ลุ้นจีนปลดล็อก นำเข้านํ้าเชื่อม-นํ้าตาลผสม ลากยาวสะเทือนอุตฯ 2 แสนล้าน

16 ก.พ. 2568 | 09:25 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.พ. 2568 | 09:46 น.
1.1 k

ยังเป็นประเด็นร้อนกรณีจีนระงับการนำเข้าสินค้านํ้าเชื่อมและนํ้าตาลผสม หลังได้รับการร้องเรียนว่านํ้าเชื่อมไทยไม่ปลอดภัย ทำให้เรือขนส่งนํ้าเชื่อมไทยมูลค่า 400 ล้านบาทต้องลอยลำอยู่กลางทะเลก่อนหน้านี้ จนสมาคมนํ้าตาลแปรรูปวิ่งวุ่นขอผ่อนผันการนำเข้าชั่วคราว

ลุ้นจีนปลดล็อก นำเข้านํ้าเชื่อม-นํ้าตาลผสม ลากยาวสะเทือนอุตฯ 2 แสนล้าน

“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ นายภัทรพงศ์  พงศ์สวัสดิ์  ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตนํ้าตาล จำกัด คนใหม่ ที่ให้ข้อมูลถึงความเคลื่อนไหวของปัญหาที่เกิดขึ้น และการรับมือของอุตสาหกรรมอ้อยและนํ้าตาลทรายไทย ที่สร้างรายได้ให้ประเทศกว่า 200,000 ล้านบาทต่อปี

ที่มาจีนระงับการนำเข้า

นายภัทรพงศ์  กล่าวว่า ภาพรวมช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการส่งออกนํ้าเชื่อมจากไทยไปจีนเพิ่มขึ้นตามลำดับ จากปี 2564 ที่ 475,604 ตัน  ปี 2565 เพิ่มเป็น 917,186 ตัน ปี 2566 เป็น 1.63 ล้านตัน และในปี 2567 (ม.ค.-พ.ย.) เพิ่มเป็น 1.98 ล้านตัน  และยังมีการส่งออกนํ้าตาลผสมอีกประมาณ 700,000 ตัน รวมแล้วกว่า 2.5 ล้านตัน โดยนํ้าเชื่อมและนํ้าตาลผสมส่วนใหญ่ที่ส่งไปจีนจะออกจากเขตประกอบการเสรีและเขตปลอดอากร (EPZ) เป็นหลัก มีส่วนของโรงงานนํ้าตาลในประเทศจำนวน 7 โรงงาน ที่ส่งออกเองกว่า 180,000 ตัน 

โดยปริมาณเพิ่มขึ้นมากในช่วงปี 2566 และ 2567 ส่งผลกระทบต่อการบริหารระบบนํ้าตาลภายในของจีน โดยเฉพาะราคาอ้อยและราคานํ้าตาลทรายภายในประเทศที่ปรับตัวลดลงจากการนำเข้านํ้าเชื่อมที่มีแหล่งกำเนิดสินค้าจากไทย ที่ได้สิทธิทางภาษีศุลกากรที่ 0% ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ประเทศนอกกลุ่มเสียภาษี 30%)

ต่อมามีรายงานว่ามีการนำเข้านํ้าตาลทรายดิบ และนํ้าตาลทรายขาวจากประเทศนอกเขตการค้าเสรีอาเซียน -จีน เช่น บราซิล อินเดีย และปากีสถาน มาผลิตนํ้าเชื่อมและนํ้าตาลผสม โดยผสมกับนํ้าตาลทรายของไทยจนได้แหล่งกำเนิดสินค้าไทย และได้สิทธิการลดภาษีเหลือ 0% กรณีส่งออกไปประเทศจีน ตามพันธกรณีเขตการค้าเสรี อาเซียน - จีน

ประเด็นนี้อาจจะก่อให้เกิดความไม่สบายใจกับรัฐบาลจีนเนื่องจากนํ้าตาลทรายที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศนอกกลุ่มอาเซียนกลับเข้ามาได้สิทธิพิเศษทางภาษี (ตามพันธกรณีใน WTO จีนอนุญาตให้นำเข้านํ้าตาลทราย In Quota ปีละ 1.94 ล้านตัน ที่อัตราภาษี 15% นํ้าตาลทรายนำเข้า Out Quota อัตราภาษี 50% ส่วนนํ้าเชื่อมอัตราภาษี 30%) 

ภัทรพงศ์  พงศ์สวัสดิ์  ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตนํ้าตาล จำกัด

นอกจากนี้ โรงงานที่ตั้งในเขตประกอบการเสรีและเขตปลอดอากรยังได้รับยกเว้นปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางอาหารของไทย ซึ่งถือว่าได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างจากโรงงานนํ้าตาลของไทยที่มีการผลิตและส่งออกนํ้าเชื่อมไปยังจีน เนื่องจากมีการจัดทำมาตรฐานที่ครอบคลุมทั้งภายในและต่างประเทศ  การที่สินค้าชนิดเดียวกันที่ได้แหล่งกำเนิดสินค้าไทยเหมือนกันแต่มีการกำกับดูแลด้วยมาตรฐานที่แตกต่างกันทำให้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของคู่ค้า จึงควรที่หน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาดูแลกำหนดมาตรฐานที่เป็นระบบชัดเจนและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

GACC จี้ไทยตรวจสอบมาตรฐาน

นายภัทรพงศ์ กล่าวอีกว่า  ผู้ประกอบการผลิตนํ้าเชื่อมและนํ้าตาลผสม จำนวน 78 ราย ที่ สำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) ขอให้ฝ่ายไทยตรวจประเมินผู้ประกอบการผลิตอาหารประเภทนํ้าตาลส่งออกไปยังประเทศจีนเนื่องจากได้รับการร้องเรียนว่า โรงงานทั้ง 78 ราย ที่ส่งออกผลิตภัณฑ์นํ้าตาล จำนวน 2 พิกัด ได้แก่ 1702901100 (นํ้าเชื่อม) และ 1702901200 (นํ้าตาลผสม) ของไทยบางส่วน มีสุขอนามัยไม่ได้เกณฑ์มาตรฐานและมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางอาหาร

โดยมีหนังสือมาเตือนครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2567 และต่อมาเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2567 ก็มีหนังสือแจ้งระงับการส่งออกสินค้าทั้งสองรายการไปยังจีนเป็นการชั่วคราว โดยอ้างข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องของกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยอาหารของจีน

จับตาส่งออกนํ้าตาลดิบไทยไปจีน

อย่างไรก็ตามคาดว่าปริมาณการส่งออกนํ้าตาลทรายดิบน่าจะเพิ่มมากขึ้นในปีนี้ ทั้งอินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และจีน  ทั้งนี้ ในปี 2567 ไทยส่งออกนํ้าตาลทรายดิบรวม 1.94 ล้านตัน ขณะที่ปี 2566 ส่งออกได้มากถึง 3.57 ล้านตัน เหตุผลที่ไทยส่งออกได้ลดลงเป็นผลจากการลดการนำเข้าของอินโดนีเซีย และโรงงานเพิ่มการผลิตนํ้าตาลทรายขาวเพื่อส่งไปป้อนโรงงานผลิตนํ้าเชื่อมและนํ้าตาลผสมในเขต EPZ

“การลดปริมาณการนำเข้านํ้าเชื่อมและนํ้าตาลผสมของจีนในปี 2567 โดยที่ไทยเป็นผู้ส่งออกหลักนั้น น่าจะทำให้จีนหันมานำเข้าเป็นนํ้าตาลทรายดิบและขาวแทนบางส่วน เนื่องจากแต่ละปีจีนต้องการบริโภคนํ้าตาลทรายประมาณ 15-16 ล้านตัน แต่จีนผลิตได้เอง 10-11 ล้านตัน จึงจำเป็นต้องนำเข้าบางส่วนเพื่อป้อนตลาดภายในของจีน”

หวั่นกระทบวงกว้างลุ้นจีนเร่งปลดล็อก

สำหรับความคืบหน้าล่าสุด ภาครัฐทั้งสำนักงานที่ปรึกษาด้านการเกษตรไทยประจำกรุงปักกิ่ง สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและนํ้าตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 3 สมาคมโรงงานนํ้าตาลทราย และผู้ประกอบการบางรายใน EPZ ได้เข้ามาร่วมกันประชุมเพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและการวางมาตรฐานในระยะยาว เนื่องจากการระงับการนำเข้าสินค้าทั้งสองก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างทั้งทางการค้าและชื่อเสียงของประเทศในฐานะแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก

นอกจากนี้ มกอช. ได้รวบรวมข้อมูลแนวทางการควบคุมความปลอดภัยอาหารในระบบการผลิตอาหารของไทย พร้อมทั้งรายชื่อผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองจาก อย. ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตอาหารของไทยส่งให้กับ GACC ของจีนเพื่อให้พิจารณายกเลิกการระงับการนำเข้าสินค้าดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตอนนี้อยู่ในช่วงรอท่าทีของฝ่ายจีนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งคาดว่าระยะเวลาในการแก้ไขปัญหาน่าจะใช้เวลา 2-3 เดือน และหวังว่าจีนจะพิจารณายกเลิกการห้ามการนำเข้าให้กับโรงงานที่มีความพร้อมก่อน

ส่วนผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายที่ส่งออกน้ำเชื่อม ได้รับการกำกับดูแลจาก สอน. และหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ มีการทำมาตรฐานการผลิตที่หลากหลายและครอบคลุม จึงมีความมั่นใจและพร้อมร่วมรับการตรวจสอบจากหน่วยงานทั้งไทยและจีน  ที่จะเข้ามาตรวจสอบสถานที่ผลิต กระบวนการผลิต และการขนส่ง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับทางการจีนและผู้บริโภคของจีน

นายภัทรพงศ์ ระบุอีกว่า จากสถิติการส่งออกน้ำตาลไปเขต EPZ (เขตประกอบการเสรีและเขตปลอดอากร) ของไทยจะเห็นว่า ในปี 2567 มีตัวเลขมากถึง 1.13 ล้านตัน ซึ่งถือว่าเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 1 แทนที่อินโดนีเซียซึ่งปกติจะเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 1 ของไทย  การที่ตลาดกลุ่ม EPZ หายไปย่อมมีผลกระทบกับตลาดและพรีเมี่ยมน้ำตาลไทยค่อนข้างมาก (มูลค่าน้ำตาลที่ล้านกว่าตัน ประมาณ 20,000 ล้านบาท)

อย่างไรก็ตาม คาดว่าตลาดจะมีการปรับตัวและพรีเมี่ยมน่าจะปรับสูงขึ้น เนื่องจากตลาดเอเชียยังมีความต้องการใช้น้ำตาลทรายโดยเฉพาะน้ำตาลทรายขาว และยังมีปัจจัยอีกหลายประการที่เข้ามามีอิทธิพลกับพรีเมี่ยมและราคาน้ำตาลในตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจมหภาพ นโยบายการนำเข้า-ส่งออกของประเทศสำคัญ นโยบายการสนับสนุนพลังงานทดแทน และ สภาพอากาศ เป็นต้น

โฟกัสปริมาณอ้อย-น้ำตาลปี 68

สำหรับในปี 2568 คาดว่าปริมาณอ้อยของไทยโดยรวมอยู่ที่ 92-93 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลทรายได้รวม 10.5 - 11 ล้านตัน มีน้ำตาลทรายส่งออกประมาณ 7.5- 8 ล้านตัน คาดว่าสัดส่วนน้ำตาลทรายดิบต่อน้ำตาลทรายขาวที่ 40:60  

“ปี 2568 อุปสรรคที่ทำให้ผลผลิตอ้อยตกต่ำจะมีปัจจัยที่มามีอิทธิพลสำคัญหลายประการ ได้แก่ ราคาอ้อย ราคาพืชคู่แข่ง สภาพอากาศ การเคลื่อนไหวของราคาน้ำตาลในตลาดโลก และแนวนโยบายด้านพลังงานทดแทนของภาครัฐ เป็นต้น โดยอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย สร้างรายได้ให้ประเทศกว่า 200,000 ล้านบาทต่อปี”

อย่างไรก็ตาม ในปี 2567/68 ไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลดิบลำดับที่ 2 ของโลกรองจากประเทศบราซิล  เหตุผลสำคัญของการขยับขึ้นลงของสถานะผู้ส่งออกมาจากปริมาณอ้อยเป็นหลัก และจากนโยบายของประเทศผู้ผลิตอื่น ๆ เช่น อินเดีย ที่มีการห้ามการส่งออกในบางปี แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลอินเดียได้ออกมาประกาศอนุญาตให้มีการส่งออกน้ำตาลได้ 1 ล้านตัน ในปี 2568 นี้ ซึ่งมีผลกดดันราคาน้ำตาลตลาดโลกอยู่บ้าง แต่รายงานบทวิเคราะห์ล่าสุดเห็นว่า ผลผลิตของอินเดียเองก็ลดลงจากปีที่แล้ว ทำให้การส่งออกน่าจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ แต่น่าจะสามารถส่งออกได้ในช่วงครึ่งหลังของปี