คาเวียร์ จัดว่าเป็นอาหารสุดหรูชั้นเลิศราคาแพง ซึ่งมาจากไข่ปลาสเตอร์เจียน จึงไม่แปลกที่การบินไทยจะเสิร์ฟเมนูนี้ในชั้นโดยสาร First Class แต่ที่น่าสนใจ คือ ที่มาของคาเวียร์ ทำไมต้องส่งตรงมาจาก ฟาร์มคาเวียร์จาเวรี ประเทศอิตาลี ดีดีการบินไทย ได้พาเราไปดูต้นกำเนิดกันถึงถิ่น
จากมิลาน ใช้เวลาเดินทางราว 286 กิโลเมตร ก็จะถึงฟาร์มคาเวียร์จาเวรี (Caviar Giaveri Farm) ผู้ผลิตคาเวียร์ชั้นนำระดับโลก ซึ่งการบินไทยคัดสรรคาเวียร์จากที่นี่ มาให้บริการในชั้นโดยสาร First Class โดยฟาร์มคาเวียร์จาเวรี เริ่มต้นดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1980 นับเป็นเวลากว่า 44 ปีแล้ว
จากจุดเริ่มต้นด้วยความหลงใหลในการทำฟาร์มปลาสเตอร์เจียน และการผลิตคาเวียร์แบบเปอร์เซียโบราณ และรักษาคุณภาพ ตั้งแต่การดูแลฟูมฟักปลาให้เติบโตแบบมีความสุข ท่ามกลางแหล่งน้ำแร่บริสุทธิ์กว่า 12 จุดรอบพื้นที่ เพื่อให้ได้คาเวียร์ที่มีคุณภาพ
ปลาสเตอร์เจียนของฟาร์มคาเวียร์จาเวรี มีกว่า 1,000 ตัว และเป็นฟาร์มเพียงรายเดียว จากผู้ผลิตคาเวียร์ ของอิตาลี จำนวน 4 ราย ที่มีฟาร์มเลี้ยงปลาสเตเจียนเอง โดยมีการควบคุมการเลี้ยงด้วยน้ำแร่ อาหาร ซึ่งเป็นบริษัทแรกในยุโรปที่มีอุปกรณ์การให้อาหารปลาที่ทันสมัย
นาย Maurizio Barcella แบรนด์แอมบาสซาเดอร์ฟาร์มคาเวียร์จาเวรี กล่าวว่า ปลาสเตอร์เจียน ในฟาร์มของที่นี่มีทั้งหมด 12 สายพันธุ์ อาทิ ปลาสเตอร์เจียนขาว (Huso Huso) คาเวียร์เบลูกา, ปลาสเตอร์เจียนอิหร่าน (Persicus) คาเวียร์โอเซียตรา และปลาสเตอร์เจียนดาว (Stellatus) คาเวียร์เซฟรูกา รวมทั้งปลาสเตอร์เจียนไซบีเรีย (Acipenser Baeri) ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากประเทศรัสเซีย ก็มีอยู่ในแม่น้ำบางสายในประเทศอิตาลีด้วย
ไข่ปลาที่ผลิตขึ้นที่นี่ เป็นคาเวียร์แท้ เพราะเราดูแลตั้งแต่ปลาเกิด หรือการนำเข้าลูกปลาสเตอร์เจียนขนาดเล็กจากรัสเซีย จนกระทั่งคาเวียร์ พร้อมเสิร์ฟที่โต๊ะอาหาร ตลอดวงจรชีวิต ปลาสเตอร์เจียนแต่ละตัวได้รับการดูแลเป็นอย่างดี
รวมทั้งปฏิบัติตามกฏในด้านสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อม ความใส่ใจในการเลี้ยงดูปลา ส่วนการจะเก็บไข่ปลาจะดำเนินการหลังการเลี้ยงดูราว 8-9 ปี บางสายพันธุ์ก็ไปถึง 24 ปี
เวลาเก็บไข่ปลาสเตอร์เจียน จะคัดไข่ที่สมบูรณ์ที่สุดออกมา อย่างใน 100 กิโลกรัม คัดออกได้แค่ 8% จากนั้นการบรรจุคาเวียร์ ก็เป็นไปอย่างพิถีพิถัน มีการนำเกลือจากเมืองปอร์โตรอซ ประเทศสโลวีเนียเข้ามาเป็นส่วนผสม
เพราะมีคุณภาพไม่เค็มจนเกินไป และเก็บในอุณหภูมิลบ10 องศา เพื่อให้ได้รสชาติที่กลมกล่อมและเกลือจากเมืองปอร์โตรอซ ประเทศสโลวีเนีย เพราะมีคุณภาพไม่เค็มจนเกินไป ซึ่งคาเวียร์ที่นี่มีกว่า 10 ชนิด นาย Barcella กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับคาเวียร์ที่ทางฟาร์มผลิตให้การบินไทย จะเป็น OSIETRA คาเวียร์ ซึ่งวันนี้เรามีโอกาสได้เทสต์คาเวียร์ 3 ชนิด อย่าง BELUGA คาเวียร์ ที่จัดว่าแพงที่สุด เป็นไข่ปลาจากปลาสเตอร์เจียนเบลูก้า ใช้เวลาเลี้ยงนานกว่า 24 ปี, SIBERIAN คาเวียร์, OSIETRA คาเวียร์
การเทสต์คาเวียร์ที่ดีที่สุด คือ การตัดไข่ปลาวางบนข้อมือแล้วชิม แทนที่จะทานจากช้อน หรือทาบนขนมปัง เพื่อให้เราได้รสชาติเพียวๆของคาเวียร์ จากอุณหภูมิในร่างกาย ชิมแล้วกลิ่นคาเวียร์ไม่คาว รู้สึกถึงกลิ่นทะเลสดชื่น รสสัมผัสคือเนียนนุ่ม
ชิมแล้วเราก็รู้สึกว่า OSIETRA คาเวียร์ ที่การบินไทยเลือกทานแล้วให้รสสัมผัสนุ่มนวล กลมกล่อม ทานได้ง่ายกว่า ผู้โดยสารชั้น First Class ทุกเส้นทางของการบินไทย จะมีการเสริฟ์คาเวียร์ ในรูปแบบตลับสุดพรีเมี่ยม น้ำหนัก 20 กรัม ซึ่งได้คัดสรรจากฟาร์มคาเวียร์จาเวรี ทานกันในแบบเต็มปากเต็มคำ ส่วนชั้นบิสิเนส มีการเสิร์ฟในแบบท็อปปิ้งเล็กๆน้อยๆมาพร้อมอาหาร
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ฟาร์ม ที่นี่มีกำลังการผลิต 14,000 กิโลกรัมต่อปี โดยส่งให้การบินไทยจำนวน 400 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งการที่เราเลือกคาเวียร์ที่นี่มาเสิร์ฟในชั้นเฟิร์สคลาส เพราะด้วยคุณภาพของฟาร์มที่เราทดสอบแล้ว ด้วยพิถีพิถันในการผลิต มั่นใจว่าจะสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าการบินไทย
อีกทั้งคาเวียร์สายพันธ์ที่เราเลือกเป็นตัวที่ไฮคลาสหน่อย รสชาติไม่รุนแรงจนเกินไป หลายชนชาติสามารถที่จะลิ้มลองได้ รสชาติกลางๆ แต่บางสายพันธ์ต้องเป็นคอคาเวียร์จริงๆถึงจะชอบ ซึ่งกว่าจะได้คาเวียร์ 1 กระป๋องต้องเลี้ยงปลาสเตอร์เจียนอย่างน้อย 8-10 ปี และบางสายพันธุ์ ก็มากถึง 25 ปีกว่าจะได้ไข่ปลามาเพื่อบริโภค ทำให้คาเวียร์จึงเป็นอาหารที่เลอค่า
นอกจากคาเวียร์แล้ว การบินไทยยังเสิร์ฟไวน์ “อมาโรเน่” ไวน์แดงชั้นเลิศของอิตาลี มาเสริมในชั้นเฟิร์สคลาสด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นไวน์จาก Amarone Winery แหล่งปลูกองุ่น แบบไล่ระดับ มีแม่น้ำไหลผ่าน การปลูกองุ่นที่นี่จึงผลิตไวน์ชั้นดีอีกด้วย