ส่วนปลัด ลวรณ แสงสนิท อาจโดนหางเลขประปรายเพราะเป็นผู้แถลงรายละเอียดแพล่มออกมาก่อนที่รัฐมนตรีจะแถลงวิสัยทัศน์เรื่องนี้ในงานที่จัดโดยสื่อค่ายใหญ่ แม้ว่าจะกำลังศึกษาอยู่ก็ตาม และเอาทางออกที่คิดได้โยนออกมาถามสาธารณชนก่อน ซึ่งตอนนี้ก็โดนขว้างกลับไปพร้อมเสียงด่าเพียบแถมพรรคการเมืองบางพรรคใช้กลยุทธ์ที่ถนัด ถากถางและด้อยค่ากลับมาอีกตรึม
ผมเชื่อจนหมดใจว่าวันนี้ที่ รมว. คลัง ต้องโดดออกมาทำการปฏิรูประบบภาษีของประเทศนี้ เป็นเพราะเผือกร้อนในมือที่กระทรวงการคลังจะต้องรีบทำจะต้องใช้ปีใหม่ที่จะถึงนี้ คือ การแก้ไขอัตราภาษีนิติบุคคลให้เป็น 15% ตามกติกา Pillar II ขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ซึ่งใช้กับบริษัทข้ามชาติที่มาลงทุนในประเทศต่าง ๆ ที่ให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี จนประเทศต่าง ๆ แข่งกันลดอัตราภาษีให้ลงต่ำสุด
เรียกว่าแข่งกันลดจนถึงศูนย์ ทำให้กลุ่มประเทศ OECD ออกกติกาว่าต่อไปนี้หากบริษัทข้ามชาติเหล่านี้เสียภาษีรายได้นิติบุคคลรวมทั่วโลกต่ำกว่า 15% แล้ว บริษัทแม่จะถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มจนครบอัตราขั้นต่ำที่ 15% ดังนั้น เพื่อไม่ให้เสียโอกาสและผลประโยชน์ด้านนี้ไป
ประเทศไทยจำต้องเก็บภาษีกับบริษัทข้ามชาติเหล่านี้ที่มาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่ำที่ 15% แต่ที่รู้ ๆ กัน บริษัทเหล่านี้เสียภาษีจริง ๆ หรือ Effective Tax Rate ไม่ถึง 15% อยู่แล้ว เพราะได้สิทธิประโยชน์พิเศษจากการลงทุนที่ BOI ให้มา ซึ่งต่อไปนี้จะใช้ไม่ได้อีกแล้ว
ตอนนี้ BOI กับกระทรวงการคลังก็ยังคงปวดหัวกับการหาทางออกให้กับบริษัทเหล่านี้ เพราะหลายรายได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนก่อนแล้วและยังไม่หมดอายุ แถมรายใหม่ที่จ่อยื่นขอใบอนุญาตส่งเสริมยังอยู่ในระเบียบเดิมที่อาศัยแรงจูงใจจากการลดหย่อนและยกเว้นภาษีรายได้เป็นหลัก
แม้ว่าจะหาทางเก็บก่อนแล้วคืนทีหลังผ่านกองทุนต่าง ๆ ก็ตาม แต่ผมเชื่อว่ามีปัญหาแน่ ๆ ในทางปฏิบัติ ทั้งในแง่กฎระเบียบและความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ ส่วนผมนั้นยังเชื่อว่า หากทำแบบไม่เนียนคงต้องตอบคำถามจาก OECD อีกเยอะ อย่าคิดว่าเขาจะไม่รู้ว่าเรากำลังเล่นแร่แปรธาตุอะไร ยิ่งดูเป็นคนเจ้าเล่ห์ไปอีก และถ้าไม่ชัดเจน หรือไม่จูงใจ จะด้วยปัจจัยอื่นใดก็ตาม จะทำให้การชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศของ BOI ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 กลุ่ม ที่ดูแล้วค่อนข้างต้องเป็นบริษัทระดับ Global Corporates แล้ว ผมว่าเหนื่อยละครับ
ผมว่าถึงเวลาที่ BOI กับหน่วยงานอาจต้องหาวิธีการส่งเสริมการลงทุนแบบใหม่ได้แล้วครับ แต่เดิมนั้นเราอาจให้เขาลงทุนด้าน Capital อย่างเต็มที่แล้วให้สิทธิประโยชน์หลังจากมีกำไร แต่ผมว่าต่อไปนี้เราอาจต้องหาทางช่วยให้เขาลดต้นทุนด้านทุนตั้งแต่เริ่มลงทุน เช่น ค่าที่ดิน ค่าก่อสร้างและสาธารณูปโภคที่สนับการลงทุนเริ่มต้น ฯลฯ เรื่องเหล่านี้ประเทศต่าง ๆ เริ่มทำมานานแล้ว
อย่างไรก็ตาม ผมเข้าใจและเห็นใจคนทำงาน เพราะการใช้วิธีแบบนี้จะโดดข้อครหา นินทา สงสัย ว่าคงมีเงินใต้โต๊ะ เล่นพวก ถูกนักการเมืองและผู้มีอิทธิพลฝาก และอื่น ๆ สารพัด ซึ่งคงต้องหาทางครับ และให้สะท้อนใจว่าทำไมประเทศอื่นทำได้
ผมว่าเรื่องการปฏิรูป กฎ ระเบียบ และมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศวันนี้เป็นเรื่องด่วนของรัฐบาลชุดนี้ แม้ว่าผมจะเข้าใจดีว่า ระบบภาษีโยงและพันกันในหลายภาษี แต่ก็เชื่อว่าเราหาสิ่งที่ดีที่สุดรองลงมาจากจุด Optimal ได้ เพราะการปรับภาษีทั้งระบบที่ท่านรัฐมนตรีพูดนั้นกระทบกับหลายฝ่าย และหลายเรื่อง มีช่องว่างและจุดอ่อนที่ใช้โจมตีทางการเมืองมากเกินไป
และที่ยุ่งยากไปกว่านั้น ระบบภาษีบ้านเราถูกออกแบบมาตอบโจทย์ให้หลายกลุ่มและหลายนโยบาย ผสมผสานกันจนยุ่ง วุ่นวายและซับซ้อน ตัวอย่างภาษีสรรพสามิตของรถยนต์ ที่ไม่มีประเทศไหนในโลกที่วุ่นวาย สับสน และหลายอัตราเหมือนบ้านเราแล้วครับ ที่อัตราภาษีขึ้นอยู่กับขนาดเครื่องยนต์ ไอเสียที่ปล่อย เชื้อเพลิงที่ใช้ แถมกระบะก็แบบมีประตูหลัง หรือแยกแบบมี Space cab อีกต่างหาก
ส่วนข้อเสนอที่โยนถามออกมา เช่น การเก็บภาษีรายได้บุคคลธรรมดาในอัตราเดียว ก็ยิ่งทำให้เกิดความแตกต่างมากขึ้นไปอีก การเพิ่มอัตรา VAT ยิ่งเป็นภาระให้ประชาชน แม้ว่าภาษีทั้งหมดอาจจะผลักไปได้ไม่หมดเพราะผู้ผลิตก็กลัวว่าราคาสูงคนจะซื้อน้อยลงหรือสู้ราคาคนอื่นไม่ได้ ทีนี้เลยโดนท่านพิชัย เลยโดนรุมทั้งผู้ผลิตและประชาชน ซึ่งผมเชื่อว่าคนระดับท่านและคนกระทรวงการคลังคงมีแผนในการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มในรายการสินค้าที่เกี่ยวข้องกับผู้มีรายได้น้อย เช่น อาหาร สิ่งจำเป็นในชีวิต ฯลฯ อยู่แล้ว เพียงแต่การทำเข้าใจและลงในรายละเอียดวันนี้คนไทยขาดความอดทนในการฟังและเข้าใจเรื่องยาก ๆ แต่อาจมีบางกลุ่มหูผึ่งที่ได้ฟังตอนที่ท่านรัฐมนตรีบอกว่าจะเอาเงิน VAT ที่เก็บเพิ่มมาแจกให้อีก
ส่วนตัวผมแล้ว ผมเชียร์ท่านพิชัย ให้รีบปรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้ออกจากความคิดที่จะยึดกับผลประโยชน์ภาษีโดยด่วน และเก็บภาษีรายได้นิติบุคคลอยู่ที่ 15% ถ้วนหน้ารวมถึง FDI ด้วยครับ ส่วนการขึ้นภาษี VAT ผมเห็นด้วยครับ แต่อาจจะไม่ต้องถึง 15% และต้องมีรายการยกเว้น VAT ด้วย ภาษีรายได้บุคคลแบบที่เป็นอยู่นี้ก็ถือว่าดีแล้วนะครับ ผมว่าถ้าเทียบกับประเทศที่เราอยากเป็นรัฐสวัสดิการแบบเขา เช่น สวีเดน นอร์เวย์ ภาษีรายได้ขั้นสูงสุดอยู่ที่ 55% ถ้าเฉลี่ย ๆ ก็เกือบ 30% และยิ่งนอร์เวย์แล้ว ภาษีรายได้ 29% แถม VAT อีก 24% คนของเขายอมเสียภาษีสูง และแถมยังยอมเสียภาษีกันแบบถ้วนหน้าอีกด้วย ผมว่ารีบดูภาษีทั้งสามเหล่านี้ก่อน เพราะเป็นแหล่งรายได้สำคัญที่สุดของรัฐบาล และเราก็รู้ว่าทุกรัฐบาลเดินหน้าหาเงินเพื่อใช้นโยบายประชานิยมอยู่แล้ว
ผมชอบใจมากครับที่ท่านพิชัยออกมาพูดว่า “ถ้าผมไม่อยู่ ก็ไม่มีใครทำ” ผมชื่นชมครับ แสดงว่าท่านรู้จักนักการเมืองพันธุ์แท้ดี ผมว่าท่านรีบทำหน่อยครับ ผมละกลัวท่านจะไปก่อนที่ได้ลงมือทำ เพราะตอนนี้มีคนเตรียม พริก เกลือ น้ำปลา และสารพัดเครื่องปรุง มาพร้อมที่จะ “ยำ” ท่านละครับ มีมาทั้ง “พวกเขา” และ “พวกเรา” ครับท่าน