การบินไทย จ่อทุ่มหมื่นล้าน ดึงบางกอกแอร์เวย์ส ร่วมลงทุน MRO อู่ตะเภา

03 ต.ค. 2567 | 04:09 น.
529

การบินไทย พร้อมทุ่มงบเฉียด 1 หมื่นล้านบาท ลงทุนในโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (Maintenance Repair and Overhaul : MRO) โดยดึงบางกอกแอร์เวย์ส รวมถึงพันธมิตรหลายรายร่วมลงทุน รอเพียงเงื่อนไขความชัดเจนจากอีอีซี

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เปิดเผยว่า การบินไทย ยังยืนการลงทุนในโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (Maintenance Repair and Overhaul : MRO) ซึ่งคงต้องรอเงื่อนไขความชัดเจนจากอีอีซีก่อน หลังจากอีอีซี จะชงเรื่องเข้าครม.ขอยกเลิกมติที่ให้การบินไทย ดำเนินโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) ตามมติครม.เมื่อปี 2561 เนื่องจากพ้นความเป็นรัฐวิสาหกิจ

ชาย เอี่ยมศิริ

ในส่วนของการบินไทย เราได้เตรียมแผนในการลงทุน MRO ที่สนามบินอู่ตะเภาไว้หมดแล้ว ถ้าอีอีซี จะเปิดประมูลหรือให้เช่าพื้นที่การบินไทยก็มีความพร้อมในการเข้าไปลงทุนศูนย์ซ่อม MRO อู่ตะเภา ภายในพื้นที่ 210 ไร่ ซึ่งจะมีหลายองค์ประกอบ จุดหลัก

ได้แก่ ศูนย์ซ่อม หรือ TG MRO ซึ่งการบินไทย ได้หารือกับบางกอกแอร์เวย์ส ดึงเข้ามาร่วมลงทุน โดยการบินไทยถือหุ้นใหญ่ นอกจากนี้ยังมี Engine Shop, Component Shop ต่างๆที่เกี่ยวกับศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ที่การบินไทยก็ต้องไปหาผู้ร่วมลงรายย่อยเข้ามาด้วย

สำหรับการลงทุน ศูนย์ซ่อม MRO อู่ตะเภา ตามแผนการบินไทยจะแบ่งการลงทุน ออกเป็น 2 ระยะ รวมวงเงินลงทุนเฉียด 1 หมื่นล้านบาท

  • เฟสแรก จะลงทุนประมาณ 6 พันล้านบาท ในการสร้างโรงซ่อมบำรุงเครื่องบิน(แฮงการ์) จำนวน 3 แฮงการ์ สำหรับรองรับเครื่องบิน ลำตัวกว้าง 3 ลำ และเครื่องบินลำตัวแคบ 2 ลำ
  • เฟส 2 จะขยายโรงซ่อมบำรุงเครื่องบิน (แฮงการ์) อีก 3 แฮงการ์

การลงทุน ศูนย์ซ่อม MRO อู่ตะเภา ของการบินไทย

การลงทุนที่จะเกิดขึ้นจะสูง กว่าแผนในอดีต ที่มีการหารือในยุคแอร์บัส เนื่องจากกิจกรรมไม่เหมือนกัน ซึ่งกับแอร์บัส จะเป็นในลักษณะเวนเดอร์ OEM

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาการบินไทยได้หารือกับพันธมิตรหลายราย ซึ่ง MRO ก็มีหลายหลากมาก แต่คนก็จะมองว่าต้องเป็นแอร์บัส หรือ โบอิ้ง ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่ แต่ยังมีองค์ประกอบที่เกี่ยวเนื่องหลายด้าน อาทิ ผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานต่างๆ ที่การบินไทยได้มีการหารือกับผู้ลงทุนแล้ว

ทั้งนี้การลงทุน MRO อู่ตะเภา การบินไทยอยากจะสร้างให้เสร็จในเฟสแรก ในปี 2572 ซึ่งคาดว่าใช้เวลาก่อสร้างราว 4 ปี โดยเรามองว่าถ้าแฮงการ์สร้างเสร็จ แต่รันเวย์ 2 ยังไม่เสร็จก็ต้องลงทุนต่อทางขับ (Taxi way)ช่วงสั้นเชื่อมต่อรันเวย์ ดังนั้นทางบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA ควรลงทุนค่าเช่า หรือควรจะเป็นเท่าไหร่ มีการเจรจาหมดแล้ว เพียงแต่รอทีโออาร์จากอีซีซี

นายชาย ยังกล่าวต่อว่า การทำธุรกิจศูนย์ซ่อมอากาศยาน MRO ในประเทศไทย การบินไทยมีฝูงบินมากที่สุด ปัจจุบันอยู่ที่ 77 ลำ และในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเครื่องบินรวมกันเป็น 140-150 ลำ ถ้าในพื้นที่อีอีซีไม่มีศูนย์ซ่อม ของการบินไทย ผู้ประกอบการรายไหน จะมีขีดความสามารถในการดึงดีมานต์เครื่องบินเข้ามาซ่อมได้มากขนาดนี้ได้ทันที

เพราะธุรกิจ MRO นอกจากการซ่อมเครื่องของสายการบินเองเป็นหลัก และการซ่อมบำรุงเครื่องบิน ของลูกค้า ธุรกิจจึงไปได้ อีกทั้งในทางกลับกันถ้าการบินไทยไม่มีศูนย์ซ่อม แปลว่าการบินไทยต้องนำเครื่องบินไปซ่อมที่ต่างประเทศ เงินตราจะไหลออกนอกประเทศหรือไม่

ขณะที่นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี เปิดเผยว่าจากการหารือกับทางการบินไทยล่าสุดการบินไทย ยืนยันเดินหน้าโครงการ MRO เพราะมองว่าธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศ จะสร้างรายได้ให้การบินไทย และบริษัทมีความพร้อมดำเนินโครงการ โดยอีอีซีเห็นว่าคนไทยควรมีส่วนในการ MRO อู่ตะเภา

เพราะจะทำให้สายการบินของคนไทยมีศูนย์ซ่อมเครื่องบินของตัวเองไม่ต้องนำเครื่องบินไปซ่อมต่างประเทศ เป็นการสร้างแต้มต่อ ทางอุตสาหกรรมด้วยแต่หากเป็นต่างชาติ ลงทุนหมด ก็จะแปลก เพราะคนไทยเป็นลูกค้าใช้บริการเสียค่าซ่อมเงินออกนอกประเทศ กลายเป็นโครงการไม่ได้ช่วยคนไทยและประเทศไทยเลย

ส่วนรูปแบบการคัดเลือกผู้ลงทุน MRO อู่ตะเภานั้น อีอีซีจะต้องสอบถามความเห็นผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุด หลักการ คือ เมื่ออีอีซี ขอยกเลิกมติครม.ที่ให้การบินไทยดำเนินธุรกิจศูนย์ซ่อม เพื่อนำพื้นที่คืนมา และขอครม.นำพื้นที่เปิดประมูลให้ผู้ที่สนใจเข้ามาร่วมดำเนินการ เป็นการให้เช่าพื้นที่ ซึ่งตามระเบียบอีอีซี การนำทรัพย์สินหาประโยชน์จะต้องประมูล แต่อาจจะไม่ใช้วิธีประมูลได้ หากมีผู้ประกอบการน้อยราย อาจใช้วิธีเปิดให้ผู้สนใจให้เข้ามายื่นข้อเสนอ

เนื่องจากผู้ที่เข้ามาลงทุน ก็ต้องมีลูกค้าจึงจะคุ้มค่า MRO อู่ตะเภาจะเป็นฐานใหญ่ซ่อมบำรุงอากาศยาน ซึ่งจะมีสายการบินของประเทศไทย เป็นลูกค้าหลัก โดยอีอีซี มีเป้าหมาย เริ่มดำเนินการคัดเลือกเอกชน ในปี 2568 เพื่อให้ MRO แล้วเสร็จพร้อมหรือก่อนที่สนามบินอู่ตะเภา จะเปิดให้บริการ เพราะเมื่อรันเวย์ 2 ก่อสร้างเสร็จ ส่วนของ MRO ก็สามารถให้บริการได้ทันที เนื่องจากไม่ได้เกี่ยวข้องกับส่วนของอาคารผู้โดยสาร ซึ่งจะทำให้ สนามบินอู่ตะเภา มีบริการที่ครบวงจร และรองรับความต้องการซ่อมบำรุงอากาศยานภายในประเทศอีกด้วย

การลงทุน MRO พื้นที่ 210 ไร่ต้องเป็นแพคเกจเดียว ไม่ควรแบ่งเพราะจะมีผลต่อการบริหารพื้นที่ส่วนกลาง ในมุมของการบินไทยอาจจะไปหาพาร์ทเนอร์ ต่างชาติ ที่มีเทคโนโลยีด้านซ่อมบำรุงอากาศยานต่อเนื่องที่นอกเหนือจากการซ่อมเครื่องยนต์ด้วย เช่น งานพ่นสี งานปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อทำให้ MRO อู่ตะเภา เป็นนิคมอุตสาหกรรมการบิน ที่มีการซ่อมบำรุงครบวงจร

ดังนั้นการบินไทยยังมีโอกาส เพราะมีฝูงบินของตัวเองจำนวนมากที่สุด แต่จะไม่ได้สิทธิ์เหมือนเดิมจะต้องเข้ามาในรูปแบบที่ อีอีซี กำหนดยื่นข้อเสนอใหม่ ซึ่งเมื่อเทียบกับศูนย์ซ่อมเครื่องบิน ที่ ดอนเมืองกับสุวรรณภูมิ อู่ตะเภา มีค่าเช่าพื้นที่ต่ำกว่า 3-4 เท่า

นายจุฬา ยังกล่าวต่อว่านอกจากการบินไทยแล้วยังมี สายการบินเวียตเจ็ท ที่มีฝูงบินขนาดใหญ่ เคยมาคุยกับอีอีซี แสดงความสนใจ MRO เช่นกัน ซึ่ง สายการบินต้นทุนต่ำ จะใช้เครื่องบินลำตัว แคบ คือ แอร์บัส A 320 และโบอิ้ง B 737 จำนวนมาก และมีปัญหาต้องหาศูนย์ซ่อมตามวงรอบ ศูนย์ซ่อม ใกล้สุดคือ สิงคโปร์ และจีน แต่ทั้ง 2 แห่งก็คิวจองเต็มมาก ส่วนมาเลเซีย ก็เป็นซ่อมเล็กกว่า จึงรองรับไม่ไหว คิวรอซ่อมยาวบางครั้งหลุดวงรอบการซ่อมกลายเป็นปัญหา

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,033 วันที่ 6 - 9 ตุลาคม พ.ศ. 2567