ปัญหาการจราจรติดขัด จนทำให้เกิด "รถติดหนัก" ถือเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่สำหรับคนกรุงเทพฯ ที่ต้องพบเจอกันมายาวนาน โดยที่ผ่านมามีข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้วิเคราะห์จุดที่มีปัญหาการจราจรติดขัด หรือ จุดฝืด ในกรุงเทพฯ พบว่ามีจุดฝืดรวมกว่า 127 จุด อยู่ในพื้นที่ กทม. 99 จุด ส่วนจุดอื่นอีก 28 จุด เป็นหน่วยงานอื่นดูแล เช่น การรถไฟ กรมทางหลวงชนบท การทางพิเศษ
โดยในส่วนของพื้นที่การดูแลของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ปี 2567 ได้ดำเนินการไปแล้ว 50 จุด และจะดำเนินการในปี 2568 ประมาณ 70 จุด โดยจะเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากจากปี 2567 จำนวน 49 จุด และวิเคราะห์เพิ่มเติมจาก Traffy foundue และสำนักงานเขตอีก 22 จุดด้วยกัน
สำหรับภาพรวมจุดที่จะดำเนินการแก้ปัญหาจราจรติดขัด (จุดฝืด) ปีงบประมาณ 2568 แบ่งตามกลุ่มเขต ประกอบด้วย
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์แนวทางแก้ไขปัญหาจราจรติดขัด แบ่งเป็น คอขวด 19 จุด ทางแยก 37 จุด จุดกลับรถ 10 จุด และป้ายรถประจำทาง 4 จุด
นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกทม. กล่าวว่า สาเหตุปัญหาการจราจรติดขัดในกรุงเทพฯ ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา แบ่งปัญหาได้ 3 ด้านด้วยกันคือ
1. เรื่องวินัยจราจร อาทิ การจอดรับส่งนักเรียน การจอดรับส่งสินค้า รถแท็กซี่ สามล้อ รอรับผู้โดยสาร รถบัสที่จอดรอนักท่องเที่ยว
2. ลักษณะกายภาพถนน อาทิ ปัญหาด้านจุดกลับรถ คอสะพาน ทางขึ้นลงอุโมงค์ การก่อสร้างที่รบกวนผิวจราจร
3. การบริหารจัดการจราจร อาทิ จังหวะของสัญญาณไฟไม่สัมพันธ์กับปริมาณรถ
โดยในเรื่องแรกนั้น กทม. ร่วมมือกับตำรวจในการนำเทคโนโลยีกล้องวงจรปิดมาช่วยในการกวดขันวินัยจราจร ในจุดห้ามจอดต่างๆ เรื่องที่สองการปรับปรุงทางกายภาพ ได้ปรับปรุงทำถนนผายปากไปหลายจุด รวมถึงการปรับปรุงทางแยกต่าง ๆ เส้นนำทางที่ช่วยให้การใช้ถนนชัดเจนมากขึ้น
อีกเรื่องคือการร่วมมือกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Jica) ในการทำ Area Traffic control การควบคุมสัญญาณไฟให้มีความสัมพันธ์กับปริมาณรถบริเวณถนนประดิพัทธ์ ถนนพหลโยธิน ถนนราชวิถี ถนนพระรามที่ 6 ซึ่งสามารถเพิ่มความเร็วของรถได้ 10 - 30%
ขณะที่ สนข. ได้วิเคราะห์จุดที่มีปัญหาการจราจรติดขัด ในกรุงเทพฯ พบว่ามีจุดฝืดรวมกว่า 127 จุด โดยในปี 2567 ได้ดำเนินการไปแล้ว 50 จุด และจะดำเนินการในปี 2568 ประมาณ 70 จุด เบื้องต้นได้วิเคราะห์แล้วว่า เมื่อโครงการปรับปรุงและแก้ปัญหาแล้วเสร็จสามารถเพิ่มความเร็วของการจราจรได้ถึง 25%
พร้อมกันนี้ ยังมีส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะและการใช้ Non-Motorized Transportation โดยส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้จักรยานในระยะ first mile / last mile โดยกำหนดเส้นทางให้มีความเหมาะสมและปรับปรุงเส้นทางให้มีความสะดวกและปลอดภัย การใช้รถไฟฟ้า รถ BRT (Bus Rapid Transit) การให้บริการรถ BMA Feeder การปรับปรุงทางเท้าและทางจักรยาน การเชื่อมต่อการเดินทางเพื่อเพิ่มความสะดวกและลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว เป็นต้น
นอกจากนี้ ได้มีการพัฒนาระบบสัญญาณไฟจราจร แบบ Area Traffic Control : ATC ตามโครงการแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ ด้วยการติดตั้งระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรเป็นพื้นที่ (ATC) เปิดใช้ระบบเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2566 ประกอบด้วย
โดยติดตั้งสัญญาณไฟจราจร 13 สัญญาณ ไฟทางแยก 4 สัญญาณ ไฟทางข้าม (ใช้สัญญาณไฟเดิมที่ติดตั้งอยู่) มีศูนย์ควบคุมตั้งอยู่ที่ สำนักการจราจรและส่ง รองรับประมาณ 500 ทางแยก
สำหรับผลการใช้สัญญาณไฟจราจรทางแยกแบบ ATC สามารถลดความล่าช้าเฉลี่ยในการเดินทางในชั่วโมงเร่งด่วนลง 10% ลดความล่าช้าเฉลี่ยในการเดินทางนอกชั่วโมงเร่งด่วนลง 30% โดยมีฐานข้อมูลปริมาณการจราจรในพื้นที่แบบ Real Time และมีการนำเทคโนโลยีมาใช้แก้ไขปัญหา เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการการจราจร
ตัวอย่างเช่น การติดตั้งและปรับปรุงระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรกางแยกแบบ Adaptive Signaling ซึ่งอยู่ระหว่างกำลังดำเนินการจำนวน 72 ทางแยก ในแนว corridor ถนนสุขุมวิท ถนนพระราม 4 ถนนพระราม 9 ถนนพหลโยธิน และทางแยกอื่น ๆ ที่มีปัญหาการจราจร คาดจะแล้วเสร็จสามารถใช้งานได้ในเดือนมีนาคมนี้ และจะดำเนินการในทางแยกอื่น ๆ ให้ครอบคลุมยิ่งขึ้นต่อไป โดยในปี 2569 มีแผนที่จะดำเนินการเพิ่มเติมอีก 200 ทางแยก
ส่วนปัญหาด้านการจราจรที่เกิดจากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มที่มีเส้นทางผ่านย่านธุรกิจ กรุงเทพมหานครร่วมกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล กำหนดเงื่อนไขให้ รฟม. เสนอมาตรการลดผลกระทบด้านการจราจรก่อนส่งมอบพื้นที่ให้ดำเนินโครงการ เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลจราจรเพื่อกำหนดเส้นทางเลี่ยง การจัด shuttle bus วิ่งรับส่งในเส้นทางที่มีการก่อสร้างเพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว เป็นต้น
พร้อมทั้งขอความร่วมมือ รฟม. ให้ปิดช่องจราจรเท่าที่จำเป็นและเร่งการคืนผิวจราจร รวมทั้งประชาสัมพันธ์การปิดช่องจราจรและทางเลี่ยงเส้นทางก่อสร้าง เพื่อให้ประชาชนทราบล่วงหน้าผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น จส.100 สวพ.91 1197 สายด่วนจราจร เป็นต้น