ท่องเที่ยวครึ่งปีแรกฉลุย สายการบิน-โรงแรม ติดปีกขยายลงทุนรับครึ่งปีหลัง

23 ส.ค. 2567 | 05:19 น.

บิ๊กธุรกิจโรงแรม สายการบิน ในตลาดหลักทรัพย์ตีปีก ผลประกอบการครึ่งปีแรก ปี 2567 ส่วนใหญ่กำไรพุ่ง ส่วนที่ยังขาดทุนอยู่ ก็ขาดทุนลดลง สอดคล้องกับสถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่วนครึ่งปีหลัง ธุรกิจมีทิศทางบวก ต้นทุนลดจากเงินบาทแข็งค่า

บิ๊กธุรกิจท่องเที่ยวที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตีปีก จากผลประกอบการครึ่งแรก ปี 2567 พลิกฟื้นอย่างมีนัยยะสำคัญ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โรงแรม-สายการบิน ส่วนใหญ่กำไรพุ่ง ส่วนที่ยังขาดทุนอยู่ ก็ขาดทุนลดลง

สอดคล้องกับสถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ทั้งตลาดในประเทศเเละต่างประเทศ ขณะที่แนวโน้มครึ่งปีหลังมีทิศทางบวก ประกอบกับเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้น ตามแนวโน้มดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง

การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวที่เติบโตต่อเนื่อง ส่งผลให้ธุรกิจสายการบิน และโรงแรมรายใหญ่ ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต่างมีผลประกอบการในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 ขยับขึ้น จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะได้แรงหนุนจากมาตรการวีซ่าฟรี

ผลประกอบการธุรกิจสายการบิน โรงแรม ครึ่งปีแรก

ครึ่งปีแรก 3 สายการบินโกยกำไร

ในส่วนของธุรกิจสายการบินของไทย พบว่า 3 สายการบินที่ทำกำไร ได้แก่ การบินไทย นกแอร์ และบางกอกแอร์เวย์ส แม้ภาพรวมธุรกิจช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เทียบกับปีที่ผ่านมา จะพบว่ากำไรลดลงไปกว่า 1 หมื่นล้านบาท จาก 1.63 หมื่นล้านบาทในช่วงครึ่งแรกปี 2566 กำไรวูบมาอยู่ที่ 6,057 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

กำไรที่หดลง เป็นเพราะการทำกำไรของ “การบินไทย” วูบไปกว่า 81.5 % สะท้อนให้เห็นว่าในปีที่ผ่านมาการบินไทย มีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ค่อนข้างสูง

การบินไทย

แต่กำไรที่เกิดขึ้นในปีนี้ แสดงถึงศักยภาพในการดำเนินธุรกิจที่แท้จริง ซึ่งการบินไทย ก็ยังสามารถทำกำไรได้ แม้ว่าต้องเผชิญกับการอ่อนค่าของเงินบาท และการด้อยค่าเครื่องบินก็ตาม

แต่เมื่อดูเป็นรายสายการบิน จะพบว่า การบินไทย ยังมีกำไรเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 2,738 ล้านบาท และการบินไทยยังมองว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ มีแนวโน้มที่บาทจะแข็งค่าขึ้น และการด้อยค่าเครื่องบินก็ไม่มาก ทิศทางในช่วงครึ่งปีหลัง จะส่งผลดีธุรกิจ รวมทั้งการบินไทยยังเตรียมรับมอบเครื่องบิน แอร์บัส เอ 330-300 อีก 2 ลำ เพื่อนำมาหใบริการในเส้นทางอินเดีย และปากีสถาน และเตรียมเปิดเที่ยวบินสู่บรัสเซลส์ในช่วงปลายปีนี้ รวมถึงการปรับรูปแบบการขายตั๋ว ที่จะเน้นเป็นเน็ตเวิร์คมากขึ้น

อีกทั้งการบินไทยยังเตรียมจะยื่นไฟลิ่งขายหุ้นเพิ่มทุนในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งเป็นไปตามแผนการปรับโครงสร้างทุน ตามแผนฟื้นฟูกิจการภายในปีนี้ เพื่อที่จะยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ พร้อมกลับมาเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯได้ภายในไตรมาส 2 ปี 2568

ตามมาด้วย “บางกอกแอร์เวย์ส“ กำไร 2,585 ล้านบาท ซึ่งเติบโต 67.6 % เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจการบินและรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบิน ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน

บางกอกแอร์เวย์ส

ขณะที่ “นกแอร์” ก็พลิกจากขาดทุน 388 ล้านบาท มาทำกำไร 734 ล้านบาท โดยกำไรที่เกิดขึ้น เป็นเพราะการเพิ่มรายได้ จากการปรับค่าโดยสารให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด การขยายช่องทางสร้างรายในธุรกิจใหม่ อาทิ เลานจ์ของ NOK Air รวมถึงการบริหารสภาพคล่องทางการเงิน

ส่วน “ไทยแอร์เอเชีย” เป็นสายการบินเดียวที่ยังขาดทุนอยู่ โดยขาดทุนอยู่ที่ 325 ล้านบาท แต่ก็ขาดทุนลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเกือบ 50 % ซึ่งหลักๆเป็นการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่ในแง่ของการดำเนินธุรกิจในช่วงครึ่งปีแรก สายการบินมีกำไรจากการดำเนินงาน 1,950 ล้านบาท โดยมีรายได้อยู่ที่ 2.52 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 32%

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น กล่าวว่าในช่วงครึ่งหลังปี 2567 นี้ สายการบินยังคงเดินหน้าขยายเส้นทางบินต่อเนื่อง ทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงอินเดีย อย่าง เชนไน เเละโกลกาตา ซึ่งเป็นผลมาจากการที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ประสบความสำเร็จในการเจรจาขอขยายสิทธิการบินเพิ่มเติมกับทางประเทศอินเดีย

ทั้งนี้บริษัทยังคงเป้าหมายขนส่งผู้โดยสารตลอดปีอยู่ที่ 20-21 ล้านคน และเป้าหมายรายได้จากการขายและบริการเติบโต 20-23 % วางแผนมีฝูงบินเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 60 ลำ ณ สิ้นปี โดยได้ทยอยรับเครื่องบินเเอร์บัส A321neo ใหม่ ต่อเนื่องไปแล้วอีก 2 ลำ จำนวนที่นั่งเป็น 236 ที่นั่ง (เพิ่มขึ้น 56 ที่นั่ง จากเครื่องบินแอร์บัส A320 เดิมที่มี 180 ที่นั่ง) ช่วยประหยัดต้นทุน และเป็นมิตรต่อสิ่งเเวดล้อม

ธุรกิจโรงแรมเติบโตต่อเนื่อง

สำหรับธุรกิจโรงแรม ส่วนใหญ่ จะเห็นการเพิ่มขึ้นของกำไร ที่เติบโตต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  โดย “ไมเนอร์” เป็นกลุ่มโรงแรมที่ทำกำไรสูงสุด อยู่ที่ 3,969 ล้านบาท เติบโต 74 % ซึ่งเป็นการเติบโตของโรงแรมและธุรกิจอาหาร ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตามมาด้วย “AWC” ที่กำไร 2,851 ล้านบาท

โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา กำไร 922 ล้านบาท มีเพียงโรงแรมส่วนน้อยท่ี่ยังขาดทุนอยู่ แต่การขาดทุนก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งภาคธุรกิจโรงแรมต่างก็ล้วนเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับดีมานต์การเดินทางของนักท่องเที่ยว ที่เติบโตต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง

นายชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT เปิดเผยในงาน Opportunity Day ว่า บริษัทคงเป้าหมายการเติบโตเฉลี่ยของรายได้ช่วง 3 ปี (67-69) ที่ 8-10% และการเพิ่มอัตรากำไรอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะช่วยหนุนการเติบโตเฉลี่ยของผลกำไรช่วง 3 ปี (67-69) ที่ 15-20% รวมถึงวางเป้าหมายผลตอบแทนจากเงินลงทุน ไม่น้อยกว่า 10%

แนวโน้มผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลังจะเติบโตต่อเนื่อง หลังการท่องเที่ยวเติบโตได้ดี โดยเฉพาะการเปิดฟรีวีซ่า และการเพิ่มเที่ยวบินของสายการบินส่งผลให้ยอดจองห้องพักเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ธุรกิจอาหารมีแคมเปญ และ เมนูใหม่ๆ ที่น่าสนใจมากขึ้น พร้อมตั้งเป้าในปี 69 จะมีร้านอาหารมากกว่า 3,700 สาขา จากสิ้นปี 66 อยู่ที่ 2,645 สาขา และจะมีโรงแรมมากกว่า 780 แห่ง ในปี 69 จาก 532 แห่ง ในสิ้นปี 66 นายชัยพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

ครึ่งปีหลังททท.คาดต่างชาติเที่ยวไทย 18.2 ล้านคน

สำหรับทิศทางการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีหลัง มีแนวโน้มสดใส โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศ (ททท.)คาดว่าจะมีต่างชาติเที่ยวไทยอยู่ที่ 18.2 ล้านคนเพิ่มขึ้น 20% สร้างรายได้ 964,189 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20%

ทำให้ภาพรวมทั้งปีจะมีต่างชาติเที่ยวไทยไม่น้อยกว่า 35.8 ล้านคน ประกอบกับแนวโน้มจำนวนเที่ยวบินเข้าไทยในช่วงครึ่งปีหลัง อยู่ที่ 22 ล้านที่นั่ง ปรับตัวเพิ่มขึ้น 10% หรือคิดเป็น 80% ของจำนวนที่นั่งเข้าไทยก่อนเกิดโควิด-19 ธุรกิจท่องเที่ยวในช่วงที่เหลือของปีนี้จึงมีทิศทางที่ดีต่อเนื่องนั่นเอง