สหภาพ "การบินไทย" ร้องนายกอิ๊งค์ ขอยุติเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟูจากภาครัฐ

29 พ.ย. 2567 | 01:26 น.
อัปเดตล่าสุด :29 พ.ย. 2567 | 14:48 น.

สหภาพแรงงานการบินไทย ร้องนายกฯอิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร ขอให้ยุติการเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟูจากภาครัฐ หวั่น "การบินไทย" จะกลับไปสู่สภาพแดนสนสนธยาเช่นในอดีต จากการแทรกแซงทางการเมือง

สหภาพแรงงานการบินไทยได้ทำหนังสือถึง "แพทองธาร ชินวัตร" นายกฯอิ๊งค์ ขอให้ยุติการเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการจากภาครัฐ

โดยระบุว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เคยเป็นรัฐวิสาทกิจ แต่เพราะเป็นรัฐวิสาหกิจที่ต้องต่อสู้ แข่งขันกับธุรกิจการบินทั่วโลก ต้องการความคล่องตัว ความเป็นอิสระในการบริหารด้วยบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถมากพอกับการแข่งขัน 

การบินไทย

การเป็นรัฐวิสาหกิจที่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายการเมือง และข้าราชการมาอย่างยาวนาน ได้ปรากฏชัดเจนแล้วว่าเป็นอุปสรรคขัดขวางความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาและประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจทั้งระบบตลอดมา การแทรกแซงการบริหาร แทรกแซงการจัดซื้อจัดจ้าง แทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายและการกำหนดนโยบายโดยฝ่ายการเมือง ไม่เอื้อประโยชน์ให้การบินไทยแข่งขันกับสายการบินอื่นๆได้ มีผลสร้างความเสียหายให้การบินไทยตลอดมา

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประสบปัญหาการขาดทุนนับแสนล้านบาท จนในที่สุดต้องพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ตามคำสั่งศาลล้มละลายกลางดังเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป ตั้งแต่ปี พศ. 2563 เป็นต้นมา 

สหภาพแรงงานการบินไทย

กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้คณะผู้บริหารแผน 3 คนร่วมกับพนักงานทุกระดับ ได้ดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการทุกขั้นตอน มาอย่างเข้มแข็ง สงบเรียบร้อย พลิกฟื้นสถานการณ์ขาดทุนให้มีผลกำไรมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ปรับเปลี่ยนลักษณะการบริหารเป็นแบบเอกชน เปลี่ยนรูปแบบการทำงาน เปลี่ยนวัฒนธรรรมองค์กรที่ไม่เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจที่ต้องแสวงหากำไร 

แม้ว่าในระยะเริ่มแรกจะสร้างความยากลำบากความเหน็ดเหนื่อย ความท้อใจให้กับพนักงานอย่างที่ไม่เคยประสบมาก่อน แต่จนถึงปัจจุบันนี้พนักงานได้พร้อมยอมรับความเปลี่ยนแปลง พร้อมปรับตัวเพื่อให้บริษัทมีผลกำไรและมีความมั่นคงยั่งยืน

การส่งผู้แทนภาครัฐ 2 คนจากกระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลัง เข้ามาเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ได้สร้างความไม่เชื่อมั่นว่าบริษัทการบินไทย จะกลับไปสู่สภาพแดนสนสนธยาเช่นในอดีต ภาครัฐอาจเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากการจัดซื้อจัดจ้าง กำหนดนโยบาย
บั่นทอนความสามารถในการแข่งขัน และความเจริญก้าวหน้าของสายการบินแห่งชาติเหมือนที่ได้เคยเกิดขึ้น
มาแล้ว

เพื่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นใจว่าการเลิกจ้างพนักงานมากกว่า 10,000 คน เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเพื่อรักษาสายการบินของชาติไว้ไม่สูญเปล่า

สหภาพแรงงานการบินไทยจึงขอให้นายกฯได้โปรดพิจารณาสั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยุติการส่งผู้แทนจากภาครัฐ 2 คนเข้ามาเป็นผู้บริหารแผนฯโดยไม่มีความจำเป็น ไม่สร้างประโยชน์ใดๆกับการฟื้นฟูกิจการ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

สหภาพ \"การบินไทย\" ร้องนายกอิ๊งค์ ขอยุติเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟูจากภาครัฐ สหภาพ \"การบินไทย\" ร้องนายกอิ๊งค์ ขอยุติเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟูจากภาครัฐ