นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เปิดเผยถึงกรณีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าอยู่ระหว่างศึกษาการปรับโครงสร้างภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล โดยใช้สูตร 15:15:15 เก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล-บุคคลธรรมดา รวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือแวท (VAT) ให้อยู่ที่ 15% ว่า เข้าใจว่ารัฐบาลต้องการจะหารายได้ภาษีให้เพิ่มขึ้นโดยการขึ้น VAT ส่วนหนึ่งเพื่อเอาไปชดเชยรายได้ภาษีที่ลดลงจากการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
รวมถึงต้องการหารายได้เพิ่มขึ้นเพื่อนำไปพัฒนาประเทศผ่านโครงการลงทุนภาครัฐที่สำคัญต่างๆ และจัดสวัสดิการให้ประชาชนกลุ่มรายได้น้อยหรือเปราะบาง ซึ่งการมีรายได้ภาษีที่เพิ่มขึ้นเพียงพอจะช่วยลดการกู้ ลดภาระหนี้สาธารณะ ซึ่งปีนี้คาดว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี (GDP) สูงถึง 65.74% ใกล้เพดาน 70% เข้าไปทุกที
การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาของรัฐบาล แม้จะมีเป้าหมายที่ดีในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่จำเป็นต้องมีแผนปฏิรูปภาษีที่รอบคอบและสมดุล เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความยั่งยืนทางการคลัง และการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจะช่วยกระตุ้นการลงทุน เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งจะส่งผลดีต่อการจ้างงานและการเพิ่มรายได้ของประชาชน
ในขณะที่การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะช่วยเพิ่มรายได้ที่สามารถใช้จ่ายได้จริง กระตุ้นการบริโภคและการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การลดอัตราภาษีทั้งสองประเภทจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จำนวนมาก อาจทำให้เกิดการขาดดุลงบประมาณสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศมีภาระหนี้สาธารณะสูง
ดังนั้น รัฐบาลจึงควรพิจารณาผลกระทบต่อรายได้ภาครัฐและเสถียรภาพทางการคลังอย่างรอบคอบ โดยมองว่าการลดภาษีดังกล่าวควรทำควบคู่กับการขยายฐานภาษี เช่น การจัดเก็บภาษีจากเศรษฐกิจดิจิทัล หรือการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐ และรักษาความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว
นอกจากนี้การลดอัตราภาษีแบบ Flat Rate เหลือ 15% สำหรับทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เป็นนโยบายที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ Flat Rate อาจส่งผลให้ประชาชนกลุ่มรายได้ต่ำต้องรับภาระภาษีในสัดส่วนที่มากกว่าเมื่อเทียบกับรายได้ ขณะที่กลุ่มรายได้สูงได้รับประโยชน์มากกว่า ที่สำคัญไม่เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทย เนื่องจากรายได้ประชากรไทยมีความหลากหลายและไม่สม่ำเสมอ ระบบ Flat Rate อาจไม่ตอบโจทย์ในแง่ความเป็นธรรมทางภาษี
ทั้งนี้ ขอเสนอว่าหากพิจารณานโยบาย Flat Rate ควรมีมาตรการเสริม เช่น การเพิ่มการลดหย่อนภาษีสำหรับกลุ่มรายได้ต่ำ และให้มีการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำ โดยพิจารณาการจัดเก็บภาษีมรดกและภาษีความมั่งคั่ง (wealth tax) เพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมและลดช่องว่างระหว่างกลุ่มประชากร และควรดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างละเอียด เพื่อให้แน่ใจว่านโยบายนี้จะไม่กระทบความยั่งยืนทางการคลัง
และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งระบบ Flat Rate เหมาะกับประเทศที่มีโครงสร้างเศรษฐกิจมั่นคงและรายได้ประชากรสูงเท่ากันในระดับหนึ่ง หากนำมาใช้ในไทยซึ่งประชากรมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูง จึงต้องมีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับบริบทเฉพาะของประเทศด้วย
สำหรับการเพิ่มอัตราภาษี VAT แม้ว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ของรัฐอย่างมาก แต่จะกระทบต่อค่าครองชีพ การเพิ่ม VAT จะส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าและบริการที่จำเป็น เช่น อาหารและพลังงาน ทำให้ภาระค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ต้องใช้รายได้ส่วนใหญ่ในการบริโภค
การเพิ่ม VAT ลดกำลังซื้อของประชาชน ส่งผลให้การบริโภคในประเทศชะลอตัวและกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมองว่าในสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้อยู่ระหว่างการฟื้นตัวยังเติบโตไม่เต็มที่ ประชาชนมีรายได้ต่ำ มีหนี้ครัวเรือนสูง ไม่ควรไปเพิ่มภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ดังนั้น ควรมีมาตรการเสริม เช่น การยกเว้น VAT สำหรับสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ หรือการให้เงินช่วยเหลือแก่กลุ่มเปราะบาง เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ใช้รายได้จากการเพิ่ม VAT เพื่อสนับสนุนโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหรือสวัสดิการสังคม และให้พิจารณาการปรับ VAT อย่างค่อยเป็นค่อยไป การปรับเพิ่มอัตราควรทำอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้กระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนในภาพรวม
นายธนกร กล่าวอีกว่า รัฐบาลจำเป็นต้องศึกษาข้อดีข้อเสียให้ตกผลึกก่อนตัดสินใจปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบหรืออาจจะทำทีละขั้นตอน โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ในอนาคตยอมรับว่าจะต้องมีการปรับขึ้นแน่นอน แต่ควรดูเวลาที่เหมาะสม หากปรับขึ้นทันทีจะส่งผลกระทบหนักแน่นอน เพราะจัดเก็บในอัตราที่สูงมากกว่าหนึ่งเท่าตัว จาก 7% กระโดดขึ้นไปถึง 15% ในเรื่องนี้นักเศรษฐศาสตร์หลายคนมีความกังวลเกรงว่าจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยชะงักได้ หากจะปรับโครงสร้างภาษี VAT ควรจะทำควบคู่กับการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ปรับโครงสร้างพลังงานน้ำมัน ไฟฟ้า ค่าโดยสารรถประจำทางสาธารณะ ให้พร้อมก่อนที่จะปรับขึ้นภาษีในภายหลังจะดีกว่า
การปรับโครงสร้างภาษีโดยเฉพาะ VAT ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อคนทั้งประเทศ จำเป็นจะต้องพิจารณาให้รอบคอบรอบด้านถึงผลดีผลเสียที่จะได้ เนื่องจากรายได้ของประชาชนยังเท่าเดิม แต่ภาระค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเท่าตัว จะยิ่งทำให้กำลังซื้อและการตัดสินใจใช้จ่ายเงินของประชาชนจะยิ่งลดลงด้วย ส่งผลต่อเงินหมุนเวียนในประเทศโดยตรง จึงขอให้รัฐบาล กระทรวงการคลัง พิจารณาปรับขึ้น VAT ในเวลาที่เหมาะสม เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะตามมา โดยควรจะเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนในทุกภาคส่วน อาจจะใช้เวทีสภาเพื่อหารือในเรื่องนี้ก็สามารถทำได้ เพื่อให้เกิดความรอบคอบมากที่สุด