ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาแนวคิดเรื่องการเก็บ ภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำ 15% กลายเป็นประเด็นสำคัญในวงการเศรษฐกิจและธุรกิจทั่วโลก แนวทางนี้ซึ่งนำเสนอโดย องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เป้าหมายเพื่อสร้างความยุติธรรมทางภาษีและลดปัญหาการหลีกเลี่ยงภาษีจากบริษัทข้ามชาติ แนวทางดังกล่าวได้เปลี่ยนเกมในวงการภาษีอย่างมีนัยสำคัญ และประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยเองก็กำลังปรับตัวเพื่อรองรับมาตรฐานใหม่นี้
ล่าสุด ที่ประชุม ครม.(วันที่ 11 ธ.ค.67) เห็นชอบ ร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 2 ฉบับ เกี่ยวกับการปฏิรูปภาษีนิติบุคคลในไทย โดยต้องเก็บภาษีจากบริษัทนิติบุคคลต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย ตามแนวทาง Global minimum tax ของ OECD
ได้แก่ พ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ... เเละ พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสหรัฐอุตสาหกรรมเป้าหมาย (ฉบับที่..) พ.ศ... โดยหลังจากนี้รัฐบาลต้องเสนอ พ.ร.ก. ทั้ง 2 ฉบับไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบ หลังจากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนของสภาฯต่อไป เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในปี 68
ภาษีขั้นต่ำ 15% เป็นแนวคิดที่มุ่งหมายให้บริษัทข้ามชาติที่มีรายได้เกิน 750 ล้านยูโร (ประมาณ 812 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ต้องเสียภาษีในอัตราขั้นต่ำนี้ แม้จะดำเนินธุรกิจในประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ หรือที่เรียกกันว่า "สวรรค์ภาษี" (Tax Havens)
หลักการนี้พยายาม "ปิดช่องโหว่" ที่อนุญาตให้บริษัทข้ามชาติย้ายกำไรไปยังประเทศที่มีภาษีต่ำ แม้รายได้หลักจะมาจากประเทศอื่น เช่น หากประเทศใดจัดเก็บภาษีต่ำกว่า 15% ประเทศอื่นๆ สามารถเรียกเก็บ "ภาษีส่วนเพิ่ม" เพื่อให้ถึงอัตราขั้นต่ำที่กำหนดได้
ทำไมต้องเก็บภาษีขั้นต่ำ 15%
ปัจจุบันมีมากกว่า 140 ประเทศ ให้คำมั่นว่าจะดำเนินการตามแนวทางภาษี Global Minimum Tax (GMT) ซึ่งรวมถึงประเทศที่เคยเป็นสวรรค์ภาษีอย่าง ไอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก สวิตเซอร์แลนด์ และบาร์เบโดส ตามรายงานของ Financial Times อธิบายว่าภายใต้ข้อตกลง GMT หากประเทศหนึ่งจัดเก็บภาษีในอัตราต่ำกว่า 15% ประเทศอื่นๆ จะสามารถเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมซึ่งจะทำให้ยอดรวมอยู่ที่ระดับต่ำสุด
OECD คาดการณ์ว่า นโยบายภาษีนี้จะช่วยลดกำไรที่ถูกจัดเก็บภาษีต่ำกว่าปกติถึง 80% ข้อตกลงนี้ยังเป็นสัญญาณเชิงบวกของความร่วมมือระดับโลก ท่ามกลางความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศใหญ่ๆ เช่น สหรัฐฯ จีน และยุโรป
แม้ ภาษี GMT จะถือเป็นความคืบหน้าครั้งสำคัญ แต่นักวิเคราะห์มองว่าอัตรา 15% ยังต่ำกว่าที่ธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดกลางในหลายประเทศต้องจ่าย ซึ่งโดยทั่วไปอยู่ในช่วง 20-30%
นี่เป็นก้าวแรกที่ดี แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาความยุติธรรมทางภาษีทั้งหมดได้
ลูคัส ชานซ์ รองศาสตราจารย์จากสถาบันการศึกษารัฐศาสตร์ในปารีส กล่าวในเวทีประชุมเศรษฐกิจโลกที่ดาวอส พร้อมเรียกร้องให้มีการปรับปรุงระบบภาษีระดับโลกเพิ่มเติม
ในปี 2568 ที่ภาษีขั้นต่ำนี้เริ่มบังคับใช้ อาจส่งผลให้บริษัทข้ามชาติมีการปรับตัวครั้งใหญ่ เช่น การลดการย้ายกำไรไปยังประเทศที่ภาษีต่ำ ขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มรายได้ภาษีให้แก่รัฐบาลในหลายประเทศ
อ้างอิงข้อมูล