การบินไทยแก้ไขแผนฟื้นฟู ลดพาร์ล้างขาดทุนสะสม กรุยทางจ่ายปันผล ดูดนักลงทุน

14 ก.ย. 2567 | 03:41 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ย. 2567 | 08:05 น.

การบินไทย ประชุมเจ้าหนี้ 8 พ.ย.67 ขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ เพิ่มอำนาจให้ผู้บริหารแผนฯ ลดทุนจดทะเบียนด้วยการลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) ล้างขาดทุนสะสม เปิดโอกาสให้ในอนาคตจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น รวมถึงเจ้าหนี้จากการแปลงหนี้เป็นทุน ดึงดูดนักลงทุน

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ได้รายงานตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 บริษัทได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กองฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ กรมบังคับคดี

ชาย เอี่ยมศิริ

โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดวันนัดประชุมเจ้าหนี้ เพื่อพิจารณาข้อเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าวในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567

โดยขอให้พิจารณาข้อเสนอเพิ่มอำนาจให้ผู้บริหารแผนฯ ลดทุนจดทะเบียนด้วยการลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) ล้างขาดทุนสะสม เปิดโอกาสให้ในอนาคตจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น รวมถึงเจ้าหนี้จากการแปลงหนี้เป็นทุน ดึงดูดนักลงทุน

 

โดยระบุว่าตามที่เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยข้อเสนอขอแก้ไขแผน 

โดยปัจจุบันผู้บริหารแผนอยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการนั้น เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท เจ้าหนี้ที่ได้รับการแปลงหนี้เป็นทุน (ทั้งภาคบังคับและการสมัครใจใช้สิทธิเพิ่มเติม

รวมถึงการสมัครใจใช้สิทธิแปลงดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักเป็นทุน) นักลงทุนที่ซื้อหุ้นเพิ่มทุน ตลอดจนผู้ถือหุ้นเดิมและเจ้าหนี้ทั้งหลายที่จะได้รับจากความสำเร็จในการปรับโครงสร้างทุนของบริษัทตามแผนฟื้นฟูกิจการ

ผู้บริหารแผนจึงเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อกำหนดให้ผู้บริหารแผนมีอำนาจลดทุนจดทะเบียนด้วยการลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par Value)

ทั้งนี้เพื่อที่จะทำให้บริษัทสามารถล้างผลขาดทุนสะสมให้ใกล้เคียงศูนย์มากที่สุด และมีอำนาจดำเนินการอื่นใดที่จำเป็นและเกี่ยวข้อง เพื่อเปิดโอกาสให้ในอนาคตบริษัทสามารถพิจารณาการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น ซึ่งรวมถึงเจ้าหนี้จากการแปลงหนี้เป็นทุน 

โดยความสามารถในการจ่ายเงินปันผลถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดนักลงทุน ที่จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับหุ้นของบริษัท และเสริมสร้างโอกาสความสำเร็จในการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการในครั้งนี้

อย่างไรก็ตามในการพิจารณาการจ่ายเงินปันผลในอนาคต บริษัทจะพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นผลการดำเนินงาน ฐานะการเงิน ความสามารถในการชำระหนี้ และเงินทุนหมุนเวียน เพื่อให้การตัดสินใจเป็นไปอย่างเหมาะสมที่สุด และเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อบริษัท

ทั้งนี้ การลดทุนจะเกิดขึ้นภายหลังจากการปรับโครงสร้างทุนในข้อ 5.6.3 (การแปลงหนี้เป็นทุน) และข้อ 5.6.4 (การเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน) ตามแผนฟื้นฟูกิจการแล้วเสร็จ