จับตา MRO อู่ตะเภา ยังไงก็หนีไม่พ้น “การบินไทย”

02 พ.ย. 2567 | 11:48 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ย. 2567 | 12:03 น.

แม้บอร์ดอีอีซี เตรียมจะชงครม.ยกเลิกมติครม.เดิมที่เคยให้สิทธิ์การบินไทยลงทุนศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO อู่ตะเภา) เพื่อให้อีอีซี หาผู้เช่ามาดำเนินธุรกิจนี้แทน แต่เชื่อได้เลยว่าในท้ายที่สุดการบินไทย ก็มีโอกาสสูงที่ได้เข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้

KEY

POINTS

ล่าสุดบอร์ดอีอีซี มีมติปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO อู่ตะเภา) โดยจะขอให้ครม.ยกเลิกมติ เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2561 ที่เคยให้สิทธิ์การบินไทยลงทุน มาเป็นให้อีอีซีดำเนินการจัดหาผู้เช่า เพื่อดำเนินโครงการนี้แทน เนื่องจากการบินไทยพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ

นั่นหมายถึงการบินไทยจะต้องคืนพื้นที่ 210 ไร่ ที่เคยได้รับสิทธิ์ไปก่อนหน้านี้ หลังจากโครงการลงทุน ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul : MRO) ที่สนามบินอู่ตะเภาได้ล่าช้ามากว่า 6 ปีแล้ว

ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2561 มอบให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการศูนย์ซ่อมฯ ดังกล่าวบนพื้นที่ 210 ไร่ โดยให้การบินไทยไปดำเนินการคัดเลือกเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งใช้วิธีการคัดเลือกเอกชนโดยไม่ใช้วิธีการประมูล(PPP)

โดยเอกชนลงทุน (อุปกรณ์) 4,255 ล้านบาท และภาครัฐลงทุน (โครงสร้างพื้นฐาน) โดยกองทัพเรือ 6,333 ล้านบาท แลกกับการจ่ายค่าเช่า และส่วนแบ่งรายได้ที่จะมอบให้รัฐ หลังจากนั้นการบินไทยได้ออกประกาศเชิญชวน และคัดเลือกเอกชนด้วยวิธีคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง

ผลการคัดเลือกพบว่า บริษัท Airbus S.A.S (แอร์บัส) ผ่านคุณสมบัติและมีประสบการณ์เหมาะสมตามที่การบินไทยกำหนดไว้ แต่ท้ายที่สุดการเจรจาร่วมทุนยังไม่เป็นผล มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และอุตสาหกรรมการบินต้องเจอผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 จึงทำให้ทางแอร์บัสถอนตัวร่วมลงทุน โครงการก็จึงค้างคา

ประกอบกับต่อมาการบินไทยเผชิญกับวิกฤติทางการเงิน ทำให้ต้องยื่นศาลล้มละลายกลางเพื่อฟื้นฟูกิจการ ก่อนจะพ้นจากสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจในปี 2563 โครงการนี้จึงต้องนำกลับมาพิจารณาความเหมาะสมของการลงทุนใหม่ เพราะเมื่อการบินไทยเป็นบริษัทเอกชน ทำให้ไม่สามารถเป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ตามมติ ครม.เดิมได้

กระทั่งปัจจุบันการบินไทยสามารถดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ จนสถานะทางการเงินของการบินไทยกลับมาเข้มแข็งขึ้น และอยู่ระหว่างกระบวนการปรับโครงสร้างทุน เพื่อเตรียมออกจากแผนฟื้นฟูกิจการในช่วงไตรมาส 2 ปีหน้า และยืนยันความพร้อมในการกลับมาลงทุนศูนย์ซ่อมอู่ตะเภาอีกครั้ง

เพราะปัจจุบันการบินไทยมีกระแสเงินสดอยู่ 8 หมื่นล้านบาท ไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง ส่วนการชำระหนี้ก็เป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งหนี้ได้ถูกยืดชำระหนี้ออกไปเป็นเวลา 12 ปี การลงทุน MRO จึงไม่มีปัญหา และธุรกิจนี้ก็เป็นโอกาสในการสร้างรายได้ของการบินไทยด้วยเช่นเดียวกัน

แม้ว่าการกลับมาลงทุนในครั้งนี้จะต้องอยู่ภายใต้แนวทางใหม่ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี จะเป็นผู้ดำเนินการจัดหาผู้เช่าที่ดินราชพัสดุ เพื่อดำเนินกิจกรรมศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานก็ตาม ทั้งนี้การจัดหาผู้เช่า เพื่อดำเนินการ MRO อู่ตะเภา เป็นไปตามมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 และระเบียบคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข การเช่าที่ดินราชพัสดุที่ประกาศเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. 2562

ต่อเรื่องนี้นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การบินไทย ยังยืนการลงทุนในโครงการ MRO อู่ตะเภา โดยได้เตรียมแผนในการลงทุน ไว้หมดแล้ว ถ้าอีอีซี จะเปิดประมูลหรือให้เช่าพื้นที่

การบินไทยคาดว่าจะใช้งบลงทุนราว 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งศูนย์ซ่อม MRO อู่ตะเภา ภายในพื้นที่ 210 ไร่ จะมีหลายองค์ประกอบ จุดหลัก ได้แก่ ศูนย์ซ่อม หรือ TG MRO โดยการบินไทย ได้หารือกับบางกอกแอร์เวย์ส ดึงเข้ามาร่วมลงทุน โดยการบินไทยถือหุ้นใหญ่

เฟสแรก จะลงทุนประมาณ 6 พันล้านบาท ในการสร้างโรงซ่อมบำรุงเครื่องบิน(แฮงการ์) จำนวน 3 แฮงการ์ สำหรับรองรับเครื่องบิน ลำตัวกว้าง 3 ลำ และเครื่องบินลำตัวแคบ 2 ลำ การบินไทยอยากจะสร้างให้เสร็จในเฟสแรก ในปี 2572 ซึ่งคาดว่าใช้เวลาก่อสร้างราว 4 ปี ส่วนเฟส 2 จะขยายโรงซ่อมบำรุงเครื่องบิน (แฮงการ์) อีก 3 แฮงการ์ รวมการลงทุนทั้งหมดจะรองรับเครื่องบินลำตัวกว้าง 4 ลำ และเครื่องบินลำตัวแคบ 4 ลำ

แผนลงทุนศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา ของการบินไทย

นอกจากนี้ยังมี Engine Shop, Component Shop ต่างๆที่เกี่ยวกับศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ที่การบินไทยก็ต้องไปหาผู้ร่วมลงรายย่อยเข้ามาด้วย การลงทุนที่จะเกิดขึ้นจะสูง กว่าแผนในอดีต ที่มีการหารือในยุคแอร์บัส เนื่องจากกิจกรรมไม่เหมือนกัน ซึ่งกับแอร์บัส จะเป็นในลักษณะเวนเดอร์ OEM นายชาย กล่าวทิ้งท้าย

อย่างไรก็ตามภายใต้กติกาใหม่ของการลงทุนที่จะเกิดขึ้น การบินไทยก็ยังมีความได้เปรียบมากที่สุดในธุรกิจนี้ เพราะการทำธุรกิจศูนย์ซ่อมอากาศยาน MRO ในประเทศไทย การบินไทยมีฝูงบินมากที่สุด ปัจจุบันอยู่ที่ 77 ลำ และในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเครื่องบินรวมกันเป็น 140-150 ลำ ถ้าในพื้นที่อีอีซีไม่มีศูนย์ซ่อม ของการบินไทย ผู้ประกอบการรายไหน จะมีขีดความสามารถในการดึงดีมานต์เครื่องบินเข้ามาซ่อมได้มากขนาดนี้ได้ทันที

เนื่องจากธุรกิจ MRO นอกจากการซ่อมเครื่องของสายการบินเองเป็นหลักแล้ว ยังมีการซ่อมบำรุงเครื่องบิน ของสายการบินลูกค้าด้วย ธุรกิจจึงไปได้ และยิ่งการบินไทยจับมือกับบางกอกแอร์เวย์สในการลงทุนด้วยแล้วก็จัดว่าเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในธุรกิจนี้ของไทย

ขณะที่นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี เผยว่าจากการหารือกับทางการบินไทยล่าสุดการบินไทย ยืนยันเดินหน้าโครงการ MRO เพราะมองว่าธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศ จะสร้างรายได้ให้การบินไทย และบริษัทมีความพร้อมดำเนินโครงการ

โดยอีอีซีเห็นว่าคนไทยควรมีส่วนในการ MRO อู่ตะเภาเพราะจะทำให้สายการบินของคนไทยมีศูนย์ซ่อมเครื่องบินของตัวเองไม่ต้องนำเครื่องบินไปซ่อมต่างประเทศ เป็นการสร้างแต้มต่อ ทางอุตสาหกรรมด้วยแต่หากเป็นต่างชาติ ลงทุนหมด ก็จะแปลก เพราะคนไทยเป็นลูกค้าใช้บริการเสียค่าซ่อมเงินออกนอกประเทศ กลายเป็นโครงการไม่ได้ช่วยคนไทยแลประเทศไทยเลย

หลักการ คือ เมื่ออีอีซี ขอยกเลิกมติครม.ที่ให้การบินไทยดำเนินธุรกิจศูนย์ซ่อม เพื่อนำพื้นที่คืนมา และขอครม.นำพื้นที่เปิดประมูลให้ผู้ที่สนใจเข้ามาร่วมดำเนินการ เป็นการให้เช่าพื้นที่

การลงทุน MRO พื้นที่ 210 ไร่ต้องเป็นแพคเกจเดียว ไม่ควรแบ่ง เพราะจะมีผลต่อการบริหารพื้นที่ส่วนกลาง ในมุมของการบินไทยอาจจะไปหาพาร์ทเนอร์ ต่างชาติ ที่มีเทคโนโลยีด้านซ่อมบำรุงอากาศยานต่อเนื่องที่นอกเหนือจากการซ่อมเครื่องยนต์ด้วย เช่น งานพ่นสี งานปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อทำให้ MRO อู่ตะเภา เป็นนิคมอุตสาหกรรมการบิน ที่มีการซ่อมบำรุงครบวงจร

“การบินไทยยังมีโอกาส เพราะมีฝูงบินของตัวเองจำนวนมากที่สุด แต่จะไม่ได้สิทธิ์เหมือนเดิมจะต้องเข้ามาในรูปแบบที่ อีอีซี กำหนดยื่นข้อเสนอใหม่ ซึ่งเมื่อเทียบกับศูนย์ซ่อมเครื่องบิน ที่ ดอนเมืองกับสุวรรณภูมิ อู่ตะเภา มีค่าเช่าพื้นที่ต่ำกว่า 3-4 เท่า”นายจุฬา กล่าว

อย่างไรก็ตามนอกจากการบินไทยแล้วยังมี สายการบินเวียตเจ็ท ที่มีฝูงบินขนาดใหญ่ เคยมาคุยกับอีอีซี แสดงความสนใจ MRO เช่นกัน ซึ่ง สายการบินต้นทุนต่ำ จะใช้เครื่องบินลำตัว แคบ คือ แอร์บัส A 320 และโบอิ้ง B 737 จำนวนมาก และมีปัญหาต้องหาศูนย์ซ่อมตามวงรอบ ศูนย์ซ่อม ใกล้สุดคือ สิงคโปร์ และจีน แต่ทั้ง 2 แห่งก็คิวจองเต็มมาก ส่วนมาเลเซีย ก็เป็นซ่อมเล็กกว่า จึงรองรับไม่ไหว คิวรอซ่อมยาวบางครั้งหลุดวงรอบการซ่อมกลายเป็นปัญหา

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ MRO อู่ตะเภาจะกลับมาเนื้อหอม เมื่อธุรกิจการบินกลับมาฟื้นตัวหลังโควิด และยิ่งอีอีซีมองว่าคนไทยควรมีส่วนในการ MRO อู่ตะเภา การบินไทยก็จัดว่ามีภาษี เพราะอยู่ในธุรกิจนี้อยู่แล้ว ประกอบกับมีฝูงบินขนาดใหญ่ที่สุดในไทยอีกด้วย

วิเคราะห์ หน้า 8 ฉบับที่ 4,038 วันที่ 24 - 26 ตุลาคม พ.ศ. 2567