ตลาดปุ๋ยเคมี 8 หมื่นล้านป่วน ผวาร่างประกาศใหม่ สธ. ทุบธุรกิจเดี้ยง

16 พ.ย. 2567 | 04:00 น.

ตลาดปุ๋ย 8 หมื่นล้านป่วน สธ.จัดระเบียบใหม่ โรงงานเสี่ยงพิษตะกั่ว ผวาสะเทือนธุรกิจ เร่งเจรจาผลกระทบ ขณะอานิสงส์ ปุ๋ยคนละครึ่ง ไฟสงคราม บาทแข็งค่า ดันนำเข้าปุ๋ยทะลักสูงสุดรอบ 7 ปี ขณะ “ชีวภัณฑ์” แข่งดุ บริษัทใหญ่แห่ขึ้นทะเบียนแย่งเค้กหมื่นล้าน ขานรับสินค้าเกษตรรักษ์โลก

เนื่องจากผลการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม มีมติเห็นชอบ ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อหรืออาการสำคัญของโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ.… โดยเพิ่มอาการสำคัญของโรคจากสิ่งแวดล้อม คือโรคจากตะกั่วหรือสารประกอบของตะกั่ว และเพิ่มเติมชื่อและอาการสำคัญของโรคจากสิ่งแวดล้อมใหม่หนึ่งโรค คือ “โรคจากรังสีแตกตัวหรือโรคจากรังสีก่อไอออน” ซึ่งในประกาศที่มา 12 ประเภทแหล่งกำเนิดมลพิษ อาจก่อโรคจากตะกั่ว นั่นคือ “อุตสาหกรรมผลิตปุ๋ยเคมี” โดยกระบวนการทางเคมีทุกขนาด และให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อหรืออาการสำคัญของโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2563 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565

ตลาดปุ๋ยเคมี 8 หมื่นล้านป่วน ผวาร่างประกาศใหม่ สธ. ทุบธุรกิจเดี้ยง

 

ต่อกรณีดังกล่าว นายเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการสอบถามเบื้องต้นไปยังกระทรวงสาธารณสุข ได้รับการชี้แจงว่าร่างประกาศนี้จะครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม ซึ่งในส่วนของ “ปุ๋ยเคมี” มีข้อสงสัยว่า ทำไมถึงได้กำหนดเฉพาะเจาะจงว่าการผลิตปุ๋ยเคมีเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดโรคจากตะกั่วหรือสารประกอบจากตะกั่ว ซึ่งในความจริงปุ๋ยเคมี ไม่ได้ทำให้เกิดโรคอย่างที่กระทรวงจะออกประกาศ ในช่วงนี้ทางสมาคมกำลังหาบทความ หรือให้นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ ให้เข้ามาช่วยค้นคว้า เอกสารหลักฐานที่ระบุว่าโรงงานปุ๋ยไม่ใช่ปัญหา ที่ทำให้เกิดโรคจากตะกั่ว

“ในฐานะนักธุรกิจ ต้องยอมรับว่าหากร่างประกาศนี้นำมาบังคับใช้กับอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมี และมีระเบียบกฎเกณฑ์ออกมาบังคับให้ปฏิบัติตาม ผู้ประกอบการต้องลงทุน เช่น อาจจะมีห้องปฏิบัติการ และอื่นๆ ซึ่งทุกอย่างต้องใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น ก็ต้องขอความเห็นใจ ทั้งนี้ในส่วนของสมาคมเองจะออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วยทันทีก็คงไม่ได้ ต้องนำหลักฐานและข้อพิสูจน์ทางวิชาการที่เป็นวิทยาศาสตร์มาโต้แย้ง ซึ่งจากปัญหาดังกล่าวหากมีการบังคับใช้ เชื่อว่าบริษัทใหญ่น่าจะทำได้ แต่บริษัทขนาดกลาง ไปจนถึงขนาดเล็ก จะเกิดปัญหาแน่นอน ถ้าไปต่อไม่ได้ ก็ต้องเลิกกิจการ ท้ายสุดผลกระทบก็จะตกอยู่กับเกษตรกร”

 

ตลาดปุ๋ยเคมี 8 หมื่นล้านป่วน ผวาร่างประกาศใหม่ สธ. ทุบธุรกิจเดี้ยง

นายเปล่งศักดิ์ กล่าวถึง โครงการปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง ว่า ใช้หน่วยงานหลักในการดำเนินการไม่ตรงกับหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย มีการตั้งคณะกรรมการหลายชุด ทำให้โครงการเกิดความล่าช้าไม่ทันกับสถานการณ์ ขณะที่ปัจจุบันราคาปุ๋ยเคมีก็ไม่ได้แพงมากนัก ครั้นจะให้เกษตรกรซื้อปุ๋ยราคาถูกก็ไม่มีเงิน เพราะได้ลงทุนทำนาไปแล้ว เรื่องนี้แนะนำรัฐบาลจ่ายเงินตรงให้กับเกษตรกร

 

 “การนำเข้าปุ๋ยเคมีของไทยในช่วง 10 เดือนแรกปีนี้มีปริมาณ 5.58 ล้านตัน สูงสุดในรอบ 7 ปีมูลค่านำเข้ากว่า 8 หมื่นล้านบาท (กราฟิกประกอบ) ส่วนหนึ่งมาจากโครงการช่วยเหลือเกษตรกรของรัฐบาล อีกส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์โลก ที่คาดเดาได้ยากขึ้นว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทั้งสงครามตะวันออกกลาง สงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมทั้งปัญหาการขนส่งสินค้าทางเรือ ประกอบกับเงินบาทแข็งค่าในช่วงที่ผ่านมา ทำให้บริษัทต่าง ๆ ฉวยจังหวะสั่งนำเข้าปุ๋ยเคมี ยังไม่รวมถึงภาวะเอลนีโญ และลานีญาที่มีผลต่อการนำเข้าปุ๋ย”

นายภาคภูมิ วัชรขจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท กรีน อินโน ไทย จำกัด  (บจก.)หนึ่งในบริษัทที่เข้าร่วมโครงการปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะให้โครงการนี้เดินต่อ โดยไม่ต้องให้เกษตรกรจ่ายเงินสมทบจะดีที่สุด เพราะหลายรายเป็นหนี้เป็นสิน ไม่มีความสามารถจ่ายเงินสมทบ ส่วนที่มีการกำหนดบริษัทเข้าร่วมโครงการโดยรัฐบาลเป็นผู้คัดสรรก็เป็นการดี ช่วยปกป้องเกษตรกรให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพ

 

ตลาดปุ๋ยเคมี 8 หมื่นล้านป่วน ผวาร่างประกาศใหม่ สธ. ทุบธุรกิจเดี้ยง

 

อย่างไรก็ดีในส่วนของชีวภัณฑ์เพื่อช่วยเกษตรกรเพิ่มผลผลิต ในส่วนของประเทศไทยมีมานานแล้ว แต่เนื่องจากก่อนหน้านี้เกษตรกรนิยมใช้ปุ๋ย หรือสารเคมี ทำให้ดินเป็นกรด มีเชื้อรา แบคทีเรีย และไวรัส แต่หากเติมชีวภัณฑ์ หรือจุลินทรีย์ ซึ่งเป็นการเติมสารอาหารเข้าไปเพื่อเป็นทางเลือก ก็จะสามารถช่วยลดหรือทดแทนการใช้สารเคมีทางการเกษตรได้ ที่สำคัญช่วยประหยัดและช่วยลดต้นทุน โดย 1 ไร่ ใช้เงินลงทุนชีวภัณฑ์ประมาณ 300 บาท ซึ่งถูกกว่าราคาปุ๋ยเคมีมาก

 

ความเสี่ยงโรคในข้าว

 

ตลาดชีวภัณฑ์ของไทยในแต่ละปีมีมูลค่าประมาณหมื่นล้านบาท ซึ่งเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จากปัจจุบันมีเทคโนโลยีและการวิจัยต่อยอดไปเรื่อยๆ แต่มีปัญหาคือเมื่อเกษตรกรได้นำเอาไปใช้แล้วไม่ได้ผลจริง ซึ่งเกิดจากไปหลงเชื่อบริษัทโฆษณาเกินจริง ก็เลยเข็ด และกลับไปใช้เคมี ดังนั้นต้องให้สารวัตรเกษตร กรมวิชาการเกษตรกวาดล้างสินค้าที่ไม่มีคุณภาพให้หมด จะทำให้ของดีมีคุณภาพเข้าสู่ตลาดได้มากขึ้น ปัจจุบันมีบริษัทใหญ่เริ่มเข้ามาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบริษัทไบเออร์ไทย ,กลุ่มอายิโนะโมะโต๊ะ และกลุ่มบริษัทค้าเคมีใหญ่ๆ ต่างมาขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรกันมากขึ้น ซึ่งจากนี้เทรนด์สินค้าเกษตรรักษ์โลกกำลังมาแรง ซึ่งทั่วโลกให้ความสำคัญ” นายภาคภูมิ กล่าว

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,045 วันที่ 17 - 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567