ประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ และรัฐบาลต้องพยายามหาแหล่งรายได้เพื่อสนับสนุนการพัฒนาและการใช้จ่ายที่จำเป็น การเข้าสู่ระบบภาษีจึงเป็นหนึ่งในแนวทางที่สำคัญที่สุดในการเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินของประเทศ
ขณะเดียวกันการเก็บภาษีของไทยถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะเป็นรายได้หลักในงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปีของรัฐบาล โดยการเก็บภาษีที่รัฐเก็บได้
จากตัวเลขการจัดเก็บภาษีแต่ละชนิด จะพบว่า รัฐบาลมีรายได้จากภาษีที่สำคัญ 3 ชนิด คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยในปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้ 947,320 ล้านบาท คิดเป็น 28.4 % ของรายได้รวม ภาษีเงินได้นิติบุคคล จำนวน 783,386 ล้านบาท คิดเป็น 23.5% ของรายได้รวม และ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จำนวน 415,424 ล้านบาท คิดเป็น 12.5% ของรายได้รวม
หากพิจารณาภาษีเงินได้นิติบุคคลที่รัฐบาลกำหนดในอัตรา 20% ถ้าลดเหลือ 15% อาจส่งผลให้รายได้ของรัฐหายไป เนื่องจากหากจะลดภาษีในลักษณะนี้ ต้องมั่นใจว่าจะมีการเพิ่มจำนวนบริษัทที่เข้าระบบภาษีมากขึ้น หรือจะมีบริษัทต่างชาติมาตั้งสำนักงานในไทยมากขึ้น
ในทางกลับกัน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่หากลดลงเหลือ 15% ในอัตราเดียว อาจทำให้รายได้ของรัฐหายไป อีกทั้งยังทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ จากการที่คนมีรายได้สูงจ่ายภาษีในอัตราเดียวกับคนรายได้น้อยเช่นกัน แต่หากการลดภาษีช่วยให้ประชาชนหลายล้านคนที่ยังอยู่นอกระบบสามารถเข้าร่วมระบบได้มากขึ้น อาจเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
จิตสำนึกและวัฒนธรรมที่ไม่เอื้ออำนวย
ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า การขาดจิตสำนึกในเรื่องของการเสียภาษีในฐานะ “หน้าที่” ของพลเมือง ซึ่งไม่ใช่แค่การจ่ายเงินให้รัฐบาล แต่เป็นการร่วมมือร่วมใจในการพัฒนาประเทศและการดูแลสังคมให้ดียิ่งขึ้น การปลูกฝังวัฒนธรรมนี้ให้แก่ประชาชนตั้งแต่ระดับฐานรากถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะการจ่ายภาษีไม่ควรจะเป็นเรื่องของการบังคับ แต่ควรจะเป็นเรื่องของการรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ
กฎระเบียบของภาครัฐที่ไม่เข้มงวด
ปัจจัยต่อมาคือกฎระเบียบของภาครัฐที่อาจทำให้เกิดช่องโหว่ในการหลีกเลี่ยงภาษีได้ เช่น กฎหมายที่ให้การยกเว้นภาษีหรือลดหย่อนภาษีแก่ธุรกิจขนาดเล็กและกลาง หรือการกำหนดเกณฑ์ภาษีที่ต่ำเกินไป ทำให้บริษัทบางแห่งไม่จำเป็นต้องเสียภาษี อาทิ กฎการยกเว้น VAT สำหรับร้านค้าที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี หรือการหลีกเลี่ยงภาษีโดยการใช้การวางแผนภาษีอย่างซับซ้อนที่ส่งผลให้ธุรกิจไม่ต้องจ่ายภาษีในอัตราที่ควร
ความสามารถของรัฐในการตรวจสอบที่จำกัด
ดร.นณริฏ ยังกล่าวถึงความจำกัดของภาครัฐในเรื่องการตรวจสอบภาษี และบทลงโทษที่ไม่รุนแรงเพียงพอ ส่งผลให้ไม่สามารถสร้างแรงกดดันหรือผลกระทบต่อผู้ที่หลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการตรวจจับผู้หลีกเลี่ยงภาษี จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน เพื่อให้รัฐสามารถตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายได้อย่างทั่วถึง
การดึงคนเข้าสู่ระบบภาษีต้องแก้ทั้ง 3 ข้อด้านบน แต่สิ่งที่คิดว่าสำคัญ คือ การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการตรวจจับผู้ที่เลี่ยงภาษี และมีการกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงเพื่อให้เกิดความเกรงกลัว และแสดงให้เห็นความเป็นธรรม
การปรับปรุงระบบภาษีต้องแก้ไขทั้งสามปัจจัยที่กล่าวถึงข้างต้น โดยเฉพาะในเรื่องของการตรวจสอบและการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด โดยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการตรวจจับการหลีกเลี่ยงภาษี อาทิ การใช้ระบบการติดตามข้อมูลทางการเงินและการดำเนินการที่เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลต่างๆ รวมถึงการกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงเพื่อลดการหลีกเลี่ยงภาษีในทุกรูปแบบ
แรงจูงใจทางการเงินควรพิจารณาความเหมาะสมในแต่ละหมวด ส่วนตัวคิดว่าแรงจูงใจต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจจะมากไปเสียด้วยซ้ำ ส่วนการหลีกเลี่ยงภาษีไม่ควรจะมีข้อยกเว้นเฉพาะสำหรับผู้มีรายได้น้อย เพราะโดยนิยามผู้มีรายได้น้อยไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว คนที่หลีกเลี่ยงภาษีจึงเป็นคนที่มีรายได้ระดับหนึ่ง (ถึงเกณฑ์) และควรจะได้รับโทษปรับที่รุนแรงแทน
อย่าลืมว่าภาครัฐไม่สามารถตรวจจับได้ทุกเคส จึงต้องมีโทษที่รุนแรงมากกว่าปกติเพื่อไม่ให้เกิดกรณีหลีกเลี่ยงเสียภาษีแบบเสี่ยงโชค เผื่อภาครัฐตรวจไม่่พบ บริษัทขนาดเล็กและกลาง มักจะอาศัยข้ออ้างว่าเป็นบริษัทขนาดเล็กและกลาง ไม่ต้องเสียภาษีมาอย่างยาวนาน เรียกได้ว่าไม่รู้จักโตเสียที
ดร.นณริฏ ชี้ว่า สิ่งที่ควรดำเนินการ คือ การพิจารณาการเติบโตของบริษัทมาประกอบการพิจารณาจัดเก็บภาษี หากบริษัทเปิดใหม่น่าจะสามารถลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีได้ แต่หากเปิดเป็นเวลานานแล้วไม่มีการโตก็ควรจะจัดเก็บภาษีมากขึ้น
นอกจากนี้ การทบทวนและปรับปรุงอัตราภาษีและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของรัฐบาล เช่น การพิจารณาผลกระทบจากมาตรการ BOI หรือการยกเว้นภาษีสำหรับธุรกิจขนาดเล็กและกลาง ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อไม่ให้เกิดการใช้ช่องโหว่เหล่านี้ในการหลีกเลี่ยงภาษี
ระบบภาษีในปัจจุบันมีทั้งเอื้อประโยชน์ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีมากจนเกินไป เช่น ต้องกลับมาทบทวนว่า BOI ให้สิทธิประโยชน์เหมาะสมหรือไม่ อัตราภาษีต่างๆ กำหนดต่ำไปหรือไม่ ข้อยกเว้น สิทธิลดหย่อนต่างๆ มีความเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งส่วนนี้เป็นกรณี สีขาว
ส่วนสีเทาคือ ความซับซ้อนของระบบภาษี ทำให้เกิดอาชีพ การวางแผนภาษีขึ้นมา กลายเป็นช่องโหว่ให้ธุรกิจหากำไรจากการหาทางให้บริษํทไม่ได้ภาษี กลายเป็นอาชีพที่ทำรายได้สูงไปได้ ลองคิดดูว่าถ้าทำให้บริษัทไม่ต้องจ่ายภาษี 10 ล้านบาท คนที่สามารถทำได้ย่อมได้ประโยชน์เป็นค่าตอบแทนจากการที่รัฐเสียเงินดังกล่าว เป็นอาชีพที่แปลกและไม่ส่งผลดีต่อประเทศ ถ้าหลีกเลี่ยงกันมากจนเกินไป
แนวทางในการสร้างความเป็นธรรม
ดร.นณริฏ กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการทำให้ระบบภาษีมีความเป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการเก็บภาษีจากบุคคลและธุรกิจที่มีรายได้มาก โดยการจัดเก็บภาษีให้เหมาะสมและไม่มีการลดหย่อนเกินความจำเป็น เพื่อให้ผู้ที่มีรายได้สูงต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าผู้ที่มีรายได้น้อย
การนำระบบภาษีเข้าสู่ระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมีการปรับปรุงและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการตรวจสอบและการบังคับใช้บทลงโทษที่มีความรุนแรง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและยุติธรรมในสังคม พร้อมทั้งลดช่องโหว่ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ความเป็นธรรมจะเกิดขึ้นเมื่อคนที่ควรจะเสียภาษีต้องเข้ามาเสียภาษี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีรายได้เข้าข่ายที่ต้องเสียภาษี เช่น การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์แบบไม่มีสัญญา เช่นเดียวกัน คนที่เสียภาษีควรจะเสียภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย นั่นก็คือ ต้องจัดเก็บในอัตราที่เหมาะสม ไม่มีการลดหย่อน การวางแผนภาษีที่ไม่สมควร และท้ายที่สุด ผลลัพธ์ที่จ่ายจริงควรจะมีลักษณะที่เป็นธรรมในแง่ที่คนมีรายได้มากต้องจ่ายภาษีในอัตราที่สูงกว่าคนที่มีรายได้น้อย