ชงแก้สัญญา “ไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน” เข้าครม. ปลายต.ค.นี้

15 ต.ค. 2567 | 11:07 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ต.ค. 2567 | 11:16 น.
611

รองนายกฯ “พิชัย ชุณหวชิร” แย้มแก้ไขสัญญา ไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน คาด 2 สัปดาห์ เสนอเข้า ครม. ไฟเขียวแก้ 5 ประเด็นใหญ่ หลังผ่านเรื่องบอร์ดอีอีซี เรียบร้อย

วันนี้ (15 ตุลาคม 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มูลค่า 2.24 แสนล้านบาท ได้ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมกพอ. เกี่ยวกับการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนแล้ว คาดว่า ภายใน 2 สัปดาห์นี้จะเสนอเข้ามายังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ 

“ไทม์ไลน์ขณะนี้ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูก่อน ซึ่งปกติ จะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์บวกลบ จึงจะสามารถนำเข้าสู่ที่ประชุมครม.ได้ โดยยังไม่ขอเปิดเผยในรายละเอียด ขอเวียนดูความเห็นของแต่ละกระทรวงก่อน” นายพิชัย ระบุ

ก่อนหน้านี้ บอร์ดกพอ. ได้มีมติเห็นชอบหลักการในการปรับปรุงสัญญาร่วมลงทุน เพื่อผลักดันให้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งเป็นโครงการสำคัญในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) บนพื้นฐานที่ภาครัฐไม่เสียประโยชน์ และภาคเอกชนไม่ได้ประโยชน์เกินสมควร โดยจะเสนอการแก้ไขสัญญาต่อ ครม. เพื่อพิจารณาใน 5 ประเด็น ดังนี้

1. วิธีชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุน (Public Investment Cost : PIC) : จากเดิม เมื่อเอกชนเปิดเดินรถไฟความเร็วสูงฯ รัฐจะแบ่งจ่ายเป็นจำนวน 149,650 ล้านบาท เป็น จ่ายเป็นงวดตามความก้าวหน้าของงานที่ รฟท. ตรวจรับ วงเงินไม่เกิน 120,000 ล้านบาท 

โดยเอกชนต้องวางหลักประกันเพิ่มเติมจากสัญญาเดิม รวมเป็นจำนวน 160,000 ล้านบาท เพื่อรับประกันว่าจะก่อสร้างและเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงฯ ได้ภายใน 5 ปี ทั้งนี้ กรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างจะทยอยตกเป็นของภาครัฐ (รฟท.) ทันทีตามงวดของการจ่ายเงิน 

2. กำหนดการชำระค่าสิทธิให้ร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) : โดยให้เอกชนแบ่งชำระค่าสิทธิจำนวน 10,671.09 ล้านบาท เป็น 7 งวด เป็นรายปี จำนวนเท่า ๆ กัน โดยต้องชำระงวดแรก ณ วันที่ลงนามแก้ไขสัญญา ในการนี้ เอกชนจะต้องวางหนังสือค้ำประกันที่ออกโดยธนาคาร ในมูลค่าเท่ากับค่าสิทธิ ARL รวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเงินอื่นที่ รฟท. ต้องรับภาระ

3. กำหนดส่วนแบ่งผลประโยชน์ตอบแทน (Revenue Sharing) เพิ่มเติม : หากในอนาคตอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของโครงการฯ ลดลงอย่างมีนัยสําคัญ และเป็นผลให้เอกชนได้ผลประโยชน์ตอบแทน (IRR) เพิ่มขึ้นเกิน 5.52% รฟท.มีสิทธิเรียกให้เอกชนชําระส่วนแบ่งผลประโยชน์เพิ่มได้ ตามจำนวนที่จะตกลงกันต่อไป

4. การยกเว้นเงื่อนไขการออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) : โดยให้คู่สัญญาจัดทำบันทึกข้อตกลงยกเว้นเงื่อนไข NTP ที่ยังไม่สำเร็จ เพื่อให้ รฟท. สามารถออก NTP ได้ทันทีเมื่อลงนามสัญญาที่แก้ไขตามหลักการทั้งหมด

5. การป้องกันปัญหาในอนาคตที่อาจเกิดขึ้น : จากเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ โดยปรับปรุงข้อสัญญาในส่วนของเหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผัน ให้สอดคล้องกับสัญญาร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในโครงการอื่น