เศรษฐกิจไทยปี 2568 ส่อแววโตต่ำ 3% เทรดวอร์ป่วน ไทยเสี่ยงโดนหางเลขทรัมป์ 2.0

18 ธ.ค. 2567 | 08:00 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ธ.ค. 2567 | 16:48 น.

"วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล" แม่ทัพใหญ่ TNITY เผยมุมมองเศรษฐกิจไทยปี 2568 คาด GDP โตต่ำ 3% ชี้ไทยเสี่ยงโดนหางเลข "ทรัมป์" ขึ้นภาษีนำเข้าประเทศที่เกินนโยบายดุลการค้า พร้อมตั้งความหวังนโยบายรัฐฯ กระตุ้นเศรษฐกิจไทย

ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บริษัท ทรีนีตี้วัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ TNITY เปิดเผยว่า ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจปี 2568 คาดว่ายังคงอยู่ในทรงของการชะลอตัว หรือฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีทั้งปัจจัยเชิงบวก เช่น นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้น ความต้องการบริโภคที่ขยายตัว รวมถึงการจับจ่ายใช้สอย

ทั้งนี้ มองว่าเศรษฐกิจประเทศไทยในปี 2568 อัตราการเติบโตของ GPD อาจต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์เฉลี่ยที่ระดับ 3% โดยอาจหดตัวอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับปี 2567 หรืออยู่ในระดับช่วงประมาณ 2.6-2.8%  แม้ว่าปัจจัยภายในประเทศดูมีทิศทางที่ดีขึ้น หลักๆ เป็นไปตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการอัดฉีดเงินลงทุนของรัฐฯ

รวมถึงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เฟส 2 ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีชึ้นไป และแจกเงินดิจิทัล 10,000 เฟส 3 ให้กับกลุ่มลงทะเบียนผ่านแอปฯ “ทางรัฐ” เมื่อวันที่ 15 ก.ย.67 ที่ผ่านมา ที่คาดว่าจะเข้ามาช่วยกระตุ้นการบริโภคและการจับจ่ายใช้สอยในประเทศได้บ้างแต่ไม่มาก

พร้อมกันนี้ ก็ยังคงต้องความหวังที่การอัดฉีดเม็ดลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่างๆ รวมถึงการผลักดันของโปรเจ็กต์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ซึ่งจะเป็นอีกแรงหนุนสำคัญในการใส่เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ตั้งแต่การดำเนินการก่อสร้าง ไปจนถึงในด้านของการท่องเที่ยว

ประกอบกับยังต้องจับตาแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติ ซึ่งทางฝ่ายคาดการณ์ว่าในปี 68 จะได้เห็นการปรับลงอีก 1 ครั้ง ที่ 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 2% หากว่ามีเซอร์ไพรส์แบงก์ชาติหั่นดอกเบี้ยไทยลงมาเหลือที่ราว 1.5% ได้ ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับอัตราเงินเฟ้อ จะช่วยชดเชยผลกระทบจากเทรดวอร์ลงได้ ต้นทุนทางการเงินภาคเอกชนลดลง

ขณะที่ปัจจัยลบที่จะเข้ามากระทบต่อเศรษฐกิจปี 2568 นั้น หลักๆ ยังคงมาจากความไม่แน่นอนของนโยบายการบริหารประเทศ หลังจากที่ "โดนัลด์ ทรัมป์" ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำให้ได้หวนคืนสู่ทำเนียบขาวเป็นสมัยที่ 2 แต่การกลับมาของทรัมป์ในครั้งนี้ก็มาพร้อมกับความวุ่นวายพอสมควร และปั่นกระแสด้วยการออกมาเปรยนโยบายต่างๆ เป็นระยะๆ

ทำให้ตลาดเกิดความกังวลใจ แม้ว่าด้วยนโยบายการปรับลดภาษีนิติบุคคลของ "ทรัมป์" จะส่งอานิสงส์เชิงบวกต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้กระแสเงินทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดหุ้นเอเชีย รวมถึงไทยกลับไปยังสหรัฐฯ จะเห็นได้ว่ากระแสเงินทุนต่าวชาติเริ่มีการไหลออกอย่างชัดเจนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนต.ค. เป็นต้นมา

นอกจากนี้ ไทยยังคงมีความเสี่ยงจากการโดนหางเลขของการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า "ทรัมป์" มีนโยบายในการขึ้นภาษีนำเข้าโดยเฉพาะในประเทศที่มีตัวเลขการค้าที่เกินดุล แน่นอนว่าอันดับหนึ่งในสายตาคงหนีไม่พ้นประเทศจีน เม็กซิโก และแคนาดา รวมไปถึงเอเชียด้วย

หากไปดูไส้ในรายละเอียดประเทศที่ขาดดุลการค้านอกเหนือจากจีนแล้ว ในเอเชียยังมีประเทศเวียดนาม มาเลเซีย และไทย ร่วมด้วย ส่งผลให้ในปี 2568 ไทยมีความเสี่ยงเรื่องความไม่แน่นอนในการถูกหางเลขโดนปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือนต.ค.-ธ.ค. จะเห็นได้ว่ายอดตัวเลขการส่งออกของไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการสต็อกสินค้าเพราะกังวลว่าหลังจากที่ทรัมป์เข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในช่วงต้นปี 2568 จะเริ่มเดินหน้าลงดาบภาษีนำเข้าอย่างจริงจัง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการนำเข้าปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น จากปัจจัยดังกล่าวทำให้ทางฝ่ายมองว่าในช่วงครึ่งแรกปีหน้าการตัวเลขการส่งออกไทยโดยเฉพาะกับตลาดสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลง โดยคาดการณ์ว่าตัวเลขการส่งออกไทยจะอยู่ที่ระดับต่ำประมาณ 1.4-1.5% จากสิ้นปี 2567 ที่คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ระดับกว่า 3.6%

ในด้านการท่องเที่ยวนั้น มองว่าการเดินทางระหว่างประเทศยังมีแนวโน้มการขยายตัวที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา ตัวเลขนักท่องเที่ยวกลับมาขยายตัวดีกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2562 หรือก่อนเกิดโควิด-19 ระบาด แล้ว

แต่อย่างไรก็ดี ในปี 2568 อาจยังต้องจับตา แม้ว่ายอดนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น แต่อัตราการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวอาจลดลงมาอยู่ที่ต่ำกว่า 40,000 บาท/หัว จากค่าเฉลี่ยในอดีตที่เคยทำได้ราย 50,000-56,000 บาท/หัว จะเห็นได้ว่านักท่องเที่ยวค่อนข้างระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น