ดีดีการบินไทย เปิดยุทธศาสตร์ฝูงบิน 5 ปี 143 ลำ ภายในปี 2572

27 ก.ย. 2567 | 04:00 น.
864

การบินไทยเตรียมจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ ภายในไตรมาส 2 ปี 2568 และจะกลับมาผงาดขึ้นเป็นสายการบินระดับชั้นนำของโลก ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการฝูงบินจึงเป็นเรื่องสำคัญ “ชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีคำตอบ

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดใจกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ทิศทางของการบินไทยหลังออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ เราต้องช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดกลับมา โดยวางแผนการทำธุรกิจในระยะยาว เพื่อจะนำการบินไทยกลับขึ้นมาเป็นสายการบินชั้นนำของโลก ปัจจุบันการบินไทย ถ้าดูเฉพาะการให้บริการที่สนามบินสุวรรณภูมิ เรามีสัดส่วนประมาณ 25% จากก่อนหน้านี้อยู่ประมาณ 33-35%

ถ้าเราไม่ปรับปรุง ไม่หากำลังการผลิตเพิ่ม สัดส่วนนี้จะลดลงไปเรื่อย เพราะคนอื่นเขาโต แต่เราถดถอย ก็ยิ่ง เป็น 2 แรงต้าน ทำให้สัดส่วนตลาดยิ่งเล็กลง

ชาย เอี่ยมศิริ

ในธุรกิจสายการบินก็คงมีคำถามว่าทำไมเขาต้องมีการส่งผ่านผู้โดยสาร หรือการทำโค้ดแชร์ กับสายการบินเล็กๆ เพราะคุณจะไม่มีมูลค่า ไม่มีแวลูให้เขา การบินไทย อยู่ในประเทศไทย ประเทศไทยอยู่ในภูมิรัฐศาสตร์ที่ดี แต่เราไม่ได้ใช้โอกาสนั้นในการทำธุรกิจมากพอ เราก็ควรจะช่วงชิงวางแผนการทำธุรกิจในระยะยาว เพื่อที่จะนำการบินไทยกลับขึ้นมาเป็นสายการบินชั้นนำจริงๆให้ได้ ซึ่งสายการบินที่เป็นสายการบินเจ้าถิ่น ควรจะมีสัดส่วนของการตลาด อย่างน้อย 40% ของตลาดเขาเอง

ดังนั้นการบินไทยอยู่ระหว่างการทำแผน 10 ปี นับจากปีที่แล้ว ปี 2567-2576 เนื่องจากจะมีเครื่องบินที่ต้องปลดประจำการ และเครื่องบินที่จะต้องหมดสัญญาเช่าที่จะต้องเอาออกไป ซึ่งการบินไทยได้ตัดสินใจจัดหาเครื่องบินแบบเฟริมออร์เดอร์โบอิ้ง 787 จำนวน 45 ลำ ยังไม่ได้ตัดสินใจ ว่าจะเป็น เช่าดำเนินการ เช่าซื้อ หรือ ซื้อเงินสด แต่ไม่จำเป็นต้องตัดสินใจวันนี้ เราวางมัดจำงวดแรกไปแล้ว การบริหารจัดการตรงนี้ไม่ผ่านเอเย่นต์ไม่มีค่าคอมมิชั่น ดีลตรงกับผู้ผลิตเครื่องบิน และเป็นอ็อปชั่น 35 ลำ และระหว่างทางก็มีการจัดหาฝูงบินระหว่างรอรับมอบเครื่องบินตามแผนในช่วง 9-10 ปีนี้

การบินไทยขยายฝูงบินรวม 143 ลำ ภายในปี 2572

โดยในช่วงแผน 5 ปีนี้การบินไทยจะมีฝูงบินรวม 143 ลำ ภายในปี 2572 เทียบกับก่อนโควิดที่มี 103 ลำ นับเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว ถ้าคิดเฉลี่ยการเจริญเติบโตถือว่าต่ำมากอยู่ที่ 2-3% ในจำนวนนี้จะเป็นเครื่องบินใหม่ 71 ลำ อาทิ โบอิ้ง 787 จำนวน 31 ลำ โบอิ้ง 787-900 อีก 8 ลำ แอร์บัส 321 นีโอ 32 ลำ การนำเครื่องบินใหม่ ซึ่งเป็นเครื่องบินแบบนิวเจนเนอเรชั่นเข้ามา จะทำให้มีต้นทุนในการปฏิบัติการบินที่ต่ำกว่าเครื่องบินรุ่นเก่าที่มีอายุการใช้งานนานกว่า 20 ปี จึงจำเป็นต้องปลดระวาง หาเครื่องบินใหม่มาทดแทน และนำเครื่องบินใหม่มาขยายตลาด เพื่อกลับคืนสู่สิ่งที่เราเคยเป็นก่อน

แผนขยายฝูงบินของการบินไทย

การบินไทยคาดว่าจำนวนการผลิตของการบินไทยในปี 2569 จึงจะกลับมาสูงกว่าก่อนโควิด จากในขณะนี้ที่มีจำนวนการผลิตอยู่ที่ 67% ของปีก่อนโควิด แม้จำนวนการผลิตอาจจะยังน้อย แต่จะเห็นว่ารายได้รวมของบริษัทมีแนวโน้มจะกลับมาเท่าๆกับปี 2562 ที่อยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งในครึ่งแรกของปีนี้การบินไทยมีรายได้รวม 9.1 หมื่นล้านบาท แสดงให้เห็นว่าการบินไทยมีรายได้ต่อหน่วยดีขึ้น แสดงว่าความสามารถในการหารายได้ต่อทรัพย์สินเพิ่มขึ้น ก่อนจะมองถึงการเติบโตกว่าที่เราเคยเป็นในสเต็ปต่อไป

มุ่งจัดหาเครื่องบินลำตัวกว้าง คิดเป็น 70% ในฝูงบินทั้งหมด

อย่างไรก็ตามการจัดหาฝูงบินใหม่ที่จะเกิดขึ้นกว่า  70% จะเป็นเครื่องลำบินตัวกว้าง อีก 30 % จะเป็นเครื่องบินลำตัวแคบ ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของการบินไทย   เนื่องจากเส้นทางบินในตลาดระยะไกลการบินไทยมีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว จึงจะมาเน้นขยายตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคที่ในอนาคตจะเติบโตสูงมาก ซึ่งการจะทำให้ไทยเป็นฮับการบิน เมื่อผู้โดยสารบินจากระยะไกล การมาต่อเที่ยวบินในภูมิภาคและโดเมสติก เป็นความต้องการ การนำเครื่องบินลำตัวแคบเข้าฝูงบินเพิ่มขึ้น ก็จะเข้ามาช่วงชิงโอกาสทางการตลาดที่จะเชื่อมเน็ตเวิร์คได้

ดีดีการบินไทย เปิดยุทธศาสตร์ฝูงบิน 5 ปี 143 ลำ ภายในปี 2572

“ในอดีตการบินไทยมีแต่เครื่องบินลำตัวกว้าง ซึ่งเป็นเครื่องบินใหญ่ เหมาะสำหรับการบินระยะกลางและระยะไกล การจะนำเครื่องบินลำตัวกว้างไปบินระยะสั้น ในเส้นทางในภูมิภาคนี้ หรือภายในประเทศ ไม่เหมาะ ถ้านำไปบินครั้งคราวพอทำได้ แต่ถ้าบินประจำ จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนในบำรุงรักษารักษาเครื่องบินที่ต้องซ่อมบำรุงเร็วกว่าที่ควรจะเป็น นี่เองจึงทำให้การบินไทย รับมอบเครื่องบินแอร์บัสเอ A320 จำนวน 20 ลำ จากไทยสมายล์เข้ามาอยู่ในฝูงบินของการบินไทย”

ล่าสุดการบินไทยอยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนเก้าอี้เครื่องบินแอร์บัส A320 โดยในชั้นอีโคโนมี 4 แถวแรก เปลี่ยนเป็นบิสิเนสคลาส รวม 12 ที่นั่ง เอนได้ 160 องศา เหมาะกับระยะบิน 2-3 ชั่วโมง และจะมีการใส่อินไฟล์ตเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ที่จะเป็น Wireless IFD ซึ่งผู้โดยสารสามารถนำดีไวซ์ของตัวเอง อย่าง มือถือ หรือ ไอแพคของตัวเอง มาเปิดแล้วเชื่อมต่อกับสารบบบันเทิงบนเครื่องบิน เพื่อดูหนังฟังเพลงได้จากอุปกรณ์ของตัวเอง จากหูฟังของตัวเองได้ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการปรับเปลี่ยนในเดือนพ.ย.นี้เป็นลำแรก คาดว่าไม่เกินไตรมาส 2 ปีหน้าก็จะดำเนินการปรับปรุงแล้วเสร็จทั้งหมด

รวมถึงในการจัดหาเครื่องบินใหม่ตามแผน การบินไทย จึงจัดหาเครื่องบินลำตัวแคบ อย่าง แอร์บัส 321 นีโอ 32 ลำ ซึ่ง 12 ลำแรก คาดว่าจะรับมอบในปี 2568 และจะมีการรับมอบเพิ่มเติมอีก 20 ลำ ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป ในที่สุดการบินไทยจะมีเครื่องบินลำตัวแคบให้บริการทั้งหมด 52 ลำ ประกอบด้วย แอร์บัส A321 นีโอ 32 ลำ และ A320 อีก 20 ลำ

เครื่องบินลำตัวแคบรุ่นใหม่นี้จะช่วยสร้างเครือข่ายการบินภูมิภาคให้เป็นจุดแข็งของการบินไทย และเชื่อมโยงเส้นทางภายในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังวางกลยุทธ์ในการเพิ่มความถี่ของเส้นทางที่มีกำไรและดึงดูดผู้โดยสารจากเส้นทางระยะไกลเข้าสู่เครือข่ายของการบินไทย สร้างกรุงเทพให้เป็นศูนย์กลางการบิน

ขายเครื่องบินเก่า 40 ลำได้เกือบหมดแล้ว

ส่วนการขายเครื่องบินที่ปลดระวาง การบินไทยขายไปเกือบจะหมดแล้ว ล่าสุดขายแอร์บัส เอ 380 ได้แล้วกำลังจะส่งมอบ ส่วนโบอิ้ง 777-200 ได้ผู้ซื้อแล้วเหลือเจรจาสัญญา ยังไม่ทราบว่าจะสำเร็จหรือไม่ ถ้าไม่สำเร็จก็ขายต่อไป รวมเครื่องบินที่การบินไทย ขายออกไปตั้งแต่เข้าแผนฟื้นฟูอยู่ที่ 40 ลำ เป็นเครื่องบินเก่าที่ปลดระวาง รวมมูลค่า 2,000 ล้านบาท (ไม่รวมแอร์บัสเอ 380 )

ปรับโครงสร้างแยกบิสิเนส ยูนิต 

นายชาย ยังกล่าวต่อถึง ความคืบหน้าของการปรับโครงสร้างหน่วยธุรกิจ (บิสิเนส ยูนิต) ด้วยว่าในระยะยาวการปรับโครงสร้างหน่วยธุรกิจ ต้องมีการแยกออกมาให้ชัดเจน ในการทำธุรกิจ เพราะทุกวันนี้ยังเป็นหน่วยธุรกิจอยู่ เป็นฟังก์ชั่นในบริษัท ขณะที่สายบินการบินแทบจะทั้งโลกเขาแบ่งแยกไปแล้ว สายการบินก็สายการบิน ครัวการบิน ก็ครัวการบิน การบริการภาคพื้น ก็เป็นการบริการภาคพื้น เพื่อให้เห็นถึงประสิทธิภาพจริงๆในแต่ละธุรกิจ

ไม่งั้นจะไปผูกโยงกัน จนเราแกะไม่ออก ว่าประสิทธิภาพจริงของแต่ละหน่วย คืออะไร ต้นทุนที่แท้จริง คือ เท่าไหร่ แบ่งแยกไม่ได้ ดังนั้นในอนาคตก็ควรจะต้องแยกธุรกิจออกไป จะหาผู้ร่วมทุนหรือไม่ จะหาหรือไม่หาก็ต้องไปว่ากัน ทำเอง หรือจะหาผู้ร่วมทุนก็ได้ ซึ่งผมว่าข้อดีมากกว่าข้อเสีย เพราะเป็นการเสริมสร้าง ธุรกิจ เพิ่มขึ้น

สำหรับการลงทุนศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา บนพื้นที่ 220 ไร่ การบินไทยก็แสดงเจตจำนงค์ต่ออีอีซีมาโดยตลอดว่าสนใจเข้าไปลงทุน ซึ่งคงต้องรอเงื่อนไขจากอีอีซีก่อน เพราะก่อนหน้านี้อีอีซีมองว่าการให้สิทธิการบินไทยลงทุน ต้องถูกถอดออกไปจากมติครม.เดิม เพราะการบินไทยหลุดพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว ซึ่งหากอีอีซี จะให้การบินไทยเช่า เราก็ยินดีซึ่งการบินไทยก็ต้องมีพาร์ทเนอร์ในการเข้าไปลงทุน

หน้า 10 ฉบับที่ 4,030 วันที่ 26 - 28 กันยายน พ.ศ. 2567