ครม.ถกวาระลับออก พ.ร.ก. 2 ฉบับ รับเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติ 15%

11 ธ.ค. 2567 | 06:00 น.
581

จับตา ครม.วันนี้ หารือวาระลับ ออกกฎหมายใหญ่ พ.ร.ก. 2 ฉบับ ทั้งของกระทรวงการคลัง และบีโอไอ รองรับการจัดเก็บภาษีบริษัทยักษ์ข้ามชาติตามเกณฑ์ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันที่ 11 ธันวาคม 2567 นี้ ที่ประชุมเตรียมพิจารณากฎหมายสำคัญที่เสนอเข้ามาเป็นร่างพระราชกำหนด หรือ พ.ร.ก. รวม 2 ฉบับ ซึ่งเป็นวาระลับ เพื่อเป็นการรองรับเกณฑ์ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ประกอบด้วย

  1. ร่างพระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. .... เสนอเข้ามาโดยกระทรวงการคลัง
  2. ร่างพระราชกำหนดการแก้ไขพระราชบัญญัติการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) 

ทั้งนี้ตามเกณฑ์ OECD ได้มีการจัดทำข้อเสนอแนวทางการจัดเก็บภาษีในยุคดิจิทัล Pillar 2 โดยกำหนดให้กลุ่มบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีรายได้ตั้งแต่ 759 ล้านยูโรขึ้นไป หรือประมาณ 28,000 ล้านบาท ต้องเสียภาษีขั้นต่ำในอัตรา 15%

โดยในกรณีที่บริษัทในเครือในประเทศใดมีอัตราภาษีที่แท้จริงต่ำกว่า 15% จะมีกระบวนการให้ประเทศนั้น หรือประเทศของบริษัทแม่ หรือประเทศของบริษัทในเครือสามารถจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมให้ครบตามอัตราภาษีขั้นต่ำด้วย

แหล่งข่าวระบุว่า การเสนอร่าง พ.ร.ก.เข้ามาทั้ง 2 ฉบับนี้ มีความสำคัญกับประเทศไทย ซึ่งอยู่ระหว่างการเข้าร่วมเป็นสมาชิก OECD โดยกฎหมายดังกล่าวจะเป็นไปตามเกณฑ์ของ OECD ภายใต้มาตรการ Pillar 2 เพื่อดำเนินการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมจากบริษัทที่เข้าตามมาตรการต้องเสียภาษีขั้นต่ำ (Global Minimum Tax : GMT) ในอัตรา 15% และส่งเงินภาษีบางส่วนที่จัดเก็บได้ให้กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย

“ก่อนหน้านี้กฎหมายทั้งสองฉบับได้จัดทำเป็นร่างพระราชบัญญัติ แต่ด้วยเงื่อนไขของเวลาที่ต้องเร่งดำเนินการนั้น จึงมีการปรับเปลี่ยนในภายหลังเป็นร่างพระราชกำหนดแทน โดยที่ผ่านมาก็ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว” แหล่งข่าวระบุ

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวก่อนหน้านี้ว่า หากกฎหมายผ่านการเห็นชอบจากครม. เมื่อกระทรวงการคลังเก็บภาษีส่วนเพิ่มได้แล้ว และส่งเงินภาษีบางส่วนที่จัดเก็บได้ให้กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย

จากนั้นบีโอไอจะใช้เงินจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถไฟช่วยเหลือด้านการเงิน เช่น การช่วยเหลือเงินลงทุน หรือค่าใช้จ่ายบางรายการที่นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพราะ OECD สามารถยอมรับการช่วยเหลือในลักษณะนี้ได้