จากการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ที่มีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นั่งเป็นประธานการประชุมนัดแรกในปี 2568 เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา
ที่ประชุมได้พิจารณาและเห็นชอบ (ร่าง) ข้อเสนองบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2569 ตามมติคณะอนุกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ นำเสนอโดย นางมานิดา ภู่เจริญ ประธานอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการและให้ สปสช. เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ต่อไปนั้น
นายสมศักดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธานการประชุม บอร์ด สปสช. เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า สปสช. เห็นชอบข้อเสนองบประมาณหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2569 วงเงินงบประมาณ จำนวน 272,583.32 ล้านบาทเพื่อดูแลประชากร 47.50 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณ 2568 ได้เพิ่มขึ้น 36,196.80 ล้านบาท หรือ คิดเป็นร้อยละ 19.51 ได้งบเหมาจ่ายรายหัว 4,298.24 บาท เพิ่มขึ้น 442.16 บาท
พร้อมกันนี้ยังได้เห็นชอบด้านกรอบวงเงินสำหรับยา วัคซีน เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษที่ให้เครือข่ายหน่วยบริการด้านยาและเวชภัณฑ์จัดหาให้ปีงบประมาณ 2569 รวมงบประมาณจำนวน 13,617.10 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.2 จากปีที่ผ่านมา
"ในปี 2569 รัฐบาลมีนโยบายที่มุ่งมั่นยกระดับการดูแลสุขภาพให้กับประชาชน ทั้งการต่อยอดนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ลดโรคไม่ติดต่อที่สำคัญ จัดบริการสุขภาพเชิงรุก บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เป็นต้น
เหล่านี้ส่วนหนึ่งจะขับเคลื่อนภายใต้งบประมาณกองทุนบัตรทองฯ ที่เป็นข้อเสนองบประมาณปี 2569 ซึ่งบอร์ด สปสช. เห็นชอบวันนี้ โดยผมจะนำเสนอต่อ ครม. เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป" นายสมศักดิ์ รมว.สาธารณสุข กล่าว
สำหรับงบประมาณ ปี 2569 มีรายละเอียด ดังนี้
1.งบเหมาจ่ายรายหัวจำนวน 204,174.99 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 4,298.24 บาทต่อประชากรเพื่อดูแลประชากร 47.50 ล้านคน
2.งบค่าบริการนอกงบเหมาจ่ายรายหัว จำนวน 68,408.32 ล้านบาท ขอเพิ่มเติมมา 13,862.97 ล้านบาท หรือ คิดเป็นร้อยละ 25.42 แบ่งออกเป็น
เมื่อหักเงินเดือนภาครัฐในระบบปกติจำนวน 71,446.45 ล้านบาท จะเหลือเป็นงบประมาณที่ให้ สปสช. บริหารทั้งสิ้นจำนวน 201,136.87 ล้านบาท
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ปีนี้ สปสช.ของบประมาณเพิ่มขึ้นจำนวน 36,196.80 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 19.51 ซึ่งเป็นงบฯที่คำนวณขึ้นมาก่อนและยังมีกระบวนการอีกหลายขั้นตอน โดยงบประมาณส่วนใหญ่เกินครึ่งเป็นเรื่องของนโยบายใหม่ ได้แก่ 30 บาทรักษาทุกที่ การขยายบริการโรคเอ็นซีดี (โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs) การสร้างเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันโรค
ส่วนการสนับสนุนนโยบายด้านสุขภาพของรัฐบาล จำนวน 26 รายการ เป็นวงเงินจำนวน 21,058.58 ล้านบาท และยังมีอีก 10 สิทธิประโยชน์ใหม่ซึ่งจะรวมวงเงิน 1,276.54 ล้านบาท เมื่อหักเงินเดือนภาครัฐในระบบปกติจะเหลือเป็นงบประมาณที่ให้ สปสช. บริหารทั้งสิ้นจำนวน 201,136.87 ล้านบาท
ทั้งนี้ การตั้งงบประมาณปี 2569 ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของที่ประชุม ครม.ว่าจะอนุมัติตามที่ขอไว้หรือไม่ โดยในปี 2568 มีการตั้งงบฯไว้ที่ 240,786.78 ล้านบาท ได้รับที่ 236,386.52 ล้านบาท ขณะที่งบฯปี 2567 ได้รับวงเงิน 217,628.95 ล้านบาท