นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในสัปดาห์นี้ รับทราบมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ผ่อนผันให้แรงงานกัมพูชาและเมียนมาที่นายจ้างได้ยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวในลักษณะ MOU ของแรงงานสัญชาติกัมพูชาและเมียนมาแล้วเสร็จภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 อยู่ในประเทศไทยชั่วคราวและอนุญาตให้ทำงาน เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ให้ครบถ้วน
ส่วนแรงงานสัญชาติลาวและเวียดนามที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานได้ถึงวันที่ 13 ก.พ.68 นั้นจะผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทยชั่วคราว เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อให้นายจ้างยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว พร้อมรูปถ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด ดังนั้นจึงขอให้นายจ้างเร่งรัดดำเนินการตามที่กระทรวงแรงงานได้ประกาศออกไป
"นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เน้นย้ำให้นายจ้างยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวในลักษณะ MOU ของแรงงานสัญชาติกัมพูชาและเมียนมาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 13 ก.พ. 68 นี้ โดยจะไม่ขยายระยะเวลาให้ยื่นบัญชีรายชื่อออกไปอีก ตามมติที่ประชุม คบต. ซึ่งคาดว่าจะเสนอที่ประชุม ครม. ภายในสัปดาห์นี้"
นายภูมิพัฒน์ กล่าวว่า สำหรับแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือใบอนุญาตทำงานหมดอายุ และไม่ไปขึ้นทะเบียนตามเวลาที่กำหนด รวมทั้งกลุ่มที่เข้ามาแย่งอาชีพสงวนของคนไทยนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้สั่งการให้ปราบปรามอย่างจริงจัง
พร้อมทั้งได้ตั้งชุดเฉพาะกิจ “ไตรเทพพิทักษ์” ที่บูรณาการ 3 หน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน คือ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กรมการจัดหางาน และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และหน่วยงานภายนอกอื่นอีก 11 หน่วยงาน เพื่อปูพรมออกตรวจสอบการจ้างงาน สภาพการจ้าง การบังคับใช้แรงงานหรือบริการและการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายในกลุ่มแรงงานต่างด้าวทั่วประเทศ โดยชุดเฉพาะกิจนี้จะดำเนินคดีกับผู้ประกอบการด้วย
นายภูมิพัฒน์ กล่าวว่า นโยบายเจอ จับ ปรับ ผลักดัน ของกรมการจัดหางานที่รัฐมนตรีสั่งการไว้ก็ยังคงทำอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่วันที่ 5 มิ.ย.67 - 29 ม.ค.68 ได้ออกตรวจสอบนายจ้าง/สถานประกอบการทั่วประเทศ 41,696 แห่ง แรงงานต่างด้าว 573,722 คน ดำเนินคดีกับนายจ้าง/สถานประกอบการ 1,596 แห่ง แรงงานต่างด้าว 3,590 คน
โดยความผิดส่วนใหญ่ของนายจ้าง/สถานประกอบการ คือการรับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน ส่วนแรงงานต่างด้าวมักทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตและทำงานนอกเหนือจากสิทธิที่จะทำได้ หรือแย่งอาชีพสงวนของคนไทย ซึ่งต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด