แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภายหลังที่ประชุมมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2567 เห็นชอบหลักการการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โดยปรับปรุงสัญญาร่วมลงทุนเพื่อผลักดันให้โครงการฯ สามารถเดินหน้าต่อไปได้ บนพื้นฐานที่ภาครัฐไม่เสียประโยชน์และภาคเอกชนไม่ได้ประโยชน์เกินสมควรนั้น
“ขณะนี้ยังไม่ได้รับแจ้งว่าจะมีการเสนอหลักการแก้ไขสัญญาไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา แต่คาดว่าครม.จะพิจารณาหลักการแก้ไขสัญญาโครงการฯ ได้ภายวันนี้ (29 ต.ค.67) หรือภายในสัปดาห์หน้า แต่ไม่เกินในเดือนพ.ย.นี้ โดยตั้งเป้าหมายว่าจะลงนามแก้ไขสัญญาร่วมกับเอกชนได้ภายในปี 67” แหล่งข่าวจากสกพอ. กล่าว
แหล่งข่าวจากสกพอ. ระบุอีกว่า หากครม.เห็นชอบหลักการแก้ไขสัญญาแล้วตามกระบวนการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และเอกชนคู่สัญญาจะต้องเจรจาเกี่ยวกับข้อความในหลักการของสัญญาว่าจะเขียนอย่างไร
หลังจากนั้นจะเสนอต่ออัยการสูงสุดตรวจสอบร่างสัญญาฯ ก่อนนำมาเสนอต่อคณะกรรมการอีอีซี และเสนอเข้าครม.อีกครั้งเพื่อขออนุมัติลงนามแก้ไขสัญญาฯต่อไป
สำหรับการเสนอการแก้ไขสัญญาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ประกอบด้วย วิธีชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุน (PIC) เมื่อเอกชนเปิดเดินรถ รัฐจะจ่ายเป็นงวดตามความก้าวหน้าของงานที่ รฟท. ตรวจรับ วงเงินไม่เกิน 120,000 ล้านบาท
นอกจากนี้เอกชนต้องวางหลักประกันเพิ่มเติมจากสัญญาเดิม รวมเป็นจำนวน 160,000 ล้านบาท เพื่อรับประกันว่าจะก่อสร้างและเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงฯ ได้ภายใน 5 ปี
ด้านการกำหนดชำระค่าสิทธิให้ร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) โดยให้เอกชนแบ่ง ชำระค่าสิทธิจำนวน 10,671.09 ล้านบาท เป็น 7 งวด เป็นรายปี จำนวนเท่า ๆ กัน โดยชำระงวดแรก ณ วันที่ลงนามแก้ไขสัญญา
ในการนี้ เอกชนจะต้องวางหนังสือค้ำประกันที่ออกโดยธนาคาร ในมูลค่าเท่ากับค่าสิทธิ ARL รวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเงินอื่นที่ รฟท. ต้องรับภาระ
ด้านการกำหนดส่วนแบ่งผลประโยชน์ตอบแทน (Revenue Sharing) เพิ่มเติม หากในอนาคตอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของโครงการฯ ลดลงอย่างมีนัยสําคัญ และเป็นผลให้เอกชนได้ผลประโยชน์ตอบแทน (IRR) เพิ่มขึ้นเกิน 5.52% รฟท.มีสิทธิเรียกให้เอกชนชําระส่วนแบ่งผลประโยชน์เพิ่มได้ ตามจำนวนที่จะตกลงกันต่อไป
ขณะที่การยกเว้นเงื่อนไขการออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) โดยให้คู่สัญญาจัดทำบันทึกข้อตกลงยกเว้นเงื่อนไข NTP ที่ยังไม่สำเร็จ เพื่อให้ รฟท. สามารถออก NTP ได้ทันที เมื่อลงนามสัญญาที่แก้ไขตามหลักการทั้งหมด
ส่วนการป้องกันปัญหาในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ โดยปรับปรุงข้อสัญญาในส่วนของเหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผัน ให้สอดคล้องกับสัญญาร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในโครงการอื่น