ธานินทร์ พานิชชีวะ ต่อยอดธุรกิจลดความเสี่ยงการลงทุน

29 ม.ค. 2559 | 14:00 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ม.ค. 2566 | 11:36 น.
2.3 k

การบริหารเส้นทางในระยะสั้นๆ 28 กิโลเมตร "ดอนเมืองโทลล์เวย์" หรือ "ทางยกระดับอุตราภิมุข" ให้สร้างรายได้ต่อเนื่อง คือความท้าทายของผู้บริหาร "ธานินทร์ พานิชชีวะ" หรือ "คุณบ๊อบ" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) อย่างมาก

"ธานินทร์" เล่าว่า การเริ่มต้นทำธุรกิจมันยากทุกขั้นตอนและทุกด้าน ถ้าคิดย้อนหลัง ทำธุรกิจถ้าเริ่มใหม่ ต้องคิดตั้งแต่เริ่ม ดูว่าจะขายอะไร ขายบริการ ขายความรู้ ขายอาหาร ขายรถยนต์ และเมื่อรู้แล้วจะขายอะไร ก็ต้องดูว่าสินค้าที่จะขายมีคุณภาพเพียงพอไหม ถ้าคุณภาพไม่เพียงพอก็ไม่มีใครอยากซื้อ สำหรับดอนเมืองโทลล์เวย์ คือการขายบริการ เพราะฉะนั้นบริการต้องมีคุณภาพ ต้องพัฒนาบริการอยู่ตลอดเวลา ซึ่งที่ผ่านมาเขาได้เดินหน้าพัฒนาบริการของดอนเมืองโทลล์เวย์อยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการนำบัตรอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้ หรือการติดกล้องวงจรปิดทุกๆ 1 กิโลเมตร เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้เฝ้าระวังปัญหาของผู้ขับขี่บนเส้นทางจราจร และเข้าช่วยเหลือได้ทันถ่วงที
 

อีกสิ่งสำคัญของการบริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ คือประสบการณ์ แค่ความอยากเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถทำให้เราประสบความสำเร็จได้ การอ่านธุรกิจให้ขาด รู้ว่าควรจะทำอะไร อย่างไร นั่นคือสิ่งสำคัญ และที่สำคัญมากๆ ก็คือ งบประมาณที่เพียงพอในการซัพพอร์ตธุรกิจให้เดินหน้า

ที่เห็นได้ชัดสำหรับสิ่งที่ผู้บริหารท่านนี้บอกก็คือ ช่วงย้ายสนามบินจากดอนเมือง ไปอยู่ที่สุวรรณภูมิ ช่วงนั้นเรียกว่ารายได้ของดอนเมืองโทลล์เวย์ ลดไปอย่างน่าใจหายเลยทีเดียว คิดง่ายๆ ว่า ภายใน 1 สัปดาห์ รถที่เคยวิ่งคึกคัก หายวับไปเลย กว่า 1 แสนคัน และวิธีการแก้ไขก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะฉะนั้นถ้าเงินทุนซัพพอร์ตมีไม่เพียงพอ ก็อาจทำให้ต้องขายทิ้งกิจการกันได้เหมือนกัน
 

"ทำธุรกิจต้องมีแผนสำรองอยู่ในหัวเยอะๆ ถ้าอันนี้ล้มไปแล้ว จะเอาที่เหลือไปทำอย่างอื่นได้ไหม สมมติว่าจะทำร้านอาหารร้านหนึ่ง เราออกแบบให้เป็นร้านอาหาร ไม่เผื่ออะไรเลย ถ้าไม่ประสบความสำเร็จ ก็เปลี่ยนไปทำอย่างอื่นไม่ได้ แต่ถ้าคนคิดได้ดี ร้านอาหารเจ๊ง เปลี่ยนไปทำสปา ทำร้านเสริมสวยได้ไหม"


เมื่อย้อนถามว่า แล้ว "คุณบ๊อบ" เคยเจอเคสแบบนั้นบ้างแล้วหรือยัง เขาตอบว่า โครงการดอนเมืองโทลล์เวย์ ผู้บุกเบิกคือคุณพ่อ (สมบัติ พานิชชีวะ) ซึ่งเข้ามาทำธุรกิจจากการที่คนอื่นทำแล้วไปต่อไม่ได้ เพราะคนคนนั้นไม่มีประสบการณ์ ก็มาชวนคุณพ่อไปช่วย
 

"เราได้เห็นธุรกิจนั้นเกิดขึ้นมาแล้ว จนถึงจุดจุด หนึ่งมันจะง่ายขึ้น การทำธุรกิจระยะที่ 2 ง่ายกว่าคนเริ่ม ถ้าเลือกได้ ผมจะชอบทำอย่างคุณพ่อมากกว่า คือ มีคนเริ่มทำไปแล้ว แล้วชวนผมไปร่วม เราได้เห็นว่ามีจุดด้อยอะไรที่เราปรับปรุงได้ อย่างการสร้างทางด่วน การที่เราไปเริ่มต้น ไปหุ้นกับคนที่ทำอยู่แล้ว เราไม่รู้ว่าทำแล้วจะมีรถวิ่งกี่คัน ถึงจะมีประมาณการ ก็ไม่แน่ว่าจะถูกต้องไหม แต่ถ้าเราเห็นเขาเปิดให้บริการไปแล้ว 3 ปี เห็นแล้วว่ามีรถ 20 คัน ต่อจากนั้น เราจะไปสร้างให้มันมีมากขึ้นด้วยฝีมือของเรา"
 

เพราะฉะนั้นถ้าถามว่า จะเลือกทำธุรกิจลักษณะไหน "คุณบ๊อบ" จะตอบได้ทันทีว่า ชอบทำแบบต่อยอด เพราะมันไม่เสี่ยงตั้งแต่เริ่มต้น ขณะที่บางคนอาจมองว่า การต่อยอด จะไม่ค่อยท้าทาย แต่สำหรับผู้บริหารคนนี้ เขาให้ความสำคัญกับเรื่องของความเสี่ยง หากลงทุนแล้วเสี่ยงน้อย หรือไม่เสี่ยงเลย ก็น่าจะดีกว่า และด้วยสไตล์การทำงาน ที่เป็นคนละเอียด ไม่ได้นั่งทำงานแค่บนโต๊ะ แต่จะลงไปร่วมทำกับทีมงาน เท่าที่เวลาจะสามารถทำได้ และการทำงานเร็ว เพราะฉะนั้น ในวันนี้ธุรกิจของดอนเมืองโทลล์เวย์ ที่เขาเข้ามาทำหน้าที่ต่อยอด จึงกำลังเดินหน้าไปได้ด้วยดี และได้ตามเป้าที่ตั้งไว้
 

"คุณบ๊อบ" บอกเลยว่า คีย์ซักเซสของการบริหารธุรกิจของเขา คือความละเอียด ทำงานเร็ว ทำงานหนัก เอาใจเขามาใส่ใจเรา ด้วยการคิดเสมอว่า ถ้าทำอย่างนี้คนอื่นจะคิดอย่างไร พอคิดแบบนั้นการทำงานมันจะดีขึ้นเพราะคิดเผื่อมาให้เขาแล้ว ไม่ได้ทำงานแบบวันเวย์ หรือใช้การออกคำสั่งเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้การสื่อสารไปถึงทีมงาน ก็ต้องทั่วถึงและเข้าใจง่าย
 

ผู้บริหารดอนเมืองโทลล์เวย์คนนี้ เข้าใจดีว่า คนรุ่นใหม่ต้องการแสดงออก ต้องการนำเสนอความคิดของตัวเอง เพราะฉะนั้นเขาจึงเปิดรับฟังความคิดเห็นของทีมงาน เพราะนอกจากจะทำให้พวกเขาได้แสดงศักยภาพแล้ว ยังทำให้ได้แนวความคิดที่หลากหลาย
 

"ผู้บริหารที่ดีต้องปรับตัวเองตลอด การไม่ฟังใครเลยจะเป็นจุดอ่อนทันที ยิ่งยุคสมัยนี้ถ้าผู้บริหารคนไหนเปลี่ยนช้า จะตามคนอื่นไม่ทัน จะตัดสินใจไม่ทันโลก พนักงานของเราก็ต้องให้ความสำคัญกับเขา ต้องฟังเสียงสะท้อน ฟีดแบ็กสำคัญ เพราะเจเนอเรชันเปลี่ยน ถ้าเราอยู่ตัวคนเดียว ข้างนอกเป็นไงไม่รู้ ก็พัง"
 

กรรมการผู้จัดการ ดอนเมืองโทลล์เวย์ ยังมีความคิดที่จะต่อยอดธุรกิจของตัวเอง ด้วยการแตกไลน์ธุรกิจไปทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับงานของดอนเมืองโทลล์เวย์ เช่น ที่จอดรถแนวตั้ง ทั้งแบบแจกบัตรอิเล็กทรอนิกส์ และแบบมีพนักงานเก็บเงิน หรือการทำศูนย์รถแท็กซี่ ก็สามารถทำได้เลย และทันทีที่รัฐบาลมีนโยบาย เขาก็พร้อมดำเนินการได้ทันที
 

ด้วยวัย 53 ปี ของ "ธานินทร์ พานิชชีวะ" เขาบอกว่า การทำธุรกิจในรุ่นที่ 2 ไม่ได้มุ่งเน้นที่การสร้างธุรกิจอย่างเดียว แต่มีเป้าหมายในการคืนกลับสู่สังคมด้วย นอกจากการทำโครงการซีเอสอาร์ในองค์กร สร้างพนักงานให้มีจิตอาสาแล้ว ดอนเมืองโทลล์เวย์ก็ยังมี "มูลนิธิทางสู่ฝัน ปั้นคนเก่ง" ที่ก่อตั้งโดย สมบัติ พานิชชีวะ เพื่อมอบทุนการศึกษา Tollway Smart Way ให้เยาวชนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์ที่กำหนดและผ่านการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ได้มีโอกาสเข้าศึกษาจนสำเร็จระดับปริญญาตรี และเมื่อถึงวัยเกษียณ เขาก็พร้อมที่จะออกมาทำงานให้มูลนิธิ อย่างเต็มตัว
 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,126 วันที่ 28 - 30 มกราคม พ.ศ. 2559