การบินไทยเปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้น หลังปรับโครงสร้างทุน พ้นจากรัฐวิสาหกิจ?

04 ต.ค. 2567 | 04:02 น.

การบินไทยเปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัท หลังปรับโครงสร้างทุน เทียบสัดส่วนหุ้นกระทรวงการคลัง ในกรณีแปลงหนี้เป็นทุน และไม่มีการแปลงหนี้เป็นทุน หากเทียบกับผู้ถือหุ้นเดิมรวมเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ จะทำให้การบินไทยพ้นจากการกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจได้จริงหรือ

กว่า 3 ปีที่การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ล่าสุดวันนี้เป็นก้าวใหม่ที่การบินไทย เตรียมจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ ในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ หลังการปรับโครงสร้างทุนที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ซึ่งจะเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะเกิดขึ้น

หลังจากก่อนหน้านี้การบินไทยบรรลุเป้าหมายการออกจากแผนฟื้นฟูแล้วหลายข้อ ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 3.37 แสนล้านบาท เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2565 การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจจนทำให้ EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบิน ตั้งแต่ ก.ค.2566 ถึง มิ.ย.2567 อยู่ที่ 29,292 ล้านบาท สูงกว่าที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดไว้ที่ไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาทในรอบ 12 เดือนย้อนหลัง และ การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยไม่เกิดเหตุผิดนัด

การบินไทย

รวมถึงเมื่อวันที่ 13 ก.ย.2567 การบินไทยยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กองฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ กรมบังคับคดี เพื่อขอลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้(พาร์)จากปัจจุบันที่หุ้นละ 10 บาท เพื่อนำมาล้างขาดทุนสะสม ที่มีอยู่ราว 60,000 ล้านบาท

โดยจะนัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการในวันที่ 8 พ.ย.2567นี้ หากเจ้าหนี้เห็นชอบอนุมัติให้ลดพาร์ก็จะดำเนินการในเดือน ก.พ.2568 หลังงบปี 2567 ออกและเพิ่มทุนเสร็จสิ้นรองรับแผนนำหุ้นกลับมาเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯและจะกลับมาจ่ายเงินปันผลได้

การบินไทยเดินหน้าปรับโครงสร้างทุน

การปรับโครงสร้างทุนที่จะเกิดขึ้น นางเฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บมจ.การบินไทย (THAI) กล่าวว่า แผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบการขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565 กำหนดให้ในการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฯ บริษัทต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนเพื่อรองรับการแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฯ เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Mandatory Conversion) จำนวนไม่เกิน 14,862,369,633 หุ้น ในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น

เฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์

เจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 หรือ กระทรวงการคลัง จะได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างเต็มจำนวนในสัดส่วน 100% ในขณะที่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และ เจ้าหนี้กลุ่มที่ 18 – 31 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างในอัตรา 24.50% ของมูลหนี้เงินต้นคงค้างทั้งหมด

นอกจากนี้ เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ยังสามารถใช้สิทธิแปลงหนี้เงินต้นคงค้างเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนได้เพิ่มเติมโดยความสมัครใจ (Voluntary Conversion) จำนวนไม่เกิน 4,911,236,813 หุ้น ได้ในสัดส่วนที่ต้องการแต่จะต้องไม่เกินภาระหนี้ตามแผนฯ ของตน

เจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และ เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ตามแผนฯ ยังได้รับสิทธิแปลงดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนโดยความสมัครใจ จำนวนไม่เกิน 1,903,608,176 หุ้น โดยกำหนดให้ใช้สิทธิในการแปลงหนี้ดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักเป็นหุ้นสามัญเต็มจำนวนของมูลหนี้เท่านั้น ไม่สามารถเลือกใช้สิทธิบางส่วนได้ ในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น

อีกทั้งเพื่อความสำเร็จของการปรับโครงสร้างทุนภายใต้แผนฯ รวมทั้งเป็นการรักษาเสถียรภาพด้านราคาหุ้นของการบินไทยภายหลังกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้บริหารแผนได้กำหนดมาตรการ Lock-up ห้ามเจ้าหนี้ที่ได้รับหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากการแปลงหนี้เป็นทุนขายหุ้นดังกล่าวจนกว่าจะครบระยะเวลา 1 ปีนับจากวันที่หุ้นของการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ

การปรับโครงสร้างทุน การบินไทย

"หลังจากวันที่ครบกำหนดระยะเวลา 6 เดือนนับแต่วันที่หุ้นของการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงจะให้เจ้าหนี้ที่ได้รับหุ้นจากการแปลงหนี้เป็นทุนแต่ละรายสามารถขายหุ้นในส่วนดังกล่าวของตนได้จำนวนไม่เกิน 25% ของจำนวนหุ้นที่ตนถูกห้ามขาย"

สำหรับกระบวนการถัดไปในเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน ประกอบด้วย การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 9,822,473,626 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 59.01% ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายทั้งหมด รวมทั้งหุ้นที่เหลือจากกระบวนการ Voluntary Conversion (หากมี) ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม

ก่อนการปรับโครงสร้างทุน (โดยไม่จัดสรรและเสนอขายให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้การบินไทยมีหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ) พนักงานของการบินไทย และ บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ตามลำดับ โดยจะเสนอขายในราคาที่ผู้บริหารแผนเห็นสมควรแต่จะต้องไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น

การบินไทยได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567

คาดว่าจะมีการออกรายงานประเมินมูลค่ายุติธรรม โดยที่ปรึกษาทางการเงินอิสระในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2567 ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการใช้สิทธิของเจ้าหนี้ในการแปลงหนี้เป็นทุนในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 และ เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในช่วงเดือนธันวาคม 2567 ต่อไป รวมถึงแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ และคาดว่าการบินไทยจะสามารถยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อยกเลิกการฟื้นฟูกิจการและนำหุ้นของการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในไตรมาส 2 หรือเดือนมิถุนายนปี2568

โอกาสที่การบินไทยจะกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ

หลังการปรับโครงสร้างทุนจะทำให้การบินไทยกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่นั้น การบินไทยคาดว่าจะเข้าสู่กระบวนการใช้สิทธิของเจ้าหนี้ในการแปลงหนี้เป็นทุนในช่วงเดือน พ.ย. 2567 และเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในช่วงเดือน ธ.ค. 2567

ภายหลังการปรับโครงสร้างทุนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการในครั้งนี้ คาดว่ากระทรวงการคลังจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ แต่สัดส่วนการถือหุ้นจะลดลง จากโครงสร้างเดิมสัดส่วน 47.9% จะเหลือสูงสุดราว 41.4% ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้กับนักลงทุนรายอื่นๆ เข้ามาถือหุ้น

โครงสร้างการถือหุ้นการบินไทย หลังปรับโครงสร้างทุน

นายพรชัย ฐีระเวช คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ในฐานะตัวแทนกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ความกังวลว่าการกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นของ "การบินไทย" จะทำให้กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้งนั้น จากโครงสร้างผู้ถือหุ้นหลังจากที่มีการปรับโครงสร้างทุนได้แสดงเจตจำนงค์ในการแปลงหนี้เป็นทุน ขึ้นอยู่ว่าเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 นั่นก็คือกระทรวงการคลังถูกบังคับให้แปลงหนี้ 100%

ท้ายที่สุดเมื่อสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังและกองทุนรวมวายุภักษ์ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ถือหุ้นอื่นๆซึ่งมาจากการแปลงหนี้เป็นทุนแล้ว สัดส่วนเจ้าหนี้อื่นจะเพิ่มขึ้น ดังนั้น "โอกาสที่การบินไทยจะกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจโดยโครงสร้างต่างๆน่าจะเป็นไปได้ยาก" นายพรชัย กล่าวทิ้งท้าย

พรชัย ฐีระเวช

อย่างไรก็ตามเมื่อดูตามโครงสร้างบริษัทของการบินไทย หลังการปรับโครงสร้างทุน การบินไทยก็จะยังคงไม่กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ถ้าถามว่าในอนาคตหลังการบินไทย กลับเข้าไปเทรดในตลาดหุ้นแล้ว กระทรวงการคลังก็มีสิทธิมาซื้อหุ้นเพิ่มได้ในตลาดหลักทรัพย์ แต่ถามว่าเป็นเรื่องที่สมควรหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาการบริหารจัดการของการบินไทยที่เป็นรัฐวิสาหกิจได้พิสูญจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าการกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในอนาคตการบินไทยจะกลับมาถูกแทรกแซงจากรัฐบาลอีกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้นอย่างกระทรวงการคลัง , เจ้าหนี้ที่จะแปลงหนี้เป็นทุน สถาบันการเงิน หุ้นกู้ที่จะแปลงหนี้เป็นทุน ฯลฯ ที่จะต้องเลือกกรรมการที่ดีเพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้ในลักษณะที่คล้ายกับในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดความยั่งยืน อย่าให้มันกลับไปเป็นอย่างเดิม

การบินไทยเปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้น หลังปรับโครงสร้างทุน พ้นจากรัฐวิสาหกิจ?

เพราะสมัยก่อนต้องยอมรับว่ามันมีการลดระเบียบปฎิบัติเยอะแยะของภาครัฐต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการขออนุมัติต่างๆ การตัดสินใจทำได้ช้า และมีการแทรกแซงที่ปฏิเสธไม่ได้เลย มีการแทรกแซงโดยการโยกย้าย แต่งตั้งในโอกาสต่างๆ แต่ "การบินไทย" เป็นบริษัทที่แข่งขันสูงมาก ดังนั้นหากได้คนไม่ดีขึ้นมาบริหาร บริษัทไปไม่ได้แน่ ไปสู้กับคู่แข่งอื่นๆไม่ได้

แต่บริษัทอื่นที่รัฐถือหุ้น อาจมีการแทรกแซงบ้างหรืออาจจะให้คนไม่ดีขึ้นมาบริหารได้บ้าง เพราะเขามีกิจการที่ผูกขาด แต่ "การบินไทย" ไม่มีผูกขาดเลย โดยเฉพาะภายใต้นโยบายของรัฐที่เป็นน่านฟ้าเสรีมาเป็นเวลากว่า 20 ปี 

แต่วันนี้เมื่อการบินไทยไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจเราก็ทำได้ดี แม้ว่าคนชอบพูดเยอะมากว่าฟื้นฟูฯครั้งนี้ใครๆก็ทำได้เพราะมาจากการขายทรัพย์สินถึงได้เงินเยอะแยะ แต่เราพิสูญจน์แล้วว่าวันนี้เรามีเงินสด 82,000 ล้านบาท โดย 10,000 ล้านบาทมาจากการขายทรัพย์สินที่ไม่มีความจำเป็น และอีก 70,000 ล้านบาทที่อยู่ในบัญชีมาจากการประกอบการธุรกิจการบินและธุรกิจอื่นๆของบริษัท