นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ได้รับหนังสือเชิญจากกรมการข้าว ในฐานะอนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต ให้เข้าประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต ครั้งที่ 1/2567 โดยมี ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฯ เป็นประธานในที่ประชุม
วาระสำคัญคาดจะมีการทบทวนมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรสำหรับผู้ปลูกข้าว 2567/68 ในโครงการมาตรการสนับสนุนบริหารจัดการ และพัฒนาคุณภาพการผลิต โดยช่วยเหลือผู้ปลูกข้าวรายละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ มีกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด 4,680,000 ครอบครัว คิดเป็นงบประมาณ 56,000 กว่าล้านบาท ตามมติที่ประชุม นบข.มอบให้ทบทวนในโครงการนี้ เนื่องจากเป็นความต้องการของชาวนา มากกว่า โครงการปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง
“ในความเห็นส่วนตัว คาดรัฐมนตรีไม่ขัดใจชาวนาอยู่แล้ว แต่ถ้าให้เลือกในฐานะผู้นำชาวนาที่ได้เข้าร่วมประชุมก็จะสะท้อนความต้องการของชาวนาทั้งประเทศอย่างเต็มที่ ทั้งเหตุผลและความจำเป็นว่าทำไมเกษตรกรถึงต้องการเงินจ่ายตรงมากกว่าปุ๋ยเคมี หรือชีวภัณฑ์ และถ้าซ้ำซ้อนหรือต้องเลือก ก็จะขอให้รัฐบาลจ่ายเงินตรงให้กับเกษตรกรเหมือนรัฐบาลในอดีตที่ปฏิบัติมา”
แหล่งข่าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า หากที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบโครงการเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ อาจจะผิดมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ที่มีมติเห็นชอบโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไทย หรือปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง
ทั้งนี้อาจจะต้องปรับทบทวนโครงการใหม่ เนื่องจากเป็นความต้องการของชาวนา และเชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลก็คงไม่มีพรรคใดคัดค้าน ซึ่งตามขั้นตอนจะส่งเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.)ใหม่ จากนั้นก็ส่งเข้า ครม.พิจารณา พร้อมกับ 3 โครงการที่อนุมัติไปก่อนหน้านี้
อนึ่ง โครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2567/68 ก่อนหน้านี้ นบข. ได้มีมติเห็นชอบ 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี วงเงินงบประมาณ 43,843.76 ล้านบาท (วงเงินสินเชื่อ 35,481 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 8,362.76 ล้านบาท) 2.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร วงเงินงบประมาณ 15,656.25 ล้านบาท (วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 656.25 ล้านบาท)
และ 3.โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก วงเงินจ่ายขาด 585 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 60,085.01 ล้านบาท มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมการข้าว จัดทำรายละเอียดโครงการที่ 1 และ 2 และกรมการค้าภายในจัดทำรายละเอียดโครงการที่ 3 เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาต่อไป