ประวัติความเป็นมาวันองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก

03 ก.พ. 2568 | 05:45 น.

วันทหารผ่านศึก เช็กประวัติความเป็นมาการจัดตั้งองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พร้อกิจกรรมในวันทหารผ่านศึก 3 กุมภาพันธ์ 2568

วันทหารผ่านศึก ในปีนีตรงกับวันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568  องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้กำหนดจัดพิธีและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสดุดีและรำลึกถึงวีรกรรมความกล้าหาญของทหารผ่านศึก รวมทั้งยกย่องเชิดชูเกียรติทหารผ่านศึกให้เป็นที่ประจักษ์แก่สังคมไทย ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

 

ประวัติและความเป็นมาขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก

       

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2  ประเทศไทยได้ส่งกำลังทหารเข้าร่วมทำการรบในสงครามมหาเอเซียบูรพา เมื่อสิ้นสุดสงครามทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในการรบถูกปลดประจำการโดยกระทันหัน ส่งผลให้ตัวทหารและครอบครัวได้รับความเดือดร้อนในการครองชีพเป็นอย่างยิ่ง รัฐบาลในขณะนั้นซึ่งมี พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้มอบหมายให้กระทรวงกลาโหมพิจารณา ดำเนินการช่วยเหลือ กระทรวงกลาโหมจึงได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาหาทางช่วยเหลือทหารกองหนุนขึ้น เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2489  โดยมีที่ทำการอยู่ในกรมเสนาธิการทหาร (ปัจจุบันคือ กองบัญชาการทหารสูงสุด) และใช้เจ้าหน้าที่ของกรมเสนาธิการเป็นผู้ปฏิบัติงาน สำหรับงบประมาณในการสงเคราะห์ ได้รับเงินอุดหนุนจากกระทรวงกลาโหมจำนวนหนึ่ง

 

ต่อมาเมื่อมีการขยายการสงเคราะห์เพิ่มมากขึ้น จึงได้มีการพิจารณาว่าการดำเนินงาน ในรูปของคณะกรรมการจะขาดความรัดกุมและความเหมาะสม กระทรวงกลาโหมจึงได้เสนอเป็นพระราชบัญญัติ จัดตั้ง องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก หรือ ที่เรียกโดยย่อว่า “อผศ.” ขึ้นเป็นหน่วยงานถาวร เพื่อทำหน้าที่ ในการสงเคราะห์ทหารผ่านศึกโดยตรง พระราชบัญญัติฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 3  กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 จึงนับเป็นวันแรกที่มีกฎหมายรองรับการจัดตั้งองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และการเป็นทหารผ่านศึก ดังนั้น วันที่ 3  กุมภาพันธ์ของทุกปี จึงถือว่าเป็นวันสถาปนาองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และเป็น “วันทหารผ่านศึก”

 

ในปี พ.ศ. 2510  สภาทหารผ่านศึก สภากลาโหม และรัฐบาล ได้พิจารณาปรับปรุง พระราชบัญญัติองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก โดยได้ขยายการสงเคราะห์ครอบคลุมไปถึงทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือนและพลเรือน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ป้องกันหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคง หรือความปลอดภัยแห่งราชอาณาจักร ทั้งใน และนอกประเทศตามที่กระทรวงกลาโหมหรือสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนด รวมทั้งทหารนอกประจำการด้วย และให้โอนกิจการของมูลนิธิ ช่วยเหลือทหารและครอบครัว ที่ไปช่วยสหประชาชาติทำการรบ ณ ประเทศเกาหลี มาอยู่ในองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกด้วย พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28  ธันวาคม พ.ศ. 2510  เรียกว่า “พระราชบัญญัติองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ. 2510” ซึ่งเป็นฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

 

ประวัติและความเป็นมาขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก

 วันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 ประกอบพิธีและกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้

กิจกรรม "วันทรหารผ่านศึก"

  • พิธีขบวนเดินพาเหรดทหารผ่านศึก ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
  • พิธีจุดตะเกียงตามประทีปและสักการะอัฐิ ณ ห้องจารึกชื่อผู้เสียสละชีพเพื่อชาติ ภายในอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
  • พิธีวางพวงมาลาเพื่อคารวะดวงวิญญาณทหารผ่านศึก โดยมีผู้แทนจาก หน่วยงานต่าง ๆ ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารต่างประเทศประจําประเทศไทย สมาคม มูลนิธิ ตลอดจนทหารผ่านศึกทุกสมรภูมิ ร่วมวางพวงมาลา
  • พิธีเชิดชูเกียรติทหารผ่านศึกดีเด่น ประจําปี 2568.

ที่มา : องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์