”อิทธิ“ ยันไม่ทิ้งไร่ละพัน ช่วยชาวนา หากราคาข้าวร่วงหนัก

22 ต.ค. 2567 | 15:29 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ต.ค. 2567 | 15:29 น.
6.0 k

“อิทธิ” เผยหารือพรรคร่วม ยันไม่ทิ้ง เงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ1,000 บาท จ่ายสูงสุดไม่เกิน 20 ไร่ ชี้เป็นมาตรการเสริมหากราคาข้าวร่วงหนัก ส่วน “ปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง” เป็นโครงการช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตข้าว เป็นมาตรการหลักยังคงเดินหน้าต่อ

นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากผลการหารือของพรรคร่วมรัฐบาล (21 ต.ค.67) มีข้อสรุปเรื่อง "เงินช่วยเหลือชาวนา" หรือ โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไร่ละ 1,000 บาท จ่ายสูงสุดไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกินครัวเรือนละ 20,000 บาท ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ทิ้งหรือล้มเลิกโครงการนี้ หากราคาข้าวตกต่ำเมื่อไร โครงการนี้จะถูกนำมาใช้ในการช่วยเหลือชาวนา 4.68 ล้านครัวเรือนทันที

"ส่วนโครงการปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง เพื่อช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกรและเพิ่มผลผลิตข้าวต่อไร่ ถือเป็นโครงการที่มีความยั่งยืนมากกว่า และใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกรอย่างแท้จริง โครงการนี้ได้ผ่านมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมาแล้ว กำลังรอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ หรือ นบข. ชุดใหม่ ที่นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแต่งตั้งไปแล้ว เพื่อพิจารณาถึงความพร้อมของหน่วยงานต่าง ๆ ที่จะดำเนินในโครงการนี้"

 

เปิดไทม์ไลน์ “ปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง”

วันที่ 13 มิ.ย. 67  คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) มีมติเห็นชอบโครงการฯ “ปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง” โดยให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวสมทบค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์ครึ่งหนึ่ง สร้างความเข้มแข็งและเกิดความยั่งยืนและลดภาระการเงินการคลังของประเทศ

วันที่ 25 มิ.ย. 67 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ภายใต้มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 วงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 29,980.17 ล้านบาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ

วัตถุประสงค์

1.เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายปัจจัยการผลิตในการลดต้นทุนการผลิตข้าว แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68

2.เพิ่มผลผลิตข้าวด้วยการใช้ปุ๋ยและสารชีวภัณฑ์ในนาข้าวในสูตรและอัตราที่เหมาะสมตามนิเวศและสภาพพื้นที่ เพื่อสร้างเสริมการมีส่วนร่วมในการใช้ปัจจัยการผลิตข้าวอย่างมีประสิทธิภาพ

3.สนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลในการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเป็น 3 เท่าในระยะเวลา 4 ปี

กลุ่มเป้าหมาย

เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร ประมาณ 4.68 ล้านครัวเรือน (เกษตรที่ปลูกข้าวทั่วไปประมาณ 4.48 ล้านครัวเรือน พื้นที่ 54 ล้านไร่ และเกษตรกรที่ปลูกข้าวอินทรีย์ประมาณ 2 แสนครัวเรือน พื้นที่ 1.20 ล้านไร่) ทั้งนี้ ลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้สามารถเข้าร่วมโครงการได้

ระยะเวลาดำเนินโครงการฯ

ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2567 – 31 พฤษภาคม 2568

 

กรอบวงเงินงบประมาณ รวมทั้งสิ้น 29,980.17 ล้านบาท แบ่งเป็น

1.เงินทุน ธ.ก.ส. สำรองจ่ายการดำเนินงานตามความต้องการโครงการฯ ในส่วนของ 500 บาทต่อไร่ ที่รัฐบาลสมทบ โดยจัดสรรงบประมาณชดเชยด้วยอัตราต้นทุนทางการเงินถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก ณ สิ้นไตรมาสก่อนหน้า บวกค่าใช้จ่ายดำเนินงาน ณ สิ้นไตรมาส (ปัจจุบันอัตราร้อยละ 3.62) และบวกต้นทุนเงินตามระยะเวลา วงเงิน 29,518.02 ล้านบาท

1.วงเงินจ่ายสมทบค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์ให้เกษตรกร วงเงิน 28,350.00 ล้านบาท

  •  ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ วงเงิน 1,168.02 ล้านบาท
  • ค่าชดเชยต้นทุนเงิน วงเงิน 1,026.27 ล้านบาท
  • ค่าบริหารโครงการ ร้อยละ 2 เป็นเวลา 3 เดือน วงเงิน 141.75 ล้านบาท

2.งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2567 เป็นค่าดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการจัดหาปุ๋ยและชีวภัณฑ์ที่เหมาะสมกับการปลูกข้าว และส่งมอบให้เกษตรกร เช่น ค่าบริหารจัดการปุ๋ยและชีวภัณฑ์ให้เกษตรกรค่าใช้จ่ายสุ่มตัวอย่างและวิเคราะห์คุณภาพปุ๋ยและชีวภัณฑ์ เป็นต้น

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะดำเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณต่อสำนักงบประมาณ ตามขั้นตอนที่กฎหมายและระเบียบกำหนดต่อไป วงเงิน 462.15 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 29,980.17 ล้านบาท

 วิธีดำเนินการและเงื่อนไขโครงการฯ

1.สนับสนุนปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และชีวภัณฑ์ในราคาครึ่งหนึ่ง (เกษตรกรชำระเงินค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์ครึ่งหนึ่ง และรัฐบาลสมทบค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์อีกครึ่งหนึ่ง) ไม่เกินครัวเรือนละ 500 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 10,000 บาท ตามราคาปุ๋ยที่จ่ายจริง รวมมูลค่าปุ๋ยไม่เกิน 20,000 บาท ทั้งนี้ ปุ๋ยที่เข้าร่วมโครงการต้องเป็นปุ๋ยที่ได้รับการขึ้นทะเบียน หรือหนังสือสำคัญรับแจ้งถูกต้องตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และชีวภัณฑ์ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนถูกต้องตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

2.เกษตรกร 1 ครัวเรือน มีพื้นที่ปลูกหลายพื้นที่ ใช้สิทธิ์รวมได้ไม่เกิน 20 ไร่ และไม่ซ้ำซ้อน ตามที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 กับกรมส่งเสริมการเกษตร

3. เกษตรกรต้องนำไปใช้จริง ห้ามนำไปจำหน่าย แจกจ่ายให้บุคคลอื่น

4. สหกรณ์การเกษตร ต้องส่งมอบปุ๋ยและชีวภัณฑ์ให้เกษตรกรให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน โดยหากเกษตรกรยังไม่ได้รับปุ๋ยและชีวภัณฑ์ ธ.ก.ส. จะคืนเงินที่เกษตรกรชำระทั้งหมดให้เกษตรกร

ปุ๋ยที่ขึ้นทะเบียนสำหรับนาข้าวภายใต้โครงการฯ

เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ เลือกรับการสนับสนุนปุ๋ยที่ขึ้นทะเบียนสำหรับนาข้าว จำนวน 16 รายการ ดังนี้

(1) ปุ๋ยสูตร 25-7-14

(2) ปุ๋ยสูตร 20-8-20

(3) ปุ๋ยสูตร 20-10-12

(4) ปุ๋ยสูตร 30-3-3

(5) ปุ๋ยยูเรีย 46-0-0

(6) ปุ๋ยสูตร 18-12-6

(7) ปุ๋ยสูตร 16-8-8

(8) ปุ๋ยสูตร 16-12-8

(9) ปุ๋ยสูตร 16-16-8

(10) ปุ๋ยสูตร 16-20-0

(11) ปุ๋ยสูตร 20-20-0

(12) ปุ๋ยสูตร 15-15-15

(13) ปุ๋ยสูตร 16-16-16

(14) ปุ๋ยสูตร 13-13-24

(15) ปุ๋ยอินทรีย์ที่ขึ้นบัญชีนวัตกรรม หรือ ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ยอินทรีย์

(16) ชีวภัณฑ์ที่ได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย

ขั้นตอนการดำเนินงานโครงการฯ

(1) กรมส่งเสริมการเกษตรขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68

(2) กรมการข้าวประกาศรับสมัครคัดเลือกผู้ประกอบกิจการปุ๋ยและชีวภัณฑ์ในประเทศ ทำข้อตกลงกับผู้ประกอบกิจการปุ๋ยและชีวภัณฑ์จำหน่ายแต่ละสูตรปุ๋ย ราคาเดียวกัน ไม่เกินราคาควบคุม ราคาจำหน่ายชีวภัณฑ์ตามราคาควบคุมและกรมการข้าว โดยคณะทำงานกำหนดราคาควบคุมปุ๋ยและชีวภัณฑ์ของโครงการฯ เป็นผู้พิจารณาราคาปุ๋ย โดยอ้างอิงจากราคาท้องตลาดราคาหน้าโรงงาน และราคาขายปลีก

(3) กรมส่งเสริมสหกรณ์รับสมัครคัดเลือกสหกรณ์การเกษตรเข้าร่วมโครงการฯ

(4) สหกรณ์การเกษตรเลือกผู้ประกอบกิจการปุ๋ยและชีวภัณฑ์ที่กรมการข้าวคัดเลือกไว้ให้เป็นผู้จัดหาปุ๋ยและชีวภัณฑ์

(5) ธ.ก.ส. กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว พัฒนาระบบข้อมูลโครงการ Application

(6) เกษตรกรผู้ปลูกข้าวขอใช้สิทธิตามระบบข้อมูลโครงการฯ ผ่าน Application ของ ธ.ก.ส.

(7) เกษตรกรชำระเงินสมทบค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์ตามที่แจ้งความประสงค์

(8) สหกรณ์การเกษตรตรวจสอบการใช้สิทธิผ่าน Application เพื่อดูข้อมูลความต้องการปุ๋ยและชีวภัณฑ์ ปริมาณ สูตร และวัน เวลาการรับปุ๋ยและชีวภัณฑ์และแจ้งผู้ประกอบกิจการปุ๋ยและชีวภัณฑ์

(9) ผู้ประกอบกิจการปุ๋ยและชีวภัณฑ์ส่งปุ๋ยและชีวภัณฑ์ให้สหกรณ์การเกษตรเพื่อให้สหกรณ์การเกษตรส่งต่อปุ๋ยและชีวภัณฑ์ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ณ สถานที่ และเวลาตามแผนการส่งมอบปุ๋ยและชีวภัณฑ์

(10) กรมวิชาการเกษตร ตรวจสอบคุณภาพปุ๋ยและชีวภัณฑ์ตามโครงการของแต่ละผู้ประกอบกิจการที่เข้าร่วมโครงการ

(11) เกษตรกรผู้ปลูกข้าวรับปุ๋ยและชีวภัณฑ์ ณ จุดส่งมอบ ภายในระยะเวลาตามแผนส่งมอบปุ๋ยและชีวภัณฑ์

(12) สหกรณ์การเกษตรสรุปข้อมูลการกระจายปุ๋ยและชีวภัณฑ์ของเกษตรกรผ่านระบบ และตรวจสอบวงเงินค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์แจ้ง ธ.ก.ส.

(13) ธ.ก.ส. จ่ายเงินให้สหกรณ์การเกษตร และสหกรณ์การเกษตรจ่ายเงินให้ผู้ประกอบกิจการปุ๋ยและชีวภัณฑ์

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

1. เกษตรกรผู้ปลูกข้าวประมาณ 4.68 ล้านครัวเรือน สามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวได้ร้อยละ 10 ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 และมีอำนาจในการใช้จ่ายภาคครัวเรือนเกษตรกรและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

2. เกษตรกรผู้ปลูกข้าวประมาณ 4.68 ล้านครัวเรือน สามารถเข้าถึงปุ๋ยคุณภาพในราคาถูก สำหรับเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว และยกระดับคุณภาพข้าวเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด

3.การใช้จ่ายในการซื้อปัจจัยการผลิต ทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเกิดการหมุนเวียน และสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐในการสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ตามโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว (โครงการไร่ละ 1,000 บาท) ได้ถึงปีละ 24,320 ล้านบาท (เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้งบประมาณช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีละ 54,300 ล้านบาท - 29,980 ล้านบาท