ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายจากปัญหาความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจ และข้อจำกัดเชิงนโยบายและสินเชื่อที่เป็นอุปสรรคต่อประชาชนในการเข้าถึงที่อยู่อาศัย ท่ามกลางสถานการณ์นี้
นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ได้กล่าวถึงการคาดการณ์อสังหาริมทรัพย์ในปีนี้ว่า แม้จะมีความหวังเล็กน้อย แต่ภาพรวมยังคงต้องลุ้น โดยสถานการณ์ยังดูไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากธนาคารยังไม่มีความยืดหยุ่นในการปล่อยสินเชื่อ ธุรกิจในตลาดหุ้นก็ยังอยู่ในภาวะไม่สู้ดีนัก
และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนยังคงมีข้อจำกัดสูง ทำให้หลายคนต้องพึ่งพาแหล่งเงินทุนนอกระบบ ซึ่งหากสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ดีขึ้นในอีก 6-8 เดือน อาจทำให้ผู้ประกอบการหรือผู้ที่ต้องการเงินทุนเผชิญกับปัญหาหนี้สินนอกระบบมากขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจและการเงินที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา 6 สมาคมที่เกี่ยวข้องด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน สมาคมการขายและการตลาดอสังหาริมทรัพย์ สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย ร่วมกับ สมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้เข้าพบนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นายอิสระ บุญยัง ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบ และก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ทั้ง 6 องค์กรด้านอสังหาริมทรัพย์ ได้เข้าพบนายพิชัย เพื่อยื่นหนังสือให้ออก 4 มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์มาตรการที่เสนอที่ประกอบไปด้วย
ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว จะช่วยให้ GDP เติบโตเพิ่มขึ้นได้ถึง 1.8% และนอกจากการยื่นข้อเสนอ 4 มาตรการดังกล่าวแล้ว ยังได้มีการหารือถึงสถานการณ์ภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2568
โดยผู้ประกอบการยังคงต้องเผชิญกับปัญหาหลายด้านที่ต่อเนื่องมาจากปี 2567 และโดยเฉพาะในเรื่องกำลังซื้อของประชาชนที่ยังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการที่ลูกค้าจำนวนมากไม่สามารถผ่านเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อได้
นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผยสถานการณ์การหารือกับกระทรวงการคลังกับ “ฐานเศรษฐกิจ” โดยระบุว่า ทางกระทรวงการคลังนำโดยนายพิชัย มีท่าทีตอบรับข้อเสนอจากภาคเอกชนและสมาคมอสังหาริมทรัพย์หลายประเด็นที่ถูกนำเสนอ
ซึ่งครอบคลุมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์เดิมโดยเฉพาะการขยายมาตรการลดค่าจดจำนองและโอนกรรมสิทธิ์สำหรับที่อยู่อาศัยราคาตํ่ากว่า 7 ล้านบาท ให้มีการขยายระยะเวลาออกไปอีกหนึ่งปี
ในส่วนของนโยบาย Loan-to-Value (LTV) นายประเสริฐกล่าวว่า ทางกระทรวงการคลังได้รับฟังและจะนำไปหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อพิจารณาการปรับเงื่อนไขให้เหมาะสมมากขึ้น เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อของประชาชน พร้อมทั้งเน้นยํ้าถึงความจำเป็นของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อกระตุ้นการลงทุนในภาคอสังหาฯ ซึ่งยังคงอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากวิกฤตในปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ นายประเสริฐยังได้เสนอถึงแนวคิดการวางโครงสร้างถาวรสิทธิการเช่าระยะยาวสำหรับชาวต่างชาติ โดยเสนอให้จำกัดสิทธิการเช่าไม่เกิน 60 ปี พร้อมจัดเก็บภาษีอย่างเหมาะสม เพื่อนำรายได้ส่วนนี้มาใช้เป็นกองทุนสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับคนไทยผู้มีรายได้ปานกลางถึงตํ่า
ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมให้คนไทยสามารถเข้าถึงการมีบ้านได้ง่ายขึ้น ซึ่งนายพิชัยก็ได้มีการเก็บข้อมูลรายละเอียด และมีท่าทีที่สนใจแนวทางการแก้ไขเชิงโครงสร้างถาวรนี้เช่นเดียวกัน
นายประเสริฐได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่ภาคอสังหาฯ ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจที่ชะลอตัว หนี้ครัวเรือนสูง อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมือง
แต่ในไตรมาส 4 ของปี 2566 เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวจากจุดตํ่าสุดในไตรมาส 3 อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวนี้ยังต้องอาศัยมาตรการระยะสั้นและโครงสร้างระยะยาวจากภาครัฐเพื่อประคับประคองตลาดต่อไปในอนาคต
หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,065 วันที่ 26 - 29 มกราคม พ.ศ. 2568