เปิดข้อเสนอเอกชน จี้รัฐปล่อยผีธุรกิจกลางคืน ดันรายได้ 5 หมื่นล้าน

14 ก.พ. 2568 | 08:06 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.พ. 2568 | 08:07 น.

เปิดข้อเสนอเอกชนท่องเที่ยว ร้านอาหาร สถานบันเทิง ร้องรัฐปลดล็อกธุรกิจกลางคืน ขายแอลกอฮอล์ 24 ชั่วโมง กิโยตินกฏหมาย ดันรายได้ 5 หมื่นล้าน

ก่อนโควิด-19 นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทย มีค่าใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่ม รวมกว่า 4 แสนล้านบาท และมีการใช้จ่ายเพื่อความบันเทิงยามค่ำคืนในสถานบันเทิง ผับ บาร์ (Night Entertainment) มีสัดส่วน 30% ของค่าใช้จ่ายเพื่อความบันเทิงทั้งหมด คิดเป็นรายรับกว่า 5 หมื่นล้านบาท

โดยจะเห็นได้ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงความบันเทิงยามค่ำคืนสูงถึง 1 ใน 4 ของค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย

นี่จึงเป็นเหตุผลให้กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ โรงแรม ร้านอาหาร สถานบันเทิง และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ต่างพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะขอรัฐบาลปลดล็อกให้สามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ 24 ชั่วโมง

นายสง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจถนนข้าวสาร เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการต่างๆได้เรียกร้องขอให้รัฐบาลปลดล็อกข้อจำกัดในการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 5 ปี

เปิดข้อเสนอเอกชน จี้รัฐปล่อยผีธุรกิจกลางคืน ดันรายได้ 5 หมื่นล้าน

ตั้งแต่ยุคพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งถ้าน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งให้ศึกษาการยกเลิกการห้ามขายแอลกอฮอล์เวลา 14.00 -17.00 น. และวันสำคัญทางศาสนา ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเสนอ ได้ตามที่เอกชนเสนอ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวข้องและการท่องเที่ยวไทย

สำหรับการเรียกร้องของเอกชนครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ปี 2566 จากการรวมตัวของเอกชนจาก 10 สมาคม ทั้งสมาคมผู้ประกอบการร้านอาหาร สมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร สมาคมบาร์เทนเดอร์ไทย สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย สมาคมธุรกิจร้านอาหารกลางคืน สมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ สมาคมการค้าธุรกิจร้านอาหาร สมาคมอุตสาหกรรมบันเทิงและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา สมาคมสุราท้องถิ่นไทย สมาคมโรงแรมไทยรวมทั้งสมาพันธ์เครือข่ายคนบันเทิงอาชีพแห่งประเทศไทย ชมรมสถานบันเทิงหาดป่าทอง

 

กลุ่มผู้ประกอบการสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ไร่องุ่นซูนแวลลีย์ ละมอนซูนแวลลีย์ ไวน์บาร์ โดยภาคเอกชน ได้เสนอข้อเรียกร้องไปใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

ประเด็นแรก ขอให้พิจารณาปรับปรุง ยกเลิกมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ล้าสมัย (กิโยตินกฏหมาย) หรือเป็นอุปสรรคต่อการประกอบการหรือสร้างภาระเดือดร้อนแก่ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวและบริการ ไม่ได้สัดส่วนกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ลดทอนบรรยากาศและภาพลักษณ์ที่ดีด้านการท่องเที่ยว รวมถึงกระทบสิทธิของนักท่องเที่ยวและผู้บริโภค

ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน ยกระดับประสิทธิผลของมาตรการให้สามารถสนับสนุนการขับเคลื่อนเป้าหมายด้านการท่องเที่ยวและยุทธศาสตร์ Soft Power ของภาครัฐ ดังข้อเสนอแนะของสำนักงาน ป.ย.ป. และสำนักงานคณะกรรมกฤษฎีกา ประกอบด้วย

1. พิจารณาปรับปรุงกำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลัง 24.00 น. และอนุญาตให้ร้านอาหารและเครื่องดื่ม สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สามารถขายและให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ถึงเวลา 2.00 น.

2. พิจารณายกเลิกการกำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างเวลา 14.00-17.00 น. ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2558

3. พิจารณากำหนดให้การขาย การให้บริการ และการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานนานาชาติสามารถกระทำได้ตลอดเวลา

4. พิจารณายกเลิกการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา หรือหอพักบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2558 และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษา พ.ศ. 2558

เนื่องด้วยมาตรการห้ามขายสุราในเชิงพื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะเหมารวมส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจโดยตรง เช่น โรงแรมที่พัก ร้านค้าปลีก ร้านอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงห้างสรรพสินค้า สร้างความไม่สะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไป

5. พิจารณาปรับปรุงมาตรการจำกัดการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มีความชัดเจน โดยให้การแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้า ราคาสินค้า ภาพสินค้า และเครื่องหมาย ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานในการตัดสินใจซื้อ และเป็นข้อเท็จจริง สามารถกระทำได้ ณ สถานที่ขาย เช่น ในบริเวณร้านค้าร้านอาหารและเครื่องดื่ม ในรายการอาหาร สถานบริการ ผับ บาร์

ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการจำกัดการโฆษณาซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันมิให้มีการโฆษณาเกินความจริงหรือเพื่อชักจูงใจให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากยิ่งขึ้น หรือชักจูงใจเยาวชน ลดอุปสรรคของผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ รวมถึงคงไว้ซึ่งสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นและพอเพียงต่อการตัดสินใจซื้อหรือบริโภคของลูกค้าและนักท่องเที่ยว

ประเด็นที่ 2 คือ เร่งกำหนดพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวยามค่ำคืน (Special Socialized and Night TourismZone) เพื่อเป็น “Soft Power” ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการสังสรรค์และความบันเทิงยามค่ำคืนและเป็นชาติผู้นำด้านการท่องเที่ยวที่ครบวงจรและปลอดภัยในระดับโลก ได้แก่

กรุงเทพมหานคร : ถนนข้าวสาร ถนนสีลม (ซอยพัฒน์พงษ์ และซอยธนิยะ) ถนนรัชดาภิเษก ถนนสุขุมวิท (ซอยสุขุมวิท 11 ชอยคาวบอย ซอยนานา ซอยทองหล่อ และซอยเอกมัย) จังหวัดภูเก็ต : ซอยบางลา เมืองพัทยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี : หาดเฉวง เกาะสมุย และหาดริ้น เกาะพะงัน พังงา : เขาหลัก กระบี่ : อ่าวนาง ประจวบคีรีขันธ์ : เมืองหัวหิน จังหวัดสงขลา : เมืองหาดใหญ่ เมืองสะเดา จังหวัดเชียงใหม่ : ถนนนิมมานเหมินทร์

ประเด็นที่ 3 เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาศักยภาพและทักษะแก่บุคคลากรด้านการท่องเที่ยวและบริการ เช่น การสร้างจิตสำนึกการให้บริการอย่างรับผิดชอบ พัฒนาทักษะการบริการและการสื่อสาร ความเข้าใจและเคารพในวัฒนธรรมและความเชื่อที่แตกต่าง ความรู้เรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพ เป็นต้น เพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการและเพิ่มโอกาสการเติบโตในหน้าที่งาน

นอกจากนี้ ควรส่งเสริมการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับการดื่มอย่างพอประมาณ และการสร้างความตระหนักรู้ต่อผลกระทบจากการดื่มอย่างเป็นอันตราย เพื่อส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม ของทั้งผู้บริโภค นักท่องเที่ยว และผู้ประกอบการ ซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืน ด้านการท่องเที่ยวและบริการต่อไป