จับเทรนด์ท่องเที่ยวปี 2568 “ฐานเศรษฐกิจ” ได้รวบรวมมุมมองและการวิเคราะห์ ที่เกี่ยวข้องกับไทย ทั้งจากธุรกิจเสิร์ชเอนจินเกี่ยวกับด้านการวางแผนเดินทางท่องเที่ยว ธุรกิจทราเวล เอเยนต์ ออนไลน์ระดับโลก
รวมถึงงานสัมมนาจากสถาบันชั้นนำของไทยมานำเสนอ เพื่อเป็นไกด์ไลน์ ให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทย ได้นำมาใช้เป็นช่องทางในการสร้างโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้น
การเลือกทริปเดินทางท่องเที่ยวยังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยนักท่องเที่ยวให้ความสำคัญกับโรงแรมและธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โรงแรมที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้จึงมีโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวยุโรป ขณะที่นักท่องเที่ยวไทย ก็เริ่มให้ความสนใจซื้อเสื้อผ้ามือ2 ในระหว่างการเดินทาง เนื่องจากการรับรู้ถึงผลกระทบของภาวะโลกร้อนและความต้องการลดการบริโภคนิยม
โดยในปี 2568 ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะโรงแรมต้องเตรียมพร้อมและปรับตัวสู่การใจใส่สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เพื่อรองรับระเบียบข้อบังคับใหม่ของโลกด้านความยั่งยืน ที่จะมีผลบังคับในปี 2568
โดยเฉพาะมาตรการจากสหภาพยุโรป (EU) เพื่อให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ต่อไป ซึ่งโรงแรมต้องได้รับการออกใบรับรองการดำเนินการของโรงแรมด้านความยั่งยืน หรือ Hotel Plus ที่ในขณะนี้กรมลดโลกร้อน เป็นเจ้าภาพในการออกใบรับรอง
ขณะเดียวกันททท.ยังเน้นผลักดันให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ยกระดับความยั่งยืน เพื่อเข้าสู่การรับรอง Sustainable Tourism Goalsหรือ STGs TAT star เพื่อกระตุ้นให้เกิดการปรับตัวมาเน้นการบริหารจัดการธุรกิจอย่างยั่งยืน
แพลตฟอร์มออนไลน์ระดับโลก อย่าง Booking.com ,Agoda, SiteMinder ต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่าในปี 2568 เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น AI จะมีบทบาทสำคัญในการวางแผนการเดินทางมากขึ้นของนักท่องเที่ยว
ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนจองโรงแรม สัมผัสประสบการณ์การเข้าพัก โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวเอเชีย ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวไทยก็สนใจกับการใช้ AI ในการวางแผนการเดินทางเพิ่มขึ้น และเปิดรับมากที่สุดในเอเชียด้วย
รวมไปถึงการวางแผนที่จะใช้แอปพลิเคชันระหว่างการเดินทาง เพื่อช่วยในการจองทริป รวมถึงใช้เทคโนโลยีเพื่อค้นหาข้อมูลและประสบการณ์ท้องถิ่นที่แท้จริง สนใจทัวร์เสมือนจริง โดยชาวอินเดีย จะเป็นกลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีมากที่สุด
อีกทั้งในปี 2568 การค้นหาที่พักและบริการท่องเที่ยว ผ่าน OTA (ออนไลน์ ทราเวล เอเย่นต์) จะเพิ่มขึ้นราว 10% จากปีที่ผ่านมา AI กำลังกลายเป็นเรื่องปกติ ผู้ประกอบการต้องปรับตัวลงทุนระบบบริหารธุรกิจด้วย AI นำมาช่วยในการวิเคราะห์ดาต้าเบสลูกค้า และปรับกลยุทธการขายแบบเรียลไทม์ ให้สอดรับกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว เพิ่มผลักดันการเพิ่มรายได้มากขึ้น
นักท่องเที่ยวทั่วโลก รวมถึงนักท่องเที่ยวไทย มีแนวโน้มที่จะเดินทางเพื่อเข้าร่วมงานอีเว้นท์มากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา กิจกรรมและงานอีเว้นท์ต่าง ๆ จึงเป็นหนึ่งในแรงจูงใจในการเดินทางของนักท่องเที่ยว โดยในส่วนของประเทศไทย ส่วนใหญ่จะการเดินทางเพื่อไปชมคอนเสิร์ต/เทศกาลดนตรี ตามมาด้วยงานรวมญาติ/งานเฉลิมฉลอง งานสัมมนา อีเว้นท์กีฬา โดยมากจะพบว่า 2 ใน 3 ของกลุ่ม Gen Z วางแผนที่จะเดินทางไปชมคอนเสิร์ต
ขณะที่ 36% ของกลุ่ม Baby Boomers วางแผนที่จะเดินทางเพื่อเข้าร่วมการประชุม การคลีเอดอีเว้นท์ที่ตอบโจทย์ จะนำมาซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น
โดยในปี 2568 นอกจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) จะจัดอีเว้นท์และบิ๊กอีเว้นท์ตลอด 365 วันทั่วไทย เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในภาพใหญ่แล้ว ในส่วนของบิ๊กธุรกิจ ต่างก็แข่งกันจัดบิ๊กอีเว้นท์
อาทิ AWC ทุ่ม 1,400 ล้านบาท ร่วมกับ NEON และ Universal Destinations & Experiences เปิดตัว Jurassic World : The Experience เอ็กซิบิชั่นเปิดประสบการณ์การความบันเทิงแบบอิมเมอร์ซีฟที่ใหญ่สุดในโลก เปิดในไตรมาส 2 ปี 2568 ที่เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เดสติเนชั่น
การเดินทางเพื่อสุขภาพและการพักผ่อนเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากนักท่องเที่ยวไทยและนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดย Wellness Economy ของประเทศไทยปี 2565 จัดอยู่ในอันดับที่ 24 ของโลก ด้วยมูลค่ารวมสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท
ในขณะที่มูลค่าของการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ Wellness Tourism อยู่ที่ 269,000 ล้านบาท ในปี 2568 ยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง
เทรนด์ Wellness Tourism ในปีนี้จะพบว่า เวชศาสตร์วิถีชีวิต หรือ Lifestyle Medicine หรือ การแนะนำลูกค้า ให้ได้รับการบำบัด การดูแลสุขภาพที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และเหมาะสมเฉพาะบุคคล ป้องกันก่อนจะเกิดปัญหา กำลังมาแรง
เช่นเดียวกับการเลือกเดินทางเพื่อฟื้นฟูสุขภาพและมองหากิจกรรมที่สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ เช่น การบำบัดด้วยความเย็นและสั่นสะเทือนทั่วร่างกาย
การทำกิจกรรมเพื่อสุขภาพจิตและการพัฒนาตัวเอง ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเพศหญิง-ชายเท่านั้น ทริปชายแท้ ทั้งแบบเพื่อนและคู่รัก มองหากิจกรรมเพื่อความสงบสุข และท้าทายขีดจำกัดทางร่างกายและจิตใจ ทริปเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะช่วยให้ผู้เดินทางได้พักผ่อน แต่ยังส่งเสริมการเชื่อมสัมพันธ์และลดความเครียดจากชีวิตประจำวัน
ผู้ประกอบการไทยไม่ควรพลาด มองความได้เปรียบในการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในหมู่นักท่องเที่ยวทั่วโลก
การท่องเที่ยวพร้อมสัตว์เลี้ยง เป็นรูปแบบการท่องเที่ยวใหม่ ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น ในหมู่ผู้มีสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะจากกระแส Pet humanization จากปัจจุบันกลุ่มผู้มีสัตว์เลี้ยงหันมาเลี้ยงสัตว์ เสมือนลูกหรือสมาชิกครอบครัว (Pet parent) มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนโสด ส่งผลให้เจ้าของยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อสัตว์เลี้ยงค่อนข้างมาก
ทั้งด้านอาหาร ด้านสุขภาพ รวมถึงการพาสัตว์เลี้ยงออกไปท่องเที่ยวด้วยกัน ทำกิจกรรม พร้อมทั้งได้ใช้เวลาและสร้างประสบการณ์พิเศษร่วมกันมากขึ้น
ดังนั้นธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจขนส่งและการบิน ที่เปิดรับสัตว์เลี้ยง หรือ Pet Friendly จะมีโอกาสจะได้รับรายได้เพิ่มขึ้น จากค่าเข้าพัก หรือการเรียกเก็บค่าบริการในส่วนนี้เพิ่มขึ้น
แต่ความท้าทายของภาคธุรกิจในการรองรับ Pet tourism คือการสร้างสมดุลในการให้บริการระหว่างกลุ่มลูกค้ารักสัตว์และกลุ่มที่ไม่คุ้นเคยกับสัตว์/เป็นภูมิแพ้สัตว์ และต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริการที่เพิ่มขึ้น
โดยต้องกันห้องพักไว้เฉพาะสำหรับการให้บริการสัตว์เลี้ยงเข้าพักพร้อมเจ้าของ การจัดโซนที่การให้บริการที่เหมาะสมแยกพื้นที่การให้บริการโดยเฉพาะ เป็นต้น
เช่นเดียวกับธุรกิจ Pet healthcare & Wellness ด้วยการให้บริการในหลายด้าน เช่น การบริการ Pet care และ Pet grooming เพื่อเตรียมความพร้อมให้สัตว์ก่อนออกไปเที่ยว
การตรวจสุขภาพและออกใบรับรองสุขภาพพร้อมฝังไมโครชิพเพื่อใช้ในการเดินทาง และการให้บริการด้านเวลเนสแก่สัตว์เลี้ยง เช่น การทำสปา การฉีดวัคซีน และการพาไปออกกำลังกายหรือว่ายน้ำ
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,058 วันที่ 2 - 4 มกราคม พ.ศ. 2568