หลังจากที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) ครั้งสุดท้ายของปีเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2567 มีมติลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ซึ่งก่อนหน้านั้นในวันเดียวกันคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีมติเอกฉันท์ คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.25% ต่อปี
จากการตัดสินใจของธนาคารกลางทั้ง 2 แห่งนี้ สามารถสะท้อนถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2568 ได้อย่างไรบ้าง รายการ “เข้าเรื่อง” เผยแพร่ทางยูทูปฐานเศรษฐกิจได้สัมภาษณ์พิเศษ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจไทย และสหรัฐฯ ในปีหน้า
ดร.พิพัฒน์ กล่าวว่า เศรษฐกิจของไทย และสหรัฐฯ ดูเหมือนจะอยู่คนละวงจรกัน เพราะแม้ทางสหรัฐฯจะลดดอกเบี้ย แต่มาจากสาเหตุว่าเศรษฐกิจอาจจะมีความเสี่ยงที่จะแข็งแกร่งกว่าที่คาดไปอีกสักระยะ เงินเฟ้ออาจจะสูงกว่าที่คาด ทำให้ปีหน้าอาจมีการลดอัตราดอกเบี้ยเหลือแค่ 2ครั้ง โดยที่ตลาดคาดหวังการลดดอกเบี้ย 3ครั้ง จากก่อนหน้านี้ที่ dot plot เคยออกมาว่าจะมีการลดดอกเบี้ยอีก 4ครั้งในปีหน้า และยังเชื่อว่าเงินเฟ้อปรับลดลง แต่ลงในอัตราที่ช้ากว่าที่คาดไว้
ซึ่งนี่ยังไม่ได้รวมนโยบายของทรัมป์ที่อาจจะเข้ามามีปัจจัยทำให้เศรษฐกิจ Overheated หรือเงินเฟ้ออาจจะมีความเสี่ยงสูงขึ้นได้ เพราะฉะนั้นฝั่งเฟดมีมุมมองคือความเสี่ยงอยู่ในฝั่งขาขึ้น
ทางด้านประเทศไทย กนง. มีมติคงดอกเบี้ย แต่สิ่งที่ไฮไลท์ก็คือความเสี่ยงข้างหน้าสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยภายนอก ก็คือนโยบายทรัมป์ ซึ่งกนง.ก็ได้ระบุถึงโอกาสที่จะเกิดการลดดอกเบี้ยลงได้ หากความเสี่ยงสูงขึ้น ตอนนี้จึงเหมือนเก็บกระสุนไว้ เพราะหากลดดอกเบี้ยไปตอนนี้ ช่อง Policy Space หรือ Buffer ที่มีก็จะเหลือไม่เยอะ หากมีความเสี่ยงขึ้นจะไม่สามารถช่วยได้ ก็เลยเก็บกระสุนไว้ แต่ส่งสัญญาณว่าอนาคตข้างหน้าอาจจะต้องลด
สำหรับความเสี่ยงสำคัญที่สุดของประเทศไทย ดร.พิพัฒน์ระบุว่ามี 3 เรื่องด้วยกัน
เพราะที่ผ่านมาคือการท่องเที่ยวภาคบริการทั้งสิ้น และหลังจากนี้ภาคการท่องเที่ยว ภาคบริการจะแผ่วลง
ยกตัวอย่างเช่นรถยนต์ ปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ และยังมีเรื่องของทรัมป์อีก ซึ่งหากมีการใช้นโยบายการค้า การส่งออกเรากระทบ ภาคการผลิตก็กระทบ
จะเห็นได้ว่ายอดการปล่อยสินเชื่อของภาคธนาคารติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี สะท้อนให้เห็นว่าธนาคารระมัดระวังในการปล่อยกู้ เพราะธนาคารกังวลว่าปล่อยกู้ไปแล้วจะไม่ได้คืน
เพราะฉะนั้นวันนี้สิ่งที่เป็นความเสี่ยงของประเทศไทยที่เกิดขึ้น คือทั้งเรื่องของปัจจัยพื้นฐาน ความสามารถในการแข่งขัน ศักยภาพของการเจริญเติบโตมีปัญหา แต่ไม่ใช่สภาพคล่อง ฉะนั้นวันนี้นโยบายที่ต้องทำจึงต้องมีทั้งระยะสั้นและระยะยาว ต้องมีทั้งนโยบายการเงิน นโยบายการคลังมาช่วยกัน แล้วยังต้องมีนโยบายการปฏิรูประยะยาวเพื่อเร่งการลงทุน เร่งเพิ่มผลิตภาพ เร่งศักยภาพของเศรษฐกิจให้ยกขึ้น
ซึ่งหากไม่ไปแก้ระยะยาว ไม่มีการปฏิรูป ชงเฉพาะระยะสั้นยังไงก็ไปต่อระยะยาวลำบาก หลังจากนี้เราอาจจะเห็นเศรษฐกิจไทยโตช้าเรื่อยๆ นั่นคือความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย
เมื่อพิจารณาเศรษฐกิจสหรัฐฯในแง่ของ GDP growth ยังดีอยู่ เป็นระดับที่ Above Trend, Above Potential หมายความว่าวันนี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีต่อเนื่อง จากเดิมเมื่อ 4-5 ปีที่แล้วคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะโตได้เกิน 1.8% แต่ปัจจุบันโตได้2% ซึ่งวันนี้ FOMC Member มองว่าปีที่แล้วตัวเลข 2.5% ปีหน้าน่าจะโตได้ 2.1% ปีถัดไปก็เติบโต 2% ซึ่งก็แปลว่าจะค่อยๆ กลับลงไปหาสิ่งที่เชื่อว่าเป็นระดับศักยภาพ
ข้อดีก็คือ แปลว่าเศรษฐกิจโลกก็มียักษ์ใหญ่อุ้มอยู่ ยักษ์ยังไม่อ่อนแรง เพราะสหรัฐฯเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน แต่ปัญหาก็คือ เศรษฐกิจโลกประเทศอื่นแย่หมดเลย ยุโรปโตไม่ถึง 1% ญี่ปุ่นก็เหนื่อย จีนก็เหนื่อย เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจโลกก็คงต้องถามว่าสหรัฐฯ ว่าแบกไหวไหม แต่อย่างน้อยก็มีข้อดีที่ทำให้เศรษฐกิจไทยซึ่งอยู่ในเศรษฐกิจโลกอาจจะมีความเสี่ยงน้อยลงมานิดหนึ่ง
อีกประเด็น คือความน่าสนใจในการมาลงทุนที่ประเทศไทย เพราะเมื่อไทยโตใกล้เคียงกับสหรัฐฯ ยิ่งทำให้ความน่าสนใจของการมาลงทุนในไทยเราอาจจะน้อยลงทั้งตลาดหุ้นทั้งการลงทุนจริงเป็นความท้าทายของประเทศไทย เพราะถ้าดูอัตราดอกเบี้ย ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยก็จะสูงขึ้น ฉะนั้นทั้งเรื่องของการเคลื่อนย้ายเงินทุน (Capital Flow) ทั้งเรื่องของค่าเงินก็จะมีประเด็นมากขึ้น
สุดท้าย มีการพูดถึงเรื่องของ twin transitionในปีหน้า ก็คือการเปลี่ยนผ่านทั้งในเรื่องของโลกร้อนที่ยังอยู่ ในขณะที่เทคโนโลยี AI ก็คืบคลานเข้ามาแทนที่การทำงานในยุคหน้า ในขณะที่การใช้พลังงานก็ต้องมีการเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ดร.พิพัฒน์มองว่าไทยยังเตรียมความพร้อมไม่เพียงพอทั้ง 2ประเด็น
ด้านเทคโนโลยี เราไม่ต้องเป็นผู้คิดค้นเทคโนโลยีพวกนั้นก็ได้ แต่ต้องรู้ว่าเอาเทคโนโลยีพวกนั้นไปใช้อย่างไร ต้องเตรียมความพร้อมในการสร้างความเข้าใจให้คนเข้าใจเทคโนโลยี ถ้าไทยไปเป็นส่วนหนึ่งของการคิดค้นเทคโนโลยีได้ก็ยิ่งดี ขณะที่เทรนด์ของดาต้าเซ็นเตอร์ คลาวด์ มีความสำคัญ เรื่องพลังงานสะอาด และพลังงานราคาถูกจึงมีความสำคัญ แต่หากประเทศไทยไม่ได้เพิ่มความสามารถในการผลิตพลังงานทดแทน ก็กลายเป็นว่าต้นทุนต่อประเทศอาจจะสูงขึ้นมากเกินไปหรือไม่ นั่นก็จะเป็นคำถามที่สำคัญ