ชี้ปลดล็อกน้ำเมา ปลุกเม็ดเงินสะพัดแสนล้าน

21 ก.พ. 2568 | 05:10 น.

ชี้เม็ดเงินสะพัด 5 หมื่น – 1 แสนล้านบาทในปีแรก ในระบบเศรษฐกิจ หลังรัฐบาลปลดล็อกขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งในช่วงเวลา 14.00-17.00 น. วันพระใหญ่ และช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมปรับโซนนิ่งใหม่ ย้ำตอบโจทย์ด้านเศรษฐกิจและท่องเที่ยว

การปรับเปลี่ยนกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลา 14.00-17.00 น. เป็นประเด็นที่สังคมไทยให้ความสนใจอย่างมาก หลังนายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร” สั่งให้ศึกษาการยกเลิกการห้ามขายแอลกอฮอล์เวลา 14.00 – 17.00 น. และวันสำคัญทางพุทธศาสนา ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและไม่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว

นายธนากร คุปตจิตต์ อดีตนายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อกระแสข่าวแพร่สะบัดไปหลายคนจับจ้องไปว่าจะมีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ 24 ชั่วโมง นั้นไม่เป็นความจริง ในช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่เรียกร้องให้มีการปรับเปลี่ยนกฎหมายดังกล่าวเพียงแค่ปลดล็อกช่วงเวลา 14.00-17.00 น. เพื่อให้สอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

ชี้ปลดล็อกน้ำเมา ปลุกเม็ดเงินสะพัดแสนล้าน

 “การปรับเปลี่ยนกฎหมายครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะอนุญาตให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่เป็นการปรับปรุงเวลาการจำหน่ายให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยอนุญาตให้จำหน่ายได้ตั้งแต่เวลา 11.00 น. ถึง 24.00 น. ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น”

ทั้งนี้ผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการเรียกร้องให้เกิดการปลดล็อกดังกล่าวมานานนับหลายปี และเริ่มมีสัญญาณที่ดีในช่วงของรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” และเมื่อมีการเปลี่ยนผ่านของรัฐบาลใหม่ก็มีสัญญาณที่ดีเพิ่มมากขึ้น สิ่งที่สำคัญคือต้องการความชัดเจน อยากให้กำหนดช่วงเวลาในการกำหนดกฎหมายว่าจะเริ่มได้ไหน เพื่อป้องกันไม้ให้กลายเป็นวาทกรรมทางการเมือง

สำหรับเรื่อง การห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่ อาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคมไทยในปัจจุบันที่เป็นหมุดหมายสำคัญของการท่องเที่ยว และเปิดรับหลากหลายทางวัฒนธรรม การยกเลิกการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่ จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มาเยือนประเทศไทยมากขึ้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการที่สามารถบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ตามปกติ เปิดโอกาสให้ธุรกิจสามารถดำเนินการได้ตามปกติ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับประเทศ

อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนกฎหมายดังกล่าวย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ควรมีการพิจารณาถึงผลกระทบในด้านต่างๆ อย่างรอบคอบ และมีมาตรการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เช่นต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่เยาวชน และการขับรถขณะเมาสุรา

 “หลายคนมีความกังวลในประเด็นต่างๆ เช่น ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน การเพิ่มอุบัติเหตุทางถนน และปัญหาสังคมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตาม ผู้สนับสนุนการปรับเปลี่ยนกฎหมายมองว่า ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและการรณรงค์ให้ประชาชนดื่มอย่างมีสติ”

 นายธนากร กล่าวอีกว่า ตลาดสุรานำเข้าในไทยยังซบเซาเนื่องจากกำลังซื้อของคนน้อยลง นักดื่มมีการเปลี่ยนไปดื่มเหล้าที่ราคาถูกลง ซึ่งสถานบันเทิงกลางคืนคือสถานที่ที่จะสามารถทำให้เหล้า รวมถึงสุราพรีเมี่ยมของไทยกลับมาโต ผ่านการจัดระเบียบ โซนนิ่งห้ามขายใหม่ ขยายเวลาปิด-เปิดให้เท่าเทียมกัน และผ่อนปรนการจำหน่ายผ่านช่องทางอิเล็คทรอนิกส์ จะเพิ่มเงินใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยผ่านการใช้บริการที่เกี่ยวข้อง ทันทีกว่า 5 หมื่นล้านบาท หากรวมกับช่วงเทศกาลจะเพิ่มเป็น 1 แสนล้านบาท ได้ภายใน 1 ปี

 “การกำหนดโซนนิ่งห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่มีสถานศึกษาหรือสถานที่ราชการนั้น ถือเป็นกฎเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ในปัจจุบัน สถานการณ์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทั้งการเติบโตของเมือง การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค และการขยายตัวของธุรกิจ ทำให้โซนนิ่งเดิม อย่าง พัฒนพงศ์ เพชรบุรีตัดใหม่ และรัชดาภิเษก ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงอีกต่อไป

 โซนนิ่งเดิมมักจะกำหนดพื้นที่ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างตายตัว โดยไม่คำนึงถึงลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่ อยากให้มีขอบเขตโซนนิ่งใหม่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมปัจจุบัน อย่าง ถนนข้าวสาร และเลียบทางด่วนรามอินทรา

 เม็ดเงินที่สะพัดไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการอาหารและเครื่องดื่ม ยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ทั้งโรงแรม สถานบันเทิง ภัตตาคาร ร้านอาหารทั่วไป การจ้างงาน รถรับจ้าง เด็กเสิร์ฟ นักดนตรี เป็นต้น จะมีการจ้างงานเพิ่ม และเติมรายได้จากการให้บริการ รวมถึงการจ่อปลดล็อกสุราชุมชนที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทั่วประเทศ”

 

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,072 วันที่ 20 - 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568