กรณีบริษัท น้ำตาลไทยอุดรธานี จำกัด และบริษัท ไทยอุดรธานี เพาเวอร์ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.คำบง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานีโดนคำสั่งให้ปิดกิจการวันนี้ (15 ม.ค. 68) เมื่อเวลาประมาณ 17.13 น.จากกระทรวงอุตสาหกรรม
หลังน้ำตาลไทยอุดรธานีมีการรับอ้อยเผาเข้าหีบสะสมสูงสุดจากโรงงานน้ำตาลทั้งหมด 58 โรงงาน คิดเป็น 43.11% ของปริมาณอ้อยทั้งหมด หรือกว่า 4.1 แสนตัน เทียบเท่าการเผาป่ากว่า 4.1 หมื่นไร่
ขณะที่ไทยอุดรธานี เพาเวอร์ จำกัด ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำส่งให้กับโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี ฝ่าฝืนกฎหมายความปลอดภัย มีการประกอบกิจการในสภาพที่อาจก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงถึงชีวิตและทรัพย์สินของพนักงานและประชาชนที่อยู่อาศัยใกล้เคียงกับโรงงาน
อีกทั้งยังมีการประกอบกิจการที่อาจก่อให้เกิดอันตราย ความเสียหายหรือความเดือดร้อนแก่พนักงานหรือทรัพย์สินที่อยู่ในโรงงานหรือที่อยู่อาศัยใกล้เคียงกับโรงงานในหลายประเด็น
เช่น มีการจัดเก็บหรือการดำเนินการเกี่ยวกับสารเคมี วัตถุอันตราย และกากอุตสาหกรรมที่ใช้และเกิดจากกระบวนการผลิตของโรงงานที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ตู้ควบคุมไฟฟ้าอยู่ในสภาพชำรุดอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งระบบดับเพลิงที่ไม่พร้อมใช้งานในหลายจุด จึงถูกสั่งปิดในที่สุด
ล่าสุดคณะกรรมการบริษัท น้ำตาลไทยอุดรธานี จำกัด และ บริษัท ไทยอุดรธานี เพาเวอร์ จำกัด ได้จัดประชุมคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่บริหารของกลุ่มบริษัท ที่โรงน้ำตาลไทยอุดรธานี ต.คำบง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เพื่อติดตามผลการดำเนินงานเปิดเดินเครื่องจักรของโรงน้ำตาลและโรงไฟฟ้าเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2568
โดยยืนยันว่าโรงไฟฟ้าไทยอุดรธานี เพาเวอร์ เป็นโรงไฟฟ้าที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย หม้อไอน้ำที่ใช้เป็นหม้อไอน้ำคุณภาพสูงจากประเทศญี่ปุ่น ผ่านการตรวจสอบตามมาตรฐานความปลอดภัยทุกปี
อีกทั้งมีการส่งรายงานตรวจติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้กับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในทุก 6 เดือนอย่างสม่ำเสมอไม่ได้ขาด
สำหรับการจัดการงานด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก็ได้ติดตั้งอุปกรณ์วัดคุณภาพอากาศแบบ real time CEMs (Continuous Emission Monitoring System) ซึ่งส่งข้อมูลออนไลน์ไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรม
บริษัท น้ำตาลไทยอุดรธานี จำกัด และ บริษัท ไทยอุดรธานี เพาเวอร์ จำกัด เป็นกิจการที่ให้ความสำคัญต่อความยั่งยืนและมุ่งมั่นดำเนินงานตามแนวทาง ESG ซึ่งรวมไปถึงนโยบาย แนวปฏิบัติ และมาตรการของกระทรวงอุตสาหกรรม สำหรับเรื่องการไม่รับซื้ออ้อยไฟไหม้นั้น
โรงงานจะปฏิบัติตามนโยบายและแนวทางของกระทรวงอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่อยู่แล้ว แต่ในทางปฏิบัติ การตัด การเผา-ไม่เผา ขึ้นอยู่กับบริบทของการทำไร่อ้อยตามสภาพพื้นที่ ความสามารถ/ความพร้อมของชาวไร่อ้อยเป็นสำคัญ
โรงงานเป็นปลายทางของห่วงโซ่ จึงจำเป็นต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจและความร่วมมือกับชาวไร่อ้อยคู่สัญญาเพื่อแก้ปัญหาการเผาอ้อย สนับสนุนให้ชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดอย่างบูรณาการ
รวมถึงเพื่อขานรับนโยบายของภาครัฐ และได้เร่งรัดแผนงานการจัดการอ้อยยั่งยืนซึ่งเป็นนโยบายด้านความยั่งยืนประจำปี 2568 ของบริษัทให้มีการปฏิบัติการเร็วขึ้น