อัปเดทสถานการณ์อ้อยเข้าหีบ โรงงานรวมเกษตรกรอุตสาหกรรมรับอ้อยสดสูงถึง 94%

20 ม.ค. 2568 | 11:40 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ม.ค. 2568 | 11:40 น.

อัปเดทสถานการณ์อ้อยเข้าหีบ โรงงานรวมเกษตรกรอุตสาหกรรมรับอ้อยสดสูงถึง 94% สอน.เผยภาพรวมเฉลี่ยโรงงานน้ำตาลรับอ้อยเผาสะสมตั้งแต่เปิดหีบอ้อยจนถึงวันที่ 16 มกราคม 2568 คิดเป็น 18.72%

นายใบน้อย สุวรรณชาตรี เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การรับอ้อยเข้าหีบวันที่ 19 มกราคม 2568 ของโรงงานรวมเกษตรกรอุตสาหกรรม (มิตรภูเขียว) จ.ชัยภูมิ ของกลุ่มมิตรผล พบว่ารับซื้ออ้อยสดสะสมสูงถึง 94% 

ซึ่งในแต่ละฤดูการผลิตที่ผ่านมา โรงงานฯ รับอ้อยสดเข้าหีบมากกว่า 90% โดยกลุ่มมิตรผลยังได้มีการส่งเสริมการตัดอ้อยสดและรับซื้อใบอ้อยจากเกษตรกร เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าชีวมวล เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยมานานกว่า 10 ปี

ทั้งนี้ ภาพรวมเฉลี่ยโรงงานน้ำตาลรับอ้อยเผาสะสมตั้งแต่เปิดหีบอ้อยจนถึงวันที่ 16 มกราคม 2568 คิดเป็น 18.72% สะท้อนได้จากมาตรการที่กระทรวงอุตสาหกรรมจับมือร่วมกับโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศงดรับอ้อยเผาเข้าหีบในช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ 2568 

จนถึงวันเด็กแห่งชาตินี้ ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ฤดูการผลิตปี 2567/68 ที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอขอเงินจากรัฐบาลภายใต้วงเงิน 7,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเกษตรกรเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดี 100% และเพิ่มราคารับซื้อใบและยอดอ้อย จะช่วยลดการเผาอ้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ลดสาเหตุของการเกิดฝุ่น PM 2.5 ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสุขภาพอนามัยของประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ

อัปเดทสถานการณ์อ้อยเข้าหีบ โรงงานรวมเกษตรกรอุตสาหกรรมรับอ้อยสดสูงถึง 94%

“สอน. เชื่อมั่นมาตรการต่าง ๆ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการมานั้น จะช่วยให้มีปริมาณอ้อยสดเข้าหีบเพิ่มมากขึ้น โรงงานน้ำตาลงดรับอ้อยเผาเข้าหีบ เหมือนกับโมเดลโรงงานรวมเกษตรกรอุตสาหกรรม (มิตรภูเขียว) จ.ชัยภูมิ ซึ่งถือเป็นผู้ประกอบการที่ช่วยกระตุ้นการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจใน จ.ชัยภูมิ และพื้นที่ใกล้เคียงเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้เป็นอุตสาหกรรมรักษ์โลกที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสอดรับกับกติกาสากล

นายใบน้อยกล่าวอีกว่า ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ภาคที่ 4 จ.อุดรธานี ได้มีการวิเคราะห์คุณภาพดิน น้ำ และปุ๋ย ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยต่อไร่ให้สูงขึ้น 

ลดการใช้ปุ๋ยเกินความจำเป็น ปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดินทรายในระยะยาว เพื่อลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นและเพิ่มรายได้จากการมีผลผลิตที่มีคุณภาพ รวมถึงการแจกพันธุ์อ้อยส่งเสริมของ สอน. ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยและผู้ที่สนใจ เช่น สายพันธุ์ CSB11 - 307, CSB11 - 613 และ CSB15 - 221 เป็นต้น ซึ่งเป็นสายพันธุ์อ้อยที่นักวิจัยของ สอน. ได้มีการปรับปรุงสายพันธุ์ เพื่อเพิ่มผลผลิตตันต่อไร่ มีค่าความหวานสูง ทนทานต่อโรคและแมลงในอ้อย และสามารถเติบโตในสภาพพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เป็นอย่างดี

สำหรับข้อมูลทางกายภาพ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือถือเป็นแหล่งปลูกอ้อยขนาดใหญ่ของประเทศไทย เนื่องจากมีพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างอ้อย โดยมีพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 4.6 ล้านไร่ คิดเป็น 43% ของพื้นที่ปลูกอ้อยทั่วประเทศ และมีโรงงานน้ำตาลตั้งอยู่ 23 แห่ง