ชาวนาส่อแห้ว จ่ายไร่ละพัน ไม่มีบรรจุในวาระประชุม นบข. 8 พ.ย.

31 ต.ค. 2567 | 16:27 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ต.ค. 2567 | 16:28 น.
3.4 k

8 พ.ย. จับตา นบข. เคาะ 3 มาตรการ รักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปี 2567/68 ชาวนาส่อแห้ว "ไร่ละพัน" ไม่มีบรรจุในวาระประชุม ขณะ “ปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง “ งบ 2.9 หมื่นล้าน ลุ้นทบทวนโครงการฯ

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์  กรรมการในคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) และนายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรมการค้าภายใน ในฐานะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ  นบข. ได้มีหนังสือเชิญประชุมในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้  โดยจะมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ซึ่งจะมีวาระการประชุม ดังนี้

วาระที่ 1 เรื่องที่ประธานแจ้งในที่ประชุมทราบ

วาระที่ 2 เรื่องเพื่อทราบ

             -สถานการณ์ข้าวโลกข้าวไทย

             -ความคืบหน้าผลการดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2566/67

 

วาระที่ 3 เรื่องเพื่อพิจารณา

             มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกปีการผลิต 2567/68

               (1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีการผลิต

               (2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร

               (3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก

       การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้กรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.)

                (1) คณะอนุกรรมการนโยบาบและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต

                (2) คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด

                (3) คณะอนุกรรมการพิจารณาชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก

                (4) คณะอนุกรรมการติดตามกำกับดูแลการบริหารจัดการข้าวระดับจังหวัด

     และขอทบทวนโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

วาระที่ 4 เรื่องอื่นๆ  (ถ้ามี)

นายปราโมทย์ ตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องโครงการปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง  งบกว่า 2.9 หมื่นล้านบาท ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)ไปแล้วก่อนหน้านี้ ไม่แน่ใจว่าจะมีการทบทวนโครงการในเรื่องอะไรบ้าง  แต่สิ่งที่ชาวนาทั่วประเทศรอคอยคือ โครงการเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท  ไม่เกิน 20 ไร่ต่อครัวเรือน หรือไม่เกินครัวเรือนละ 20,000 บาท ตามโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ รวมถึงข้าวชนิดอื่น ๆ ที่คาดจะมีการดำเนินการในวันที่ 15 พ.ย.นี้ ถือเป็นความหวังของชาวนา และเป็นนโยบายที่มีการดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในแต่ละรัฐบาล แต่ทำไมไม่มีการบรรจุในวาระการประชุมครั้งนี้ ทั้งที่เป็นมาตรการที่ช่วยเหลือชาวนาได้โดยตรง

 

 

“เดิมในการประชุม นบข.ในครั้งนี้ จะมีการนำเสนอโครงการไร่ละ 1,000 บาท เพื่อให้ที่ประชุมได้พิจารณาถึงความจำเป็นของโครงการนี้ ว่าควรจะมี เนื่องจากเวลานี้ชาวนาขายข้าวเปลือกได้ 7,000-8,000 บาทต่อตันเท่านั้น จากผลกระทบอินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาว ปากีสถานเองก็มีข้าวราคาถูกกว่าก็ขายแข่ง ดังนั้นการขายข้าวเปลือกในรอบนี้ชาวนามีปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ซึ่งหากไม่มีโครงการนี้ ก็ต้องประกาศให้ชัดเจนว่ามีเหตุผลอะไร จะได้ไปชี้แจงกับชาวนาทั่วประเทศได้"