ADB ชี้ชัด! นโยบายทรัมป์ 2.0 ฉุดเศรษฐกิจโลกดิ่ง

20 ธ.ค. 2567 | 16:34 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ธ.ค. 2567 | 16:51 น.

เจาะลึกผลวิเคราะห์ผลกระทบนโยบาย "โดนัลด์ ทรัมป์" สมัยที่สอง จากธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ ADB ชี้ชัดกระทบ GDP โลกลด 0.5% จีนเจอหนักสุดหด 1.2% เงินหยวนร่วง 8.9% พร้อมเปิดมาตรการกีดกันการค้า-คนเข้าเมือง

ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ ADB วิเคราะห์ ผลกระทบวิเคราะห์ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดำรงตำแหน่งสมัยที่สองของทรัมป์ต่อเศรษฐกิจในเอเชียและแปซิฟิก ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย Asian Development Outlook (ADO) ฉบับเดือนธันวาคม 2567 ระบุว่า การกลับมาของนายโดนัลด์ ทรัมป์ สู่ทำเนียบขาวอีกครั้ง หลังชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 สร้างความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะนโยบายกีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นกว่าสมัยแรก

โดนัลด์ ทรัมป์

สำหรับนโยบายสำคัญที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในสมัยที่สองของทรัมป์ ประกอบด้วย การเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 60% การเก็บภาษีนำเข้า 10-20% จากประเทศอื่นๆ การทบทวนข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-เม็กซิโก-แคนาดา การถอดถอนสถานะการค้าปกติถาวรของจีน และการใช้มาตรการปรับราคาคาร์บอนที่ชายแดน

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายด้านการเข้าเมืองที่จะเข้มงวดขึ้น โดยจะลดจำนวนผู้ลี้ภัย เพิ่มการสร้างกำแพงกั้นชายแดนเม็กซิโก และเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งคาดว่าจะทำให้การย้ายถิ่นสุทธิเข้าสหรัฐฯ ลดลงเหลือเพียง 560,000 คนต่อปี จากปัจจุบันที่มีจำนวนมากกว่า 1.1 ล้านคนต่อปี

รายงานการวิเคราะห์ล่าสุดของ ADB ระบุว่า การกลับมาของสงครามการค้าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญ โดยคาดว่าจะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงราว 0.5% ในช่วง 4 ปีข้างหน้า โดยประเทศจีนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจจะลดลง 1.2% ในช่วงปี 2568-2571 หรือเฉลี่ยปีละ 0.3% แม้ว่าในระยะแรกจีนอาจได้รับผลดีจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากค่าเงินหยวนที่อ่อนค่า

ทางด้านสหรัฐฯ เองก็จะได้รับผลกระทบไม่น้อย โดยเศรษฐกิจจะเติบโตลดลง 0.7% ส่วนประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียจะได้รับผลกระทบต่อเนื่อง ทำให้การเติบโตลดลง 0.6% ขณะที่ยูโรโซนและญี่ปุ่นจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า ที่ 0.4% และ 0.5% ตามลำดับ โดยผลกระทบส่วนใหญ่จะเริ่มเห็นชัดเจนตั้งแต่ปี 2570 เป็นต้นไป

ในด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สหรัฐฯ จะเผชิญแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 1.1% อันเป็นผลจากการขึ้นภาษีนำเข้า การดำเนินนโยบายการคลังแบบผ่อนคลาย และปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่จะรุนแรงขึ้นจากนโยบายจำกัดการเข้าเมืองที่เข้มงวด ขณะที่จีนจะได้รับผลกระทบด้านเงินเฟ้อรุนแรงกว่า โดยคาดว่าจะสูงขึ้นถึง 1.8% เนื่องจากผลกระทบซ้ำซ้อนจากภาษีนำเข้าที่สูงขึ้นและค่าเงินหยวนที่อ่อนค่า

ADB ชี้ชัด! นโยบายทรัมป์ 2.0 ฉุดเศรษฐกิจโลกดิ่ง

นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่าค่าเงินในภูมิภาคเอเชียจะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะเงินหยวนที่อาจอ่อนค่าลงมากถึง 8.9% ภายในปี 2570 เมื่อเทียบกับกรณีฐาน เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจต้องชะลอการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

ที่มา: ธนาคารพัฒนาเอเชีย