แก้ปัญหาคนไร้สัญชาติ สปสช. เร่งพิสูจน์สัญชาติไทย รู้ผลใน 5 วัน 

10 ม.ค. 2568 | 03:00 น.

สปสช. เดินหน้าคุ้มครอง "สิทธิบัตรทอง" ร่วมขับเคลื่อน "พิสูจน์สถานะบุคคลรับสัญชาติไทย" ตามมติ ครม. แก้ปัญหาคนไร้สัญชาติ ปรับกระบวนการเร่งพิสูจน์สถานะด้วยระบบใหม่จากปีละ 10,000 รายเป็นทำได้ใน 5 วัน พร้อมรับสิทธิบัตรทองทันที มท. รับลูกเตรียมออกประกาศรองรับ

บทบาทสำคัญของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. นอกจากบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) แล้วยังมีหน้าที่ในการคุ้มครองคนไทยทุกคนให้เข้าถึงสิทธิบัตรทอง ไม่เพียงแต่ประชาชนที่มีบัตรประชาชนเท่านั้นแต่รวมถึงคุ้มครองคนไทยที่รอการพิสูจน์สถานะให้เข้าถึงสิทธิบัตรทองด้วย

ล่าสุด รศ.ภญ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า สปสช.ได้ร่วมขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้การรับรองสัญชาติไทย โดยช่วงเดือนธันวาคม 2567 ได้จัดประชุมเรื่องเกณฑ์การพิจารณาได้สัญชาติไทย ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 29 ต.ค. 2567

เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการจากตัวแทนหน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งร่วมให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่าง ๆ ประกอบด้วย สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักบริหารการทะเบียน และสำนักกิจการความมั่นคงภายใน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้แทนโรงพยาบาลที่ร่วมเป็นหน่วยเก็บสิ่งส่งตรวจดีเอ็นเอ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีองค์กรพัฒนาภาคประชาชนที่ทำงานด้านการคุ้มครองส่งเสริมสิทธิ อาทิ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย องค์การแพลนอินเตอร์ เนชั่นแนล ประเทศไทย สมาคมพราว เข้าร่วมประชุมและให้ข้อมูล 

วัตถุประสงค์ของการประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจในหลักเกณฑ์เร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน และกลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักรตามมติ ครม. วันที่ 29 ต.ค. 67 ต้องย้ำว่า เป็นการให้สิทธิเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ 19 กลุ่มที่อพยพมาอยู่ในไทยเป็นเวลานานจนกลมกลืนและลูกหลานของคนกลุ่มนี้เท่านั้น มีจำนวน 4.8 แสนราย ไม่ครอบคลุมผู้ที่เป็นแรงงานข้ามชาติ

อย่างไรก็ดี ด้วยขั้นตอนการพิสูจน์สถานะที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานจนทำให้เกิดความล่าช้าซึ่งแต่ละปีสามารถพิสูจน์สิทธิการเป็นสัญชาติไทยได้เพียงปีละ 10,000 คนเท่านั้น 

ดังนั้น จึงมีแนวทางปรับกระบวนการที่ให้ผู้ยื่นคำร้องสามารถรับรองตนเองว่า เข้าเงื่อนไขตามที่กำหนดได้โดยนายทะเบียนจะเป็นผู้พิจารณาให้ใบสำคัญยืนยันถิ่นที่อยู่หรือสัญชาติไทย นอกจากลดเวลาสามารถดำเนินการได้ภายใน 5 วันแล้วยังมีความสะดวกเพราะทุกขั้นตอนทำได้ ณ ที่ว่าการอำเภอ 

อย่างไรก็ดี หลังจากออกใบรับรองสัญชาติไทยแล้ว นายทะเบียนจะทำการตรวจสอบประวัติย้อนหลัง หากพบว่ามีการรับรองตัวเองเป็นเท็จก็จะถูกเพิกถอนสัญชาติไทย กลับไปเป็นบุคคลไร้สถานะเหมือนเดิม นอกจากนี้ในพื้นที่มีผู้รอพิสูจน์สถานะจำนวนมากยังมีแนวทางการจัด Mobile Unit เข้าไปดำเนินการโดยอาศัยอำนาจของอธิบดีกรมการปกครอง

รศ.ภญ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  

จากการประชุมทราบว่า ขณะนี้การดำเนินการทั้ง 2 แนวทาง กระทรวงมหาดไทยเตรียมที่จะออกประกาศรองรับ โดยสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติจะรายงานความคืบหน้าทุก 1 ปี ภายหลังจากการออกประกาศเพื่อติดตามดูข้อมูลผู้ที่ได้รับสัญชาติและผู้ที่ยังรอพิสูจน์สถานะที่ต้องมีความสอดคล้องกัน

ในส่วนของ สปสช. จากที่ได้ร่วมขับเคลื่อนในกรณีผู้ที่ได้รับสัญชาติไทยเรียบร้อยแล้วก็จะได้รับสิทธิต่าง ๆ ความเป็นคนไทย รวมถึงสิทธิบัตรทองด้วยที่เป็นของคนไทยทุกคน โดยทาง สปสช. จะทำการขึ้นทะเบียนสิทธิที่หน่วยบริการ ทำให้บุคคลดังกล่าวสามารถเข้ารับบริการโดยใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตามสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่มีในระบบ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ที่ผ่านมามีกลุ่มคนไทยที่รอพิสูจน์สถานะที่มีภาวะเจ็บป่วยไม่สามารถใช้สิทธิรับบริการได้ ทำให้เข้าไปถึงการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขที่จำเป็น ซึ่งความร่วมมือจากทุกหน่วยงานในครั้งนี้ จะทำให้เกิดความเท่าเทียมในสิทธิสุขภาพเหมือนกับประชาชนไทยด้วยกัน    

สำหรับกลุ่มเป้าหมาย 4.8 แสนคน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1. บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน (ก่อน พ.ศ. 2542) ได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติไว้แล้วในอดีตถึง พ.ศ. 2542 และสำรวจเพิ่มเติม พ.ศ. 2548 - 2554 รวมทั้งกลุ่มตกสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2554 มีเลขประจำตัว 13 หลัก ไม่ได้เกิดในไทย แต่อพยพมาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน ปัจจุบันมีจำนวน 340,101 แสนราย

การดำเนินการ คือ ได้รับสถานะคนต่างด้าวเข้าเมือง โดยชอบด้วยกฎหมาย (มีถิ่นที่อยู่ถาวร) จะมีการออกใบสำคัญถิ่นที่อยู่ถาวรและเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านให้แก่คนกลุ่มนี้ แต่จะยังไม่ได้รับสัญชาติไทย อย่างไรก็ดีหลังจากผ่านไป 5 ปีแล้ว คนกลุ่มนี้จะมีสิทธิในการขอแปลงสัญชาติเป็นสัญชาติไทยได้ต่อไป  

2. บุตรของบุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานานที่เกิดในราชอาณาจักร ลูกหลานของคนกลุ่มแรกและเกิดในไทย เช่น บุตรของชนกลุ่มน้อย/กลุ่มชาติพันธุ์ 19 กลุ่ม (ไม่รวมชาวต่างด้าวอื่น ๆ) ปัจจุบันมีจำนวน 143,525 แสนราย โดยสามารถยื่นขอสัญชาติไทยและขอทำบัตรประชาชนได้ทันที