“KSL” ตั้งเป้ารายได้ 1.9 หมื่นล้านปี 68 หลังอ้อยเข้าหีบเพิ่มขึ้น 23% จากปี 67

03 ก.พ. 2568 | 07:19 น.

บ.น้ำตาลขอนแก่นวางเป้ารายได้ 1.9 หมื่นล้านปี 68 ชี้มีปัจจัยหนุนหจากริมาณอ้อยเข้าหีบเพิ่มขึ้น 23% จากปี 67 จากการเริ่มเดินเครื่องจักรโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ของบริษัทใน จ. สระแก้ว

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 68 เติบโตที่ 15-20% มาอยู่ที่ 1.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 1.64 หมื่นล้านบาท 

โดยได้รับปัจจัยหนุนจากปริมาณอ้อยเข้าหีบปี 67/68 อยู่ที่ 6.7-6.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 23% จากปี 2567 ที่ 5.4 ล้านตัน จากการเริ่มเดินเครื่องจักรโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ของบริษัทใน จ. สระแก้ว 

อย่างไรก็ดี ปีการผลิต 67/68 คาดว่าปริมาณอ้อยในประเทศจะเพิ่มขึ้น 15 – 22% หรือ 95 – 100 ล้านตัน จาก 82 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปี 66/67 เป็นผลมาจากปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น และเกษตรกรหันมาปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น

ขณะที่ราคาขายน้ำตาลเฉลี่ยปีนี้ ลดลงมาอยู่ที่เฉลี่ย 20 เซ็นต่อปอนด์ เทียบกับปีก่อนเฉลี่ย 24-26 เซ็นต่อปอนด์ แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในระดับที่ดี จากปัจจัยมีสต็อกน้ำตาลในตลาดโลกเป็นจำนวนมาก และค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 2 ปี

“KSL” ตั้งเป้ารายได้  1.9 หมื่นล้านปี 68 หลังอ้อยเข้าหีบเพิ่มขึ้น 23% จากปี 67

อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งปีหลังอาจมีปัจจัยบวกเข้ามาหนุนราคาน้ำตาลตลาดโลกให้สูงขึ้น จากกำลังการผลิตน้ำตาลของอินเดีย และจีนที่ลดลงในต้นฤดูกาลหีบ 67/68

นอกจากนี้บริษัทคาดว่าในปี 2568 จะสามารถบันทึกส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ BBGI หลังจากโครงการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) ขนาดกำลังการผลิต 1 ล้านลิตรต่อวัน จะแล้วเสร็จและเดินเครื่องในช่วงเดือน เม.ย.นี้ 

ด้านงบลงทุนของบริษัทนั้น คาดว่าในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า จะยังไม่มีแผนลงทุนโครงการขนาดใหญ่ หลังจากบริษัทลงทุนโรงงานน้ำตาลที่สระแก้วไปแล้ว โดยส่วนใหญ่จะเป็นงบสำหรับซ่อมบำรุงเครื่องจักร ประมาณ 500-600 ล้านบาทต่อปี 

ขณะที่ปัญหาฝุ่น PM 2.5 บริษัทตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และให้ความร่วมมือกับภาครัฐลดปริมาณการรับซื้ออ้อยถูกลับลอบเผา และส่งเสริมการใช้เครื่องจักรในการเก็บเกี่ยวอ้อยสดอย่างต่อเนื่อง โดยในฤดูกาลหีบ 67/68 บริษัทมีปริมาณอ้อยไฟไหม้เฉลี่ยทั้งกลุ่มอยู่ที่ 17.85% จากปริมาณอ้อยเข้าหีบ 3.4 ล้านตันในขณะนี้ 

ซึ่งอยู่ภายในกรอบอัตราไม่เกิน 25% ของกระทรวงอุตฯ ตอบสนองนโยบายภาครัฐในการลดฝุ่น PM 2.5 ในฤดูเก็บเกี่ยวจากการเผา 

นายชลัช กล่าวอีกว่า มาตรการของภาครัฐที่ออกมานั้น แม้จะมีส่วนในการแก้ไขปัญหาด้านฝุ่น PM 2.5 บรรเทาผลกระทบให้ประชากรโดยรวมของประเทศ แต่ปฎิเสธไม่ได้ว่า มาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรชาวไร่อ้อยในเรื่องของต้นทุนการเก็บเกี่ยวที่เพิ่มขึ้น 

“มาตรการเพิ่มราคาอ้อยสด 120 บาทต่อตัน ไม่สะท้อนต้นทุนการเก็บเกี่ยวอ้อยสด 200 – 250 บาทต่อตัน ในขณะที่อ้อยเผามีต้นทุนการเก็บเกี่ยวที่ 100 – 150 บาทต่อตัน จึงทำให้ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการลดปริมาณอ้อยเผาได้ในทุกพื้นที่”