SMEs 85% เสี่ยงรับศึก ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทไม่ไหว

25 ธ.ค. 2567 | 15:30 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ธ.ค. 2567 | 15:43 น.

SMEs 85% เสี่ยงรับศึก ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทไม่ไหว โดยเฉพาะไมโคร SMEs ที่ต้องแบกภาระต้นทุนสูง ด้านสมาพันธ์ SMEs ไทยเสนอแผนยกระดับแรงงานและธุรกิจรับมือความผันผวนในอนาคต

การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทใน 4 จังหวัด และเฉลี่ยทั่วประเทศที่ 2.9% ส่งแรงกระเพื่อมทั้งด้านบวกและลบสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการ SME ที่คิดเป็น 99% ของธุรกิจทั้งหมดในไทย ในจำนวนนี้ 85% เป็นไมโคร SME หรือธุรกิจรายย่อยที่จ้างงานต่ำกว่า 5 คน

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME ไทย ให้สัมภาษณ์กับรายการ ‘ฐานทอล์ค’ ว่า การปรับขึ้นค่าแรงเป็นการช่วยเหลือแรงงานที่กำลังเผชิญค่าครองชีพสูงในปัจจุบัน แต่สำหรับ SME โดยเฉพาะกลุ่มที่พึ่งพาแรงงานเข้มข้น (Labor Intensive) เช่น การผลิตเสื้อผ้า สิ่งทอ และธุรกิจบริการแบบดั้งเดิม อาจได้รับผลกระทบหนัก เนื่องจากต้นทุนแรงงานเพิ่มขึ้นทันที ขณะที่มาร์จิ้นยังต่ำและไม่เพียงพอต่อการปรับตัว

นายแสงชัย เน้นว่า การปรับขึ้นค่าแรงจะได้ผลอย่างยั่งยืนก็ต่อเมื่อแรงงานมีผลิตภาพที่สูงขึ้น ซึ่งต้องอาศัยการพัฒนาทักษะ เช่น การอัปสกิล (Upskill) และรีสกิล (Reskill) ผ่านความร่วมมือของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อเตรียมแรงงานให้พร้อมรับงานใหม่ที่ต้องใช้ทักษะสูง รองรับการแข่งขันในยุคดิจิทัลและป้องกันการถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ

"ตัวอย่างที่น่าสนใจคืออินโดนีเซียที่ประกาศปรับทักษะประชาชนด้วยโครงการชื่อ Kartu Prakerja (Pre-employment card) สนับสนุนเงินทุนให้แรงงานไปพัฒนาทักษะที่ตรงกับความต้องการของธุรกิจ ซึ่งส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศพุ่งขึ้น 10 อันดับจากปี 2022 สู่อันดับ 34 ในปี 2023"

นอกจากนี้ SMEs ยังไทยต้องเผชิญความท้าทายอีกหลายด้านในปี 2568 ทั้งสงครามภูมิรัฐศาสตร์ที่ทำให้การค้าโลกไม่แน่นอน สงครามการค้าระหว่างมหาอำนาจ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่นำมาสู่กฎเกณฑ์ใหม่ เช่น CBAM (มาตรการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน) และการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

การแก้ไขปัญหาเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและเอกชน โดยภาครัฐต้องเสริมสร้างโครงการช่วยเหลือ เช่น เงินอุดหนุน BDS (Business Development Service) และมาตรการแก้หนี้ เพื่อช่วยให้ SME มีทรัพยากรในการปรับตัว พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี AI และการทำธุรกิจแบบคาร์บอนต่ำ เพื่อสร้างความได้เปรียบในตลาดใหม่ที่มุ่งเน้นความยั่งยืน

แสงชัยกล่าวทิ้งท้ายว่า “การปรับตัวครั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่การเพิ่มค่าแรง แต่คือการเปลี่ยนผ่านทั้งระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้ SME ไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก และสร้างความยั่งยืนให้กับทั้งแรงงานและผู้ประกอบการ”