KEY
POINTS
โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)หนึ่ง ในโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของภาครัฐ
นอกจากนี้โครงการดังกล่าวจะช่วยให้การเดินทางและขนส่งระหว่างจังหวัดในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รวมถึงจังหวัดหรือภูมิภาคอื่นๆที่เกี่ยวข้อง สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น สามารถลดระยะเวลาและต้นทุนในการเดินทางไม่เกิน 1 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับการเดินทางรูปแบบอื่น
ที่ผ่านมาโครงการ “ไฮสปีด 3 สนามบิน” ระยะทางรวม 220 กิโลเมตร (กม.) มูลค่า 224,544 ล้านบาท มีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัท เอเชียเอราวัน จำกัด (กลุ่มซีพี) เป็นคู่สัญญาผู้รับสัมปทาน 50 ปี ซึ่ง รฟท. ได้ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562
ขณะเดียวกันเอกชนคู่สัญญาจะดำเนินการพัฒนาโครงการเกี่ยวกับรถไฟ และพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ตั้งแต่วันที่เริ่มต้นนับระยะเวลาของโครงการฯ ตามที่ระบุในหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP)
ปัจจุบันโครงการยังคงมีความล่าช้ากว่า 2 ปี และยังไม่เริ่มดำเนินการก่อสร้าง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้การให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิ หยุดชะงักชั่วคราว
จากการสั่งซื้อและจัดส่งอุปกรณ์บางรายการ รวมทั้งปัญหาที่ซีพียังไม่ชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนในแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ให้แก่ รฟท. อันเนื่องมาจากซีพีประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินและปัญหาการจัดหาแหล่งเงินทุน
ไม่เพียงเท่านั้นซีพีให้เหตุผลอีกว่า จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงการดำเนินการขอรับบัตรส่งเสริมการลงทุนสำหรับโครงการเกี่ยวกับรถไฟยังไม่แล้วเสร็จ ตลอดจนปัญหาโครงสร้างโยธาทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดไทย-จีน) สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง
จนนำมาสู่การขอให้ภาครัฐพิจารณาการแก้ไขสัญญาโครงการฯดังกล่าว
ขณะเดียวกันจากการประชุมมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2567 โดยมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน
ทั้งนี้ที่ประชุมเห็นชอบหลักการการแก้ไขปัญหาไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน โดยปรับปรุงสัญญาร่วมลงทุนเพื่อผลักดันให้โครงการฯ สามารถเดินหน้าต่อไปได้ บนพื้นฐานที่ภาครัฐไม่เสียประโยชน์และภาคเอกชนไม่ได้ประโยชน์เกินสมควร
สำหรับการเสนอการแก้ไขสัญญาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ประกอบด้วย วิธีชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุน (PIC) เมื่อเอกชนเปิดเดินรถ รัฐจะจ่ายเป็นงวดตามความก้าวหน้าของงานที่ รฟท. ตรวจรับ วงเงินไม่เกิน 120,000 ล้านบาท
นอกจากนี้เอกชนต้องวางหลักประกันเพิ่มเติมจากสัญญาเดิม รวมเป็นจำนวน 160,000 ล้านบาท เพื่อรับประกันว่าจะก่อสร้างและเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงฯ ได้ภายใน 5 ปี
ด้านการกำหนดชำระค่าสิทธิให้ร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) โดยให้เอกชนแบ่ง ชำระค่าสิทธิจำนวน 10,671.09 ล้านบาท เป็น 7 งวด เป็นรายปี จำนวนเท่า ๆ กัน โดยชำระงวดแรก ณ วันที่ลงนามแก้ไขสัญญา
ในการนี้ เอกชนจะต้องวางหนังสือค้ำประกันที่ออกโดยธนาคาร ในมูลค่าเท่ากับค่าสิทธิ ARL รวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเงินอื่นที่ รฟท. ต้องรับภาระ
ส่วนการกำหนดส่วนแบ่งผลประโยชน์ตอบแทน (Revenue Sharing) เพิ่มเติม หากในอนาคตอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของโครงการฯ ลดลงอย่างมีนัยสําคัญ และเป็นผลให้เอกชนได้ผลประโยชน์ตอบแทน (IRR) เพิ่มขึ้นเกิน 5.52% รฟท.มีสิทธิเรียกให้เอกชนชําระส่วนแบ่งผลประโยชน์เพิ่มได้ ตามจำนวนที่จะตกลงกันต่อไป
ขณะที่การยกเว้นเงื่อนไขการออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) โดยให้คู่สัญญาจัดทำบันทึกข้อตกลงยกเว้นเงื่อนไข NTP ที่ยังไม่สำเร็จ เพื่อให้ รฟท. สามารถออก NTP ได้ทันที เมื่อลงนามสัญญาที่แก้ไขตามหลักการทั้งหมด
ส่วนการป้องกันปัญหาในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ โดยปรับปรุงข้อสัญญาในส่วนของเหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผัน ให้สอดคล้องกับสัญญาร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในโครงการอื่น
ล่าสุดแหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภายหลังคณะกรรมการกพอ.มีมติอนุมัติหลักการแก้ไขสัญญาไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน แล้ว ตามกระบวนจะเสนอต่อ ครม.พิจารณาเห็นชอบในหลักการภายในเดือนตุลาคมนี้
หลังจากนั้นคู่สัญญาร่วมกันต้องเจรจาร่างสัญญาแก้ไข ซึ่งจะต้องเสนอคณะกรรมการรฟท.เห็นชอบและเสนอต่อให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา จะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน ก่อนเสนอต่อ กพอ. และ ครม.เห็นชอบการแก้ไขสัญญาอีกครั้ง คาดว่าจะลงนามแก้ไขสัญญาภายในปี 2567
นอกจากนี้แหล่งข่าวรฟท.ยืนยันอีกว่าในการส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา ของรฟท.
ปัจจุบันมีความพร้อมส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนครบ 100% ส่วนปัญหาโครงสร้างโยธาทับซ้อนกับโครงการไฮสปีดไทย-จีน สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ทางเอกชนยืนยันเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างเอง
จากการประชุมกพอ.ล่าสุดถือเป็นสัญญาณบวกที่ดีที่ซีพีและรฟท.มีความพร้อมที่จะเดินหน้าลงนามแก้ไขสัญญาได้โดยเร็ว
หลังจากการเจรจาทั้ง 2 ฝ่ายได้ข้อยุติแล้ว มีแนวโน้มที่ซีพีจะเดินหน้าก่อสร้างได้ทันทีเพื่อทันต่อการเปิดให้บริการในปี 2572
เมกะโปรเจ็กต์ หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,039 วันที่ 27 - 30 ตุลาคม พ.ศ. 2567