หอการค้า ชี้กนง.คงดอกเบี้ย 2.25% เหมาะสมฟื้นตัว ศก. หวังอนาคตปรับลดลงตามเฟด

19 ธ.ค. 2567 | 10:18 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ธ.ค. 2567 | 10:28 น.

หอการค้าไทย ชี้ กนง.คงดอกเบี้ยนโนบาย 2.25% เหมาะสมต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ส่งเสริมการออม หวังอนาคตจะมีการปรับลดดอกเบี้ยลง หากเศรษฐกิจไทยมีการเติบโต และเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่เหมาะสม

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ดำเนินนโยบายโดยยึดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นตัวตั้ง ซึ่งเวลานี้เงินเฟ้อรายปีของปี 2567เฉลี่ยอยู่ที่ 0.5% ขณะที่รายเดือนอยู่ที่ 0.95% ทำให้หลายฝ่ายมองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทยควรจะลดดอกเบี้ย 0.25% ด้านตลาดเองก็คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ คงจะมีการลดดอกเบี้ย 0.25% (ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25%)

ในขณะเดียวกันสหภาพยุโรป ก็เพิ่งลดดอกเบี้ยลง 0.25% ส่วนนี้แสดงให้เห็นว่าเทรนด์ดอกเบี้ยกำลังอยู่ในช่วงขาลง แต่อย่างไรก็ตามการที่มติ กนง. มีมติเอกฉันท์ตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 2.25% หอการค้าฯ มองว่าก็ยังมีความเหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ซึ่งมีปัจจัยหลักที่ กนง. คงได้พิจารณา ดังนี้

1. อัตราดอกเบี้ยของไทยตอนขาขึ้นยังไม่แรงเท่าสหรัฐฯ ที่ก่อนหน้านี้ดอกเบี้ยสหรัฐฯ ขึ้นจาก 0.25% ไปเป็น 5.5% ในขณะที่ไทยขึ้นจาก 0.5% ไปเป็น 2.5%

2.ดอกเบี้ยของไทยมองได้ว่าเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมการออม และขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่กำลังพัฒนาควรจะสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งนี้ สงครามการค้าในอนาคตที่อาจเกิดขึ้น อาจทำให้ประเทศไทยเผชิญกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจ ดังนั้น กนง. จึงเห็นว่าควรเก็บเครื่องมือทางการเงินไว้ และใช้ตามความเหมาะสม

3.นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้ง Easy E-Receipt ที่จะใช้ได้ในช่วงสิ้นปีนี้ การแจกเงิน 10,000 บาท ให้กับประชาชนจำนวน 4,000,000 ล้านคน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 40,000 ล้านบาท ในช่วงเดือน ม.ค. 68 โครงการคุณสู้ เราช่วย ซึ่งน่าจะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ จากการประหยัดดอกเบี้ยใน 1 ปี ได้ราว 80,000 – 100,000 ล้านบาท และมาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกร ไร่ละ 1,000 บาท ก็น่าจะใช้อีกเงิน 40,000 ล้านบาท

ด้านการท่องเที่ยวที่ดีขึ้นทำให้ปีนี้น่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติทะลุ 36 ล้านคนได้ รวมถึงภาคการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นเกินคาด ประกอบกับการลดดอกเบี้ยในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ยังคงมี impact ต่อเศรษฐกิจอยู่ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เห็นภาพเศรษฐกิจถูกกระตุ้นมากขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า จึงทำให้ กนง. มองว่าอาจยังไม่มีความจำเป็นในการลดดอกเบี้ยเพื่อเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงนี้

4.ค่าเงินบาททรงตัวอ่อน เอื้อต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งหาก กนง. มีการลดอัตราดอกเบี้ยตาม อาจทำให้เงินบาทอ่อนลง ขณะเดียวกันการตรึงดอกเบี้ยในอัตราที่สูงก็จะช่วยดึงดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศเข้ามาซึ่งเป็นเหตุผลอันควร

ดังนั้น ในมุมมองของหอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จึงมองว่าการที่ กนง. คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.25% เป็นเหตุผลอันสมควร เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และหากในอนาคตเศรษฐกิจไทยมีการเติบโต เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่เหมาะสม เชื่อว่า กนง. คงจะมีการพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในครั้งถัดไป