย ตั้งแต่กลางปี 2556 ซึ่งเพทายคือ แบรนด์ที่เธอสร้างขึ้นในช่วงการทำ Thesis ก่อนจบ และยังใช้ช่องทางใหม่ๆ ทางออนไลน์ สร้างเว็บไวต์ ทำแค็ตตาล็อกแบบสินค้าเผยแพร่ให้มากขึ้น
 

เธอบอกว่า การสร้างแค็ตตาล็อก และทำเว็บไซต์ ช่วยให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น และดีไซน์ของบริษัทก็มีลูกค้าสั่งซื้อมากขึ้น ทำให้การบริหารคลังสินค้า บริหารระบบในโรงงานดีขึ้น และยังช่วยลดการสูญเสีย เพราะแบบที่ผลิตมาส่วนใหญ่ เป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งตลาดใหญ่ของเธอ มีทั้ง สหรัฐอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และปีนี้ เริ่มขยายในตลาดเออีซี และตลาดประเทศไทย จริงจังมากขึ้น
 

"มันไม่ได้เห็นในรูปแบบยอดขายที่เพิ่มขึ้น แต่จะเห็นดีไซน์ที่ลูกค้าสั่ง เพราะจากเมื่อก่อน ลูกค้าสั่ง เรารับจ้างผลิต แต่ตอนนี้เขาเลือกดีไซน์ของบริษัทเราไปจอยต์ด้วย ตรงนี้คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงชัดเจน"

 

ในแง่ของการทำงาน นโยบายของบริษัทคือ "ออกแบบดี มีมาตรฐาน งานเรียบง่าย ได้ของไว ร่วมใจพัฒนาคุณภาพ" และคำว่า "ร่วมใจพัฒนาคุณภาพ ก็ไม่ใช่เพียงคุณภาพของสินค้า แต่หมายถึงคุณภาพของชีวิตของพนักงาน พาร์ตเนอร์ และซัพพลายเออร์ทั้งหลายด้วย
 

"นิจวรรณ" บอกว่า เธอมีแนวคิดที่จะไปศึกษาเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มพูนความรู้ และประสบการณ์ใหม่ๆ แต่ก็ยังไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าจะเป็นเมื่อไร เพียงแต่ที่แน่ๆ คือ การเรียนด้านบริหารเพิ่มเติม เพราะนอกจากประสบการณ์ตรงที่ได้จากการทำงานแล้ว ความรู้ใหม่ๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญ และความชื่นชอบของเธอก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่การออกแบบ การทำตลาด หรือการสร้างแบรนด์ของเซรามิกเพียงอย่างเดียว มันยังมีผลิตภัณฑ์อย่างอื่นๆ ที่น่าสนใจ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต


ด้วยแนวคิดที่ผสมผสาน และรู้จักเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ทำให้ยังมีสิ่งที่ท้าทายอีกมากที่ "นิจวรรณ เชาว์กิตติโสภณ" พร้อมจะเปิดรับ และทดสอบฝีมือ
 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,126 วันที่ 28 - 30 มกราคม พ.ศ. 2559