การบินไทยปั้มรายได้ 1.8 แสนล้าน เน้นบินแบบเน็ตเวิร์ค ดันกรุงเทพทรานซิสฮับ

10 ก.ย. 2567 | 04:00 น.

การบินไทยรุกเต็มที่ปั้มรายได้ 1.8 แสนล้าน เน้นการให้บริการเส้นทางบินในแบบโครงข่าย หรือเน็ตเวิร์คเพิ่มขึ้น ทำให้กรุงเทพฯเป็นทรานซิส ฮับ ทั้งคาดการณ์ในปี 2568 จะมีจำนวนผู้โดยสารกลับมาใช้บริการได้ประมาณ 90-95% ของปีก่อนเกิดโควิด

การขับเคลื่อนรายได้ของการบินไทยในปี 2567 นี้ ถือว่ามีทิศทางที่ดี ซึ่งผ่านมาแล้ว 6 เดือน การบินไทยทำรายได้รวม 9.5 หมื่นล้านบาท ดังนั้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ การบินไทยจึงรุกเต็มที่ เพื่อสร้างการเติบโตของรายได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรลุเป้าหมายการออกจากแผนฟื้นฟูกิจการในช่วงไตรมาส 2 ปีหน้า

โดยหนึ่งในเงื่อนไขการออกจากแผน คือ ต้องมีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อม (EBITDA) เกิน 2 หมื่นล้านบาท ต่อเนื่องติดต่อกัน 12 เดือน ซึ่งก็ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะดำเนินการได้สำเร็จตามแผนแน่นอน เหลือเพียงการปรับโครงสร้างทุนที่กำลังจะเกิดขึ้น

รายได้รวมการบินไทย

นายกรกฎ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าสำหรับเป้าหมายการสร้างรายได้ของการบินไทยในปี 2567 นี้ การบินไทยตั้งเป้ารายได้อยู่ที่ราว 1.8 แสนล้านบาท ใกล้เคียงกับในอดีต 

โดยตอนนี้ตลาดฟื้นกลับมาคิดเป็นสัดส่วน 80% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่งลูกค้าหลักของการบินไทย กว่า 75% เป็นผู้โดยสารจากตลาดระยะไกล อย่าง ยุโรป ออสเตรเลีย แต่ก็เริ่มเห็นการฟื้นตัวของตลาดเอเชีย

ทั้งนี้ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.2567) การบินไทยมีสัดส่วนการขายมาจากตลาดในประเทศคิดเป็น 28% ตลาดยุโรป 28% รองลงมาคือ Northern 20% เอเชียใต้ อินโดไชน่า และออสเตรเลีย 14% และ Western & Middle East 10%

กรกฎ ชาตะสิงห์

ปกติการบินไทยจะมีจำนวนผู้โดยสาร 19 ล้านคนต่อปี ผ่านมาครึ่งปีแรก มีผู้โดยสารกว่า 8 ล้านคนแล้ว เชื่อว่าภายในสิ้นปีนี้ จะอยู่ที่ 16 ล้านคน และคาดการณ์ว่าในปี 2568 จะมีจำนวนผู้โดยสารกลับมาใช้บริการได้ประมาณ 90-95% ของปีก่อนเกิดโควิด (ปี 2562)

นายกรกฎ กล่าวต่อว่า ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา เราใช้โอกาสจากโควิด มาปรับตัวเองในการดำเนินธุรกิจ ทำให้วันนี้การบินไทยไม่เหมือนในอดีต เรามีต้นทุนทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้นมาก ได้มีการแก้ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการฝูงบิน ให้สอดรับกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น 

อย่างในอดีตการบินไทย เน้นเครื่องบินลำตัวกว้าง เพื่อทำการบินในตลาดระยะไกลเป็นหลัก ดังนั้นฝูงบินของการบินไทยกว่า 90% จะเป็นเครื่องบินลำตัวกว้าง อีก 10 % เป็นเครื่องบินลำตัวแคบ จุดนี้จึงไม่ตอบโจทย์ในการสร้างความเป็นฮับเท่าที่ควร

แต่หลังจากการบินไทยได้ควบรวมกับสายการบินไทยสมายล์ ทำให้เกิดเป็น One Thai One Fly ทำให้การบินไทยวางแผนบริหารจัดการฝูงบินให้สอดรับกับทิศทางและดีมานต์ของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างเน็ตเวิร์กในการบินที่ครอบคลุมมากขึ้น

โดยเครื่องบินลำตัวแคบ ที่ไทยสมายล์ใช้ทำการบินอยู่เดิม การบินไทยจะนำมาให้บริการในเส้นทางบินระยะใกล้ อย่าง อินโดไชน่า ทำให้การบินไทยมีโครงข่ายที่ครอบคลุมอาเซียนได้ดีกว่าแต่ก่อน รวมถึงเส้นทางบินในประเทศ  ขณะเดียวกันเครื่องบินลำตัวกว้าง ก็จะนำไปเพิ่มความถี่ในเส้นทางบินยุโรป อย่างลอนดอน ได้เพิ่มขึ้น

วันนี้จะเห็นว่าการบินไทยจะเน้นการให้บริการเส้นทางบินในแบบโครงข่าย หรือเน็ตเวิร์คเพิ่มขึ้น ทำให้กรุงเทพฯเป็นทรานซิส ฮับ (ผู้โดยสารต่อเครื่อง)มากขึ้น จากในอดีตที่จะเป็นการบินแบบจุดต่อจุด หรือ พ้อยท์ทูพ้อยท์ ทั้งนี้ปัจจุบันการบินไทยให้บริการไปยัง 61 จุดหมายปลายทางทั่วโลก รวม 807 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

รวมไปถึงการบินไทย ยังเน้นการปรับเปลี่ยนฝูงบินให้มีความคล่องตัวสูงขึ้น โดยปัจจุบันการบินไทยมีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินทั้งสิ้น 77 ลำ มีแผนรับเพิ่มอีก 13 ลำ ภายในปี 2568 รวมเป็น 90 ลำ อาทิ โบอิ้ง 787-9 แอร์บัส เอ 330-300 ในจำนวนนี้จะเป็นเครื่องบินลำตัวกว้าง 70% และลำตัวแคบ 30% และในอีก 10 ปีข้างหน้า การบินไทยจะมีการขยายฝูงบินรวมเป็น 143 ลำ ซึ่งจะเป็นเครื่องบินลำตัวแคบราว 50 ลำ และเครื่องบินลำตัวกว้าง 90 ลำ

การมีสัดส่วนเครื่องบินลำตัวแคบที่กว้างขึ้น จะทำให้การบินไทยสามารถนำเครื่องบินลำตัวแคบ มาให้บริการในเส้นทางที่มีดีมานต์ผู้โดยสารน้อย ส่วนเครื่องบินลำตัวกว้างมาให้บริการในเส้นทางที่มีดีมานต์ผู้โดยสารมาก

การบินไทย

นอกจากนี้เรายังมองเห็นเทรนด์ตลาดท่องเที่ยวระยะใกล้ที่มาแรง สอดคล้องกับทิศทางการขยายตัวของเส้นทางบินในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ซึ่งสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ประเมินว่าในอีก 10 ปีนี้ ตลาดเอเชียแปซิฟิก จะเติบโตมาเป็นอันดับ 1 คาดว่าในปี 2586 จะมีการขยายตัวของผู้โดยสาร 2.1 เท่า ทำให้จำนวนผู้โดยสารในภูมิภาคนี้เติบโตและเราคาดหวังผลได้

ดังนั้นจากภูมิภาคเอเชียแปซิปฟิกจะเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูงมากในอนาคต การบินไทยต้องบริหารจัดการฝูงบินให้ยืดหยุ่น เพื่อให้สอดรับกับดีมานต์ตลาด ประกอบกับการขยายฝูงบินจะทำให้การบินไทยสามารถนำมาใช้เพิ่มความถี่ในเส้นทางบินที่มีศักยภาพ รวมถึงการเปิดเส้นทางบินใหม่ โดยเตรียมจะเปิดบินสู่บรัสเซล ในวันที่ 1 ธ.ค.นี้

นอกจากนี้ยังได้เตรียมเพิ่มความถี่สำหรับบินจีนด้วย แม้ว่าจีนจะดูฟื้นตัวช้ากว่าที่ควรจะเป็น แต่ว่าก็น่าจะมาในสิ้นปีนี้หรือปีหน้า ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนได้ขึ้นเป็นตลาดอันดับ 1 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาสูงสุดไปเรียบร้อยแล้ว

ขณะที่ตลาดอินเดียเป็นตลาดที่การบินไทยทำได้สอดคล้องกับนโยบายของการท่องเที่ยว โดยปัจจุบันได้เพิ่มเที่ยวบินเข้าอินเดีย เป็นสัปดาห์ละ 84 เที่ยวบิน และครอบคลุมเมืองหลัก ๆ แล้ว อาทิ เดลี มุมไบ บังคาลอร์ นอกจากนี้ยังมีแผนนำเครื่อง A320 ไปให้บริการในเส้นทางใหม่ ๆ ในช่วงกลางคืน อาทิ โคชิ อมฦตสาร์ เป็นต้น

การมีเครื่องบินเพิ่มขึ้นจะทำให้การบินไทยขยายความถี่ของเที่ยวบินเพิ่มอีก 113% หรือขยับเป็น 1,715 เที่ยวบินในปี 2571 การขยายเส้นทางบินและความถี่ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้การบินไทยสามารถรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวเข้าไทยได้เพิ่มขึ้นนั่นเอง

อีกทั้งการบินไทยยังมุ่งสื่อสารภายใต้กรอบ “Trust in THAI” เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าในเครือข่ายพันธมิตร และพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้โดยสาร รวมถึงการนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลที่ทันสมัย เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ และสร้างประสบการณ์การเดินทางที่ดีที่สุด เพื่อสร้างความประทับใจแก่ผู้โดยสาร

การบินไทยยังคงผลักดันการสร้างรายได้ พร้อมๆไปกับการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นฮับการบินของภูมิภาค ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้เพิ่มผู้โดยสารต่อเครื่อง (Passenger Transit) จากปัจจุบันที่มีประมาณ 1-2% ให้เป็น 15% ในอีก 5 ปีข้างหน้าอีกด้วย

หน้า 10 ฉบับที่ 4,024 วันที่ 5 - 7 กันยายน พ.ศ. 2567